-- advertisement --

ค่าปริญญาลดน้อย นายจ้างเน้นทักษะชำนาญ

หมออุดม มอบนโยบายชาวอุดมศึกษา ขอให้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับหลักสูตรการสอนตอบรับสังคมสูงวัย และมุ่งเน้นทักษะผู้เรียนให้มากขึ้น เริ่มทันที 7 มหาวิทยาลัย

วันที่ 4 ม.ค.2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายด้านอุดมศึกษาแก่ผู้บริหาร สกอ. ว่า มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นแหล่งการเรียนรู้ ตามทิศทางอุดมศึกษาโลกยุคใหม่ สอนเด็กให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงภาพใหญ่ของโลก ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เรียนรู้สื่อรูปแบบใหม่อย่างเท่าทัน พร้อมมีความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจอันแรงกล้า ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม และโลก อนาคตมหาวิทยาลัยจะลดลง ส่วนหนึ่งจากอัตราการเกิดที่ลดลง แต่ขณะเดียวกันการเรียนในระบบออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัยทั้งหมด 157 แห่ง อนาคตหากไม่ปรับตัวก็จะต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนที่จะทยอยปิดตัวลงอย่างแน่นอน ดังนั้น นโยบายของตน มหาวิทยาลัยจะต้องปรับการเรียนการสอน ที่ต่อไปความสำคัญของปริญญาจะน้อยลง ผู้จ้างงานไม่ดูที่เกรดเฉลี่ย แต่จะดูทักษะความสามารถในด้านต่างๆ เพราะเชื่อว่าทักษะ จะทำให้คนทำงานร่วมกับคนอื่นได้ มหาวิทยาลัยจะต้องสอนคนจบออกมาแล้วมีงานทำ ไม่ใช่ตกงาน ขนาดมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ยังมีบัณฑิตตกงานถึง 16%

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ตนอยากให้อุดมศึกษามีหน้าที่ในการสร้างศักยภาพของประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลให้งบประมาณมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ในการพัฒนามหาวิทยาลัยและบัณฑิต ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน แต่ลงทุนไม่กี่หมื่นล้านบาท กับคนวัยทำงานกว่า 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จบปริญญาตรีเพียง 25% หากเป็นเช่นนี้เราคงสู้กับใครไม่ได้ ที่พูดแบบนี้ไม่ได้ดูถูกคนที่จบ ปวช.หรือ ปวส. และไม่ได้บอกว่าคนเหล่านี้ไม่สำคัญ แต่เป็นกลุ่มคนที่มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพ และเป็นเรื่องสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มอบโจทย์ให้ผมไปหาแนวทางแก้ไขใน 3 เดือน อีกกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมพร้อมพัฒนาคือ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2566 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ ปี 2573 เพิ่มเป็น 25% ถือเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุให้สามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพ และมีศักดิ์ศรี ที่สำคัญผมอยากให้มหาวิทยาลัยทลายกำแพงระหว่างคณะลง จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการร่วมกัน เช่น คนที่เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สามารถเรียนด้านบริหารธุรกิจควบคู่ไปด้วยได้ เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถที่รอบด้านมากขึ้น ตอบโจทย์การทำงานในอนาคต

ทั้งนี้ ผมจะให้มหาวิทยาลัยเริ่มทำทันที ในปีการศึกษา 2561 จะเริ่มกับมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมก่อน ประมาณ 7 แห่ง และต่อไปหากมหาวิทยาลัยสามารถเปิดสอนในทิศทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะต้องเพิ่มขึ้น โดยตนอาจจะให้งบประมาณเป็นรายหัว เช่นเดียวกันการผลิตแพทย์

บัณฑิตในอนาคต ต้องมีทักษะสำคัญ 2 อย่างคือ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ และทักษะด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานในอนาคต เพราะไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนหากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ความเก่งจะหายไปครึ่งหนึ่ง สุดท้ายที่จะย้ำคือหลักการมหาวิทยาลัยจะต้องมีอิสระ แต่จะต้องตอบโจทย์ประเทศ ส่งเสริมประเทศให้เกิดการแข่งขัน โดยผมจะใช้กลไกทางงบประมาณในการผลักดัน การดำเนินการต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ หากใครอยากทำอย่างอื่นก็ต้องหาเงินเอง และผมกล้าทำ วันนี้เราต้องมีเป้าหมายเดียวกัน คือเป้าหมายของประเทศ รัฐบาลนี้มีเป้าหมายชัดเจน คือพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ปัจจัยอย่างเดียวคือ มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 ด้วย

ดังนั้น จึงต้องเกิดเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา ซึ่งจะมาทำหน้าที่วางแผนการผลิต และใช้กำลังคนของประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา ที่จะเกิดครั้งนี้เป็นนโยบายรัฐบาลโดยตรง นายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องวิจัยและนวัตกรรมอย่างมาก ถ้าไม่ทุ่มเทเรื่องอุดมศึกษาจะไม่สำเร็จ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ต้องเกิดก่อนการเลือกตั้ง คาดว่า พ.ร.บ.การอุดมศึกษา จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) วันที่ 9 ม.ค.2561 ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) ใช้เวลา 6-8 เดือน คาดว่ากระบวนการทุกอย่างจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.61

ดังนั้น ในช่วงนี้จะต้องเร่งดำเนินการใน 5 ประเด็นเพื่อเตรียมความพร้อม คือ 1 การเตรียมโครงสร้างกำลังคน ทรัพยากรและความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อรองรับกระทรวงอุดมฯ ที่จะเป็นองค์กรระดับประเทศในการขับเคลื่อนภาคอุดมศึกษาของชาติ 2. พัฒนายุทศาสตร์และโรดแมปของการอุดมศึกษาของชาติ 20 ปี 3.วางแผนกำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี 4.พัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของการอุดมศึกษาของชาติ และ 5.ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ ขณะเดียวกัน สกอ.จะต้องทบทวนมาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี-โท-เอก หลักสูตรใดที่ไม่จำเป็นต้องปิด หลักสูตรที่สอนต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงกระบวนการรับทราบของ สกอ.จะต้องไปปรับให้เร็วขึ้น ให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับ สกอ.”นพ.อุดม กล่าว

-- advertisement --