-- advertisement --

จุฬาฯ เสนอ 3 แผนงานให้นายกรัฐมนตรี

พร้อมเป็นต้นแบบการปรับเปลี่ยนสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ตั้งศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมชีวเวช ขยายความร่วมมือกับนักลงทุนอิสระ หวังสร้างมูลค่านวัตกรรมไทยไม่ต่ำกว่า 1หมื่นล้านบาท ตลอดจนขยายฐานการรักษาดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยถึงแผนงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินการตามที่ได้เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่มาแสดงปาฐกถาพิเศษ และเยี่ยมชมผลงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยแผนงานดังกล่าวประกอบด้วย 1.การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (University Technology Center) เพื่อเป็นกลไกในการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ในการสร้างคนและสร้างเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ (Artificial Intelligence & Robotics) และด้านวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering) เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศ ผ่านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยนานาชาติ เร่งวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการไทย เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME ) สนับสนุนภาครัฐในการวิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตทั้งระดับปริญญาตรี-โท และเอก ที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงอย่างน้อยปีละ 200 คน เริ่มในปีการศึกษา 2562

อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า 2.จุฬาฯ จะขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน นักลงทุนอิสระและองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงและขยายผลการดำเนินการของเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารสยามสแควร์วัน เพื่อสร้างนวัตกรรมและผลผลิต นำมาสู่การสร้างเสริมสังคมไทยสู่วิถีไทยในการใช้ชีวิตการเรียนรู้และความคิดที่สร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าจากนวัตกรรมไทยไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการจำนวน 200 ล้านบาทต่อปี และ 3.ความร่วมมือกับโรงพยาบาลสวนเบญจกิติเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (โรงพยาบาลยาสูบ) โดยเน้นการดูแลรักษาผู้สูงอายุร่วมกับชุมชน ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาซึ่งก่อให้เกิดความก้าวหน้าในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมทั้งต่อยอดไปสู่การเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษา สำหรับบุคลากรการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขในอนาคต

“จุฬาฯ พร้อมเป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ที่เน้นการเรียนรู้เชิงลึกและกว้าง เพื่อตอบโจทย์สังคม พร้อมที่จะร่วมพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมบ่มเพาะนักเรียนและนิสิต ให้พร้อมเป็นพลเมืองคุณภาพ เมื่อใดก็ตามที่ประเทศชาติต้องการความช่วยเหลือ จุฬาฯ มุ่งมั่นที่จะมีบทบาทเชิงรุกในฐานะ “เรือธง”ทางวิชาการ พร้อมทำหน้าที่ในการรับใช้สังคม เพื่อสร้างคน รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสร้างเทคโนโลยีให้ประเทศ” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

-- advertisement --