-- advertisement --

ด้วยสมองและสองมือ I มรภ.สุราษฎร์สร้างเรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์

นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) โชว์ไอเดียสุดล้ำ วิจัยและพัฒนาเรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บผักตบชวา สามารถเก็บผักตบชวาได้สูงสุดชั่วโมงละ 1 ตัน ทำงานติดต่อกันได้ 5 ชั่วโมงต่อวัน นักวิจัยเผย นำเรือเข้าร่วมโครงการประชารัฐเก็บผักตบชวา ให้ผลดีเยี่ยม เตรียมต่อยอดพัฒนาใบมีดและสายพานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อาจารย์วิมล พรหมแช่ม จากสาขาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส. ผู้วิจัยและพัฒนาเรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บผักตบชวา โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ใช้เวลาลองผิดลองถูกนานถึง 1 ปีเต็มในการพัฒนาเรือดังกล่าวจนสมบูรณ์

“ผมออกแบบเรือดังกล่าวโดยเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ สามารถจัดหาได้ง่ายในประเทศไทยและราคาประหยัด ลักษณะโดยคร่าว ๆ ของเรือคือใช้ทุ่นเหล็กลอยน้ำทรงกระบอก ความยาว 10 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 2 ท่อนเป็นโครงสร้างเรือ ด้านหน้าติดตั้งชุดตัดผักตบชวา ในตำแหน่งระหว่างกลางของทุ่นเหล็กทั้งสอง สามารถปรับระยะสูงต่ำและมุมก้มเงยได้ ด้านล่างติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 3,000 วัตต์ เพื่อขับแกนหมุนของใบมีด ปรับความเร็วการหมุนใบมีดได้ด้วยชุดควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า ด้านบนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 16 แผง ทำหน้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ น้ำหนักลำเรือประมาณ 5,000 กิโลกรัม”

อาจารย์วิมล ยังกล่าวต่อว่า ผักตบชวาจะถูกใบมีดตัดขาดเป็นท่อน ๆ ก่อนที่สายพานลำเลียง 2 ชุดจะทำหน้าที่ลำเลียงผักตบชวาที่ถูกตัดขึ้นมาไว้บนลำเรือ จากการทดลองพบว่า เรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สามารถเก็บผักตบชวาได้ไม่ต่ำกว่า 1 ตันต่อชั่วโมง ความเร็วของเรือสูงสุดมากกว่า 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถปฏิบัติงานแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 5 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 มี.ค.60 ที่ผ่านมา ตนได้นำเรือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เข้าร่วมโครงการประชารัฐร่วมใจกำจัดผักตบชวาตามนโยบายรัฐบาล ณ บึงขุนทะเล ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ผลน่าพอใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเรือดังกล่าวยังพัฒนาต่อไปได้อีก โดยมีแผนจะปรับปรุงชุดใบมีดตัดผักตบชวาและชุดสายพานลำเลียงให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และนี่คือผลงานวิจัยของชาวราชภัฏ…เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

สำหรับอาจารย์วิมล พรหมแช่ม สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต สำเร็จครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส.

———————-

-- advertisement --