-- advertisement --

กอปศ.ปักธงเมษานี้เห็นโฉม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

กอปศ.ปักธงเมษานี้เห็นโฉม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เปิดรับฟังเพิ่มเติม 5 ประเด็น มีปรับโครงสร้างอาจกระทบบุคลากรบ้าง

ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยผลการประชุม กอปศ. ว่าที่ประชุมได้หารือถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยเห็นตรงกันว่าร่าง พ.ร.บ.ที่จัดทำขึ้น จะไม่ลงลึกรายละเอียดในการปฏิบัติ แต่จะนำประเด็นที่ต้องใช้มาไว้ในกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมาย ส่วนรายละเอียดในเรื่องที่จะดำเนินการสามารถเติมได้ในภายหลัง ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วเสร็จ หรืออย่างน้อยเห็นข้อสรุปที่ชัดเจนภายในเดือน เม.ย.2561 และจะพยายามให้เสร็จเป็นกฎหมายภายในรัฐบาลชุดนี้

“พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ส่วนจะเป็นการยกร่างกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ หรือนำของเดิมมาปรับปรุงนั้นจะต้องพิจารณาก่อน อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ใช้มากว่า 19 ปีแล้ว ซึ่งบางส่วนก็มีของดีอยู่ยังใช้ได้ ก็อาจจะนำมาปรับปรุง ขณะเดียวกันปัจจุบันก็มีความคาดหวังของสังคม มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและมีความจำเป็นที่แตกต่างไปจากเดิม

ทั้งนี้ การจัดทำกฎหมายจะมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่อยากได้ในการจัดการศึกษาของประเทศ คือ การจัดการศึกษาในลักษณะใหม่ ไม่ใช่มุ่งไปที่การปรับโครงสร้าง ส่วนจะกระทบกับโครงสร้างอย่างไรนั้น ก็เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปรับการจัดการศึกษาใหม่ และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามอาจจะกระทบบุคลากรบ้าง แต่ก็ไม่ให้เลวร้ายไปกว่าเดิม”ศ.นพ.จรัส กล่าว

ด้าน รศ.นพ.จิรุฒน์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการอิสระ ในฐานะประธานอนุกรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้กำหนดกรอบแนวคิดและหลักการที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม 5 ประเด็น ได้แก่ 1.สถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานของการจัดระบบการศึกษา ที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาประเทศและสังคมโลก โดยอาจจัดเป็นการศึกษาตามระบบ ที่หมายถึงการศึกษาในโรงเรียน นอกโรงเรียน และการศึกษาทางเลือก ซึ่งการศึกษาทางเลือกเป็นแนวทางที่สำคัญมากที่จะเปิดให้เกิดนวัตกรรมและความหลากหลายทางการศึกษาในอนาคต

2.การศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต ที่ต่อยอดสมรรรถนะของประชาชนในวัยต่างๆรองรับการจ้างงานต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้เรียนไม่ต้องเข้ามาศึกษาในระบบโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย 3.การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้จะมองหาระบบกลไก แนวทางและมาตรการต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้การศึกษาตามอัธยาศัยเกิดเป็นรูปธรรม และเอื้ออำนวยให้เกิดประสิทธิผลต่อการเรียนรู้ของประชาชน

4.ระดับการศึกษา จากเดิมการศึกษาขั้นพื้นฐานเริ่มตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.6 และการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่มีทั้งสายสามัญและสายอาชีพ แต่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มุ่งเน้นเรื่องเด็กมาก ดังนั้น จะมีการบรรจุการศึกษาระดับก่อนวัยเรียนไว้ด้วย เพื่อให้ส่งผลต่อการจัดการในภาพใหญ่ของประเทศ รวมถึงการจัดการศึกษาสายวิชาชีพตอนต้น เพื่อให้เชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาประเทศ ซึ่งหัวใจสำคัญคือจะมีการกลไกหรือระบบที่สามารถเทียบเคียงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จากรูปแบบการศึกษาที่แตกต่างกันได้

และ 5.มีความจำเป็นที่ต้องทำความชัดเจน ในเรื่องนโยบาย การกำกับดูแล หน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการศึกษา และหน่วยงานที่สนับสนุน เป็นต้น ทั้งนี้ กอปศ.จะนำประเด็นต่างๆ เหล่านี้ประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 3 ก.พ.นี้ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

-- advertisement --