-- advertisement --

เมื่อเร็วๆนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 8 สั่งจำคุก 192 ปี 6 เดือน อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าใหม่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ฐานฮุบเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก

ศาลชี้ใช้อำนาจหาผลประโยชน์ กระทบพัฒนาการเด็ก พฤติการณ์ร้ายแรงไม่รอการลงโทษ

ระบุว่า การกระทำของจำเลยในแต่ละกระทงความผิด แม้คิดคำนวณได้เป็นตัวเงินไม่มากนัก แต่จำเลยได้กระทำผิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ทั้งจำเลยเป็นผู้บริหารโรงเรียนแต่กลับอาศัยอำนาจหน้าที่เบียดบังเอาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้ทำให้เด็กนักเรียนในปกครองไม่ได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ และจำนวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาการทางร่างกาย และย่อมส่งผลเสียในระยะยาว พฤติการณ์แห่งคดีจึงร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ

เนื่องจากการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป รวม 77 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 385 ปี

แต่จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 192 ปี 6 เดือน

เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)

นั่นคือกรณีจัดให้เด็กกินอาหารกลางวันที่มีแต่เส้นขนมจีนเปล่าคลุกกับน้ำปลา ไม่มีอาหารอื่นใด

เรื่องอาหารกลางวันเด็ก เป็นเรื่องสำคัญมาก

ใครทำอะไรระยำไว้ ก็ควรได้รับผลกรรมตามสนองอย่างเด็ดขาด

ส่วนถ้าใครทำดี ให้ความสำคัญ จริงใจกับเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ ก็ขอสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จ

ล่าสุด ในการประชุม ครม.ลุงตู่ เมื่อ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเรื่องอนุมัติปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน

1. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียน ระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน (เพิ่มขึ้นอัตราเฉลี่ย 24 บาท/คน/วัน

ในภาพรวม ดังนี้

2. เดิม รัฐบาลจัดให้มีโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารและภาวะทุพโภชนาการ

โดยจัดให้เด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนประถมศึกษา 5 สังกัด ได้แก่ (1) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) (2) โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดอปท. (รวมทั้งที่จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน) (3) โรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) (4) สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่ราบสูง) และ (5) สถานศึกษาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

จัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) (ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ)

มีการปรับเพิ่มขึ้นค่าอาหารกลางวันเด็กครั้งล่าสุด ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564

จากอัตรา 20 บาท/คน/วัน เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน (โดยใช้หลักวิธีการหาค่าเฉลี่ยของอัตราตามจำนวนนักเรียน) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

ล่าสุด กระทรวงศึกษาฯ ได้เสนอขอให้ปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันอัตราตามขนาดของโรงเรียนในอัตราเฉลี่ย 24 บาท/คน/วัน ในภาพรวม

โดยให้มีการกำหนดโครงสร้างอัตราตามขนาดโรงเรียนเป็น 4 ระดับข้างต้น ตามที่ครม.ลุงตู่ เพิ่งอนุมัติไปล่าสุดนั่นเอง 

3. การปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน จะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างไร? 

สพฐ. ได้กำหนดขนาดของโรงเรียนขนาดเล็กไว้ คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน เนื่องจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ส่วนใหญ่ร้อยละ 50 เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก

หากปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็นอัตราตามขนาดของโรงเรียน จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยจะได้รับงบประมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการงบประมาณทำให้นักเรียนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่จะสามารถดำเนินงานภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรได้

โดยเมื่อมีนักเรียนมากขึ้น การซื้อวัตถุดิบในปริมาณมากจะทำให้ได้ราคาที่ถูกลง ซึ่งสามารถนำเงินค่าวัตถุดิบเหลือมาใช้เป็นค่าบริหารจัดการได้

มีการปรับเมนูอาหารที่มีความหลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ในท้องถิ่นและตามฤดูกาลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูกลง ทำให้มีงบประมาณเหลือมาใช้สำหรับเป็นค่าบริหารจัดการได้

4. การปรับค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกสังกัด จำนวน 51,058 โรงเรียน

จำนวนนักเรียน 5,912,520 คน

คาดว่าจะใช้งบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพิ่มขึ้น จำนวน 3,533 ล้านบาท 

โดยใช้งบกลางก่อน จากนั้นปีถัดไปก็ตั้งงบประมาณตามปกติ

ครม.ยังสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการบริหารโครงการอาหารกลางวันเพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพทางโภชนาการตามมาตรฐานสากล ปลอดภัย มีการวางแผนการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติ คำนึงถึงการนำเงินนอกงบประมาณมาสมทบ สำหรับการสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย

ขอบคุณรัฐบาลลุงตู่ ที่ให้ความสำคัญกับเด็กๆ อย่างจริงใจตลอดมา

สารส้ม

-- advertisement --