-- advertisement --

ค้านโอน ท้องฟ้าจำลอง-อุทยานหว้ากอ ซุกปีก ก.วิทย์ฯ

ค้านโอน2ศูนย์วิทยาศาสตร์”ท้องฟ้าจำลอง-อุทยานวิทย์หว้ากอ”ซุกปีกกระทรวงวิทย์ฯ “หมอธี”ชี้ไม่ง่ายมีขั้นตอนกฎหมายอีกมาก-ด้านประชาคมศูนย์วิทย์ฯ กังวลซ้ำรอยที่อ่านหนังสือหมู่บ้าน-จี้ประชาพิจารณ์

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกระแสข่าวการโอนศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ ให้แก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า เรื่องยังไม่มีข้อยุติ และกระแสข่าวเกิดจาก รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เสนอขอรับโอนศูนย์วิทยาศาสตร์ทั้ง 2แห่ง เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของประชาชน ตนจึงนำเข้าหารือในที่ประชุมองค์กรหลักของ ศธ. ซึ่งที่ประชุมไม่ขัดข้องแต่ก็ยังไม่ใช่ข้อยุติ เพราะมีขั้นตอนกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่ต้องศึกษาอย่างละเอียด ต้องมีการวิเคราะห์ผลดี-ผลเสีย รวมถึงเรื่องกำลังคนและงบประมาณอีกด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ประวัติศาสตร์ของอุทยานวิทยาศาสตร์ ณ หว้ากอ ยิ่งใหญ่มาก ตอนซื้อที่ดิน 500 ไร่เพื่อสร้างก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคณะรัฐมนตรีสมัยนั้น แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้กลับไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร สำหรับปีนี้ก็จะครบ 150 ปี ของการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่บ้านหว้ากอ ในวันที่ 18 ส.ค.2411 ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาตนได้มอบหมายให้เตรียมการเฉลิมฉลองและบูรณะไว้แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับงบประมาณ ดังนั้นเมื่อ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เสนอมาโดยหลักการก็ไม่ขัดข้อง แต่ก็ต้องหารือกันอีกหลายขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่ใช่จะยกให้ใครได้ทันที

“คนที่คิดว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบก็อย่าเพิ่งกังวลใจ แน่นอนว่าคงต้องมีคนต่อต้าน แต่อยากให้มองว่ายังมีอีกหลายขั้นตอน ที่ต้องพูดคุยกันทั้งผลดี ผลเสีย กฎหมายจะทำได้หรือไม่ และใครจะเป็นคนอนุมัติ เพราะเรื่องนี้อยู่นอกเหนือ ศธ.แล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าจะต่อต้านก็ขอให้ต่อต้านในขั้นตอนโดยเอาประเทศเป็นตัวตั้ง” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ด้านนายทวีศักดิ์ วิศิษฎางกูร นายกสมาคมส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตไทย(สศทช.) กล่าวว่า ประชาคมศูนย์วิทยาศาสตร์ รู้สึกไม่สบายใจ และมีความห่วงใยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเมื่อโอนไปสังกัดกระทรวงวิทยฯ จะสามารถจัดในมิติของการศึกษาได้หรือไม่ และเกรงว่าจะถูกปรับให้เป็นองค์การมหาชน ซึ่งจะต้องมีเรื่องของการหาเงินรายได้ จะส่งผลให้ต้องมีการเรียกเก็บเงินค่าผ่านประตูในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่หลักการของการเป็นสถานศึกษา

“กศน.เคยมีประสบการณ์การโอนที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ให้กับองค์การบริการส่วนท้องถิ่น(อบต.)แล้ว วันนี้ที่อ่านหนังสือก็หายไปเลย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้ รมว.ศึกษาธิการ จะบอกว่าต้องมีการศึกษากฎหมาย อีกหลายขั้นตอน ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันกระทรวงวิทย์ฯ ก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเตรียมการรับโอนแล้ว ทั้งนี้ อยากเสนอให้ทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นประชาคมที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญขอเสนอว่า หากจะโอนให้กระทรวงวิทย์ฯ เพื่อให้มีการพัฒนาก็ขอให้กระทรวงวิทย์ฯ เข้ามาช่วยเสริมเพื่อเติมเต็มโดยไม่ต้องโอนไปจะดีกว่า”นายทวีศักดิ์ กล่าว

-- advertisement --