-- advertisement --

สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด และการเมืองก็คือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด นี่เป็นสัจธรรมและเป็นวาทกรรมอมตะของประธานเหมา เจ๋อตุง อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน

การปฏิวัติสีก็คือปฏิบัติการของประเทศนักล่าอาณานิคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองและโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของประเทศอื่นจึงเป็นเรื่องของการเมือง จึงเป็นสงครามที่ไม่หลั่งเลือด

แต่ในท่ามกลางการดำเนินสงครามนั้นก็ย่อมมีเหตุการณ์ที่รุนแรงและอาจต้องหลั่งเลือด ในกรณีเช่นนี้การเมืองที่ไม่หลั่งเลือดก็จะยกระดับเป็นการเมืองที่หลั่งเลือด แม้ระดับของการหลั่งเลือดอาจจะไม่เท่ากับการกระทำสงครามด้วยกำลังอาวุธ ดังนั้น การปฏิวัติสีจึงนอกจากเป็นการเมืองที่ไม่หลั่งเลือดแล้ว อาจพัฒนายกระดับเป็นการเมืองที่หลั่งเลือดและนั่นก็คือสงครามชนิดหนึ่ง

สงครามนั้นไม่ได้มีเพียงชนิดเดียวที่ใช้อาวุธประหัตประหารกัน ปราชญ์ย่อมจำแนกแยกแยะชนิดต่างๆ ของสงครามได้มากมาย เช่น สงครามที่เป็นธรรม สงครามที่ไม่เป็น

ธรรม สงครามรุกราน สงครามต่อต้านการรุกราน สงครามยืดเยื้อ สงครามแตกหัก สงครามจรยุทธ์ สงครามกลางเมือง เหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้นผู้รับผิดชอบในการดูแลปกปักรักษาบ้านเมืองจึงนอกจากต้องสันทัดในการศึกษาทำความเข้าใจถึงประเภทต่างๆ ของสงคราม ยังจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงเรื่องการเมืองและการแปรเปลี่ยนจากสงครามเป็นการเมือง จากการเมืองเป็นสงคราม และเป็นสงครามกึ่งการเมือง มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่สามารถชี้นำสงครามได้

เมื่อไม่สามารถชี้นำสงครามได้ ต่อให้มีพละกำลังมากน้อยเท่าใดก็เหมือนฝุ่นละอองบนผืนแผ่นดินที่มีแต่จะถูกเหยียบย่ำทำลายหาความหมายใดๆ ในการใช้พลังอำนาจของแผ่นดินไม่ว่าในการปกปักรักษาบ้านเมือง หรือในการป้องปราม หรือในการตีโต้ หรือในการกำราบปราบปรามอริราชศัตรู

ประเทศไทยในทุกวันนี้ตกเป็นเป้าหมายของการปฏิวัติสีมานานแล้ว มีการเตรียมการต่างๆ ในการปฏิวัติสีอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ยกระดับจากไม่มีสู่มี จากเล็กสู่ใหญ่ จากอ่อนสู่แข็ง และมีพื้นที่เคลื่อนไหวกว้างขวางยิ่งกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์ กระทั่งบังอาจแสดงตนโดยเปิดเผยหลายครั้งหลายหน

ไม่ต้องพูดถึงการใช้อำนาจและใช้การข่มขู่กดดันบังคับให้จำยอมต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องมากมายหลายประการ ซึ่งล้วนแต่ทำให้บ้านเมืองของเราเสียหายเสียเปรียบ เกิดความเดือดร้อนทุกข์เข็ญแก่อาณาประชาราษฎรทั้งแผ่นดิน ทำให้บ้านเมืองวิปริตไปในแทบทุกเรื่องราว

กระทั่งความดีเสื่อมสูญ ความชั่วถูกยกย่องเชิดชู เป่าหูคนทั้งหลายว่าเป็นความดีความงาม ซึ่งเป็นเชื้ออันอุดมให้แก่ความแตกแยกแตกสามัคคีภายในชาติ นั่นก็คือการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติอย่างซึมลึกนั่นเอง

เดชะบุญแห่งพระราชอาณาจักรนี้ที่อดีตพระมหากษัตริย์ของเราทรงมีพระญาณทัศนะและพระวีระปรีชาทัศน์ ทรงเห็นการณ์ข้างหน้าแจ่มแจ้ง จึงทรงสร้างตราแผ่นดินพร้อมบทพระคาถากำกับตราแผ่นดินไว้เป็นคติเตือนใจไทยทั้งผอง โดยเฉพาะบรรดาทหารหาญทั้งหลายของชาติเพื่อให้น้อมใส่เกล้าไว้กำกับใจในการปฏิบัติหน้าที่ และในการดำรงราชวัตรสนองราชกิจให้เป็นไปตามภาระหน้าที่ของชายชาติทหาร

ตราแผ่นดินนั้นมีบทพระคาถากำกับว่า “สัพเพสัง สังฆภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา” ซึ่งแปลโดยความหมายว่าการใหญ่ของแผ่นดินคือการดำรงคงอยู่ของประเทศชาติและประชาชนจักสำเร็จได้ด้วยความสามัคคีของชนในชาติทั้งหลาย

เมื่อครั้งที่โรงเรียนพระจุลจอมเกล้ายังอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ทุกเช้าเย็นที่นักเรียนเดินแถวไปเรียนหนังสือก็จะเห็นตราแผ่นดินและพระคาถากำกับตราแผ่นดินนี้ให้น้อมนำรำลึกไว้ในใจอย่างมั่นคง และนั่นก็หมายความว่าเกราะแก้วเกราะเพชรที่คุ้มครองป้องกันความปลอดภัยของชาติบ้านเมืองได้ซึมซ่านอยู่ในความคิดจิตใจของเหล่าทหารทั้งหลาย จึงทำให้บ้านเมืองของเราปลอดภัยมาถึงวันนี้

เพราะการปฏิวัติสีเป็นสงครามชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นสงครามก็ย่อมมีกระบวนรบที่แน่นอนหนึ่งๆ ของสงครามแต่ละชนิด การปฏิวัติสีก็มีกระบวนรบที่แน่นอน และเพราะเหตุที่เกิดการปฏิวัติสีมาแล้วนานปี บรรดานักคิดการสงครามทั้งหลายจึงสามารถประมวลกระบวนรบของการปฏิวัติสีได้เป็นห้ากระบวนดังนี้

กระบวนที่หนึ่ง ประเทศนักล่าอาณานิคมและพรรคพวกที่เป็นประหนึ่งกลุ่มโจรต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้กำหนดการปฏิวัติสีว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศใด เมื่อใด ระดับและแบบแผนใด

กระบวนที่สอง คือสื่อมวลชนจัดตั้งของประเทศนักล่าอาณานิคม ซึ่งมีสำนักข่าวใหญ่ระดับโลก 5 สำนัก ที่คอยปั่นกระแสในทุกเรื่องราว และเป็นปัญหาใหญ่หลวงอยู่ในโลกปัจจุบัน

กระบวนที่สาม คือ “ผู้สื่อข่าว” ซึ่งมีทั้งผู้สื่อข่าวอาชีพ กองกำลังอาสาสมัคร หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เพื่อทำหน้าที่กระพือโหมข่าวคราวการปฏิวัติสี เพื่อชักชวนผู้คนให้เข้าร่วมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กระบวนที่สี่ คือองค์กรมวลชน รวมทั้งแกนนำมวลชนที่นักล่าอาณานิคมได้จัดตั้งไว้ในประเทศเป้าหมายในรูปขององค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรสิทธิเสรีภาพ องค์กรประชาธิปไตยในหลากหลายชื่อ และกระบวนนี้อาจรวมถึงพวกอาสาสมัครที่เคยเป็นทหารผ่านศึกหรือผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงแอบแฝงอยู่ด้วยในรูปของนักวิชาการและแพทย์ พยาบาล มวลชน

กระบวนที่ห้า คือแนวร่วมในประเทศเป้าหมาย ซึ่งจัดตั้งไว้ในรูปแบบต่างๆ

ส่วนมวลชนนั้นก็คือเหยื่อ

เหล่านี้คือห้ากระบวนรบที่ผู้สนใจศึกษาทำความเข้าใจการปฏิวัติสีจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจกลไกทั้งหลายตลอดจนการขับเคลื่อนกระบวนเหล่านี้

-- advertisement --