-- advertisement --

งานวิจัยต่อยอดข้ามชาติ  มจธ.-ม.คานาซาวา  เครื่องวัดมวลกระดูกพกพา

คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”

ปัจจุบันมีกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน และร้อยละ 80 ของกลุ่มเสี่ยง อาจจะยังไม่เคยได้รับการตรวจวัดค่ามวลกระดูก และในไทยเครื่องวัดมวลกระดูกมีเฉพาะในบางโรงพยาบาลเท่านั้น

ดังนั้น เครื่องวัดมวลกระดูกแบบพกพาที่ผลิตขึ้นใหม่นี้จะเน้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องวัดมวลกระดูกที่โรงพยาบาลบ่อยๆ เช่น ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน และกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกระดูก ทำให้ผู้ป่วยสามารถวัดได้ด้วยตัวเอง เพื่อหาความผิดปกติเบื้องต้น โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล นอกจากนั้นแล้ว ยังมีราคาไม่สูง มีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย

รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด (SMART LAB) และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมมือกับ ศ.ดร. ชิเกโอะ ทานากะ มหาวิทยาลัยคานาซาวา (Kanazawa University) โดยกล่าวว่า ทางห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาดได้ร่วมมือกับม. คานาซาวา มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครื่องวัดมวลกระดูกแบบพกพา ได้พัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยเดิมเกี่ยวกับนวัตกรรมการเพิ่มจำนวนเซลล์กระดูกที่งานวิจัยนี้สำเร็จแล้ว และใช้เวลาวิจัยกว่า 2 ปี

เครื่องมือวัดมวลกระดูกแบบพกพา สามารถตรวจได้สะดวก รวดเร็ว โดยฉายแสงแอลอีดีที่ข้อมือผู้ป่วย ในขณะที่เครื่องแบบขนาดใหญ่ตามโรงพยาบาลที่วัดมวลกระดูกเพื่อตรวจโรคกระดูกพรุนผู้ป่วยต้องนอนหรือนั่งลักษณะการทำงานเป็นการ X-ray เพื่อสแกนค่าการตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density (BMD) อีกทั้งเครื่องมือยังมีเพียงบางโรงพยาบาลเท่านั้น

หลักการของเครื่องมือวัดมวลกระดูกแบบพกพานี้ ใช้หลักการของแสงแอลอีดีที่มีความยาวคลื่นเฉพาะที่มีปฎิกิริยากับแคลเซียม 2 ความยาวคลื่นเพื่อเปรียบเทียบค่า ร่วมกับเครื่องมือไดโอดที่วัดค่าความเข้มแสงที่สะท้อนหรือกระเจิงกลับ เพื่อทำให้ทราบค่าแสงที่ถูกดูดกลืนในกระดูก โดยจะต้องนำค่าแสงที่ได้ไปคำนวณเป็นค่าความหนาแน่นของกระดูกว่ามีปริมาณแคลเซียมจำนวนเท่าใด โดยได้ทดสอบความแม่นยำของเครื่องวัดมวลกระดูกแบบพกพานี้ กับเครื่องมือวัดมาตรฐานของโรงพยาบาลแบบ DEXA scan

มร.คานาเมะ มิอูระ นักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศญี่ปุ่น นักศึกษาปริญญาเอกทุนเพชรพระจอมเกล้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ต่อยอดโดยพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือวัดมวลกระดูก โดยใส่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และนำไปทดสอบกับผู้ป่วยจริงที่ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ 500 คน เพื่อเก็บข้อมูล

ปัจจุบันสามารถเก็บข้อมูลได้กว่า 200 คน โดยจะเปรียบเทียบข้อมูลเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นกับเครื่องวัดมวลกระดูกที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาล

แนวโน้มราคาเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นนี้ราคาเพียงหลักหมื่น ดร.ทานากะ จึงได้จัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพจดทะเบียนในชื่อบริษัท “ostics” เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องมือวัดมวลกระดูกที่พัฒนาขึ้น และเป็นบริษัทสตาร์ทอัพแห่งแรกของมหาวิทยาลัยคานาซาวาด้วย โดยมีแผนจะจดทะเบียนในไทยร่วมกับ มจธ. และสร้างตลาดในไทยก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มากกว่า

ตั้งเป้าภายในปีนี้ออกผลิตภัณฑ์รุ่นแรกที่สามารถวัดมวลกระดูกจากกระดูกข้อมือ และวางแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นอื่นๆ ที่สามารถวัดมวลกระดูกจากบริเวณอื่นได้

-- advertisement --