หน้าแรก แวดวงการศึกษา ตรวจดีเอ็นเอหา “คู่แท้” จินตนาการในซีรีส์ที่ถูกใช้และสงสัยในชีวิตจริง

ตรวจดีเอ็นเอหา “คู่แท้” จินตนาการในซีรีส์ที่ถูกใช้และสงสัยในชีวิตจริง

-- advertisement --
  • รีเบกกา ธอร์น
  • บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส

Heart under a microscope

ที่มาของภาพ, Getty Images

คนแปลกหน้าสองคนบ้วนน้ำลายใส่หลอดทดลอง อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความรักแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคย

แต่สำหรับ ชิเอโกะ มิตซูอิ การเก็บตัวอย่างน้ำลายช่วยให้เธอได้พบกับสิ่งที่เธอเฝ้ารอมานาน นั่นคือคู่รักที่เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ และพร้อมจะเป็นสามีของเธอ

แนวคิดเรื่องการใช้สารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ในการจับคู่คนโสดเพื่อให้มาเป็นคู่ครองกันนั้น เป็นเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดอยู่ในซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์เรื่อง The One และ Soulmates ทางช่อง AMC

ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริง การนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับดีเอ็นเอมาช่วยในการจับคู่นั้น ได้มีให้บริการคนโสดแบบ มิตซูอิ อยู่มากมายหลายเว็บไซต์ เพื่อเป็นช่องทางลัดทางวิทยาศาสตร์ในการหาคนที่ใช่ รวมถึงช่วยทดสอบ “ความเข้ากันทางพันธุกรรม” สำหรับคู่รักที่กำลังคบหากันอยู่

บีบีซี ได้พูดคุยกับผู้คนที่ใช้วิทยาการทางพันธุกรรมในการตามหาความรักที่เป็นเรื่องของหัวใจและความรู้สึกว่าจะใช้ได้ผลจริงมากน้อยเพียงใด

ที่มาของภาพ, Cheiko Mitsui

คำบรรยายภาพ,

ชิเอโกะ มิตซูอิ ตัดสินใจพึ่งวิทยาศาสตร์ หลังจากล้มเหลวในการหาผู้ชายที่ใช่มาเกือบ 10 ปี

ชิเอโกะ มิตซูอิ ตามหาความรักมาเกือบ 10 ปี ตอนที่เธอได้ค้นพบบริการจับคู่ด้วยดีเอ็นเอ

สาวญี่ปุ่นวัย 45 ปี จากจังหวัดฮอกไกโดผู้นี้ หย่าขาดจากสามีตอนอายุ 35 ปี และเริ่มรู้สึกว่าโชคในการเจอเนื้อคู่ของเธอกำลังจะหมดไป

“ฉันได้พบผู้ชายผ่านทางเพื่อนฝูงตามงานเลี้ยงต่าง ๆ และได้ใช้บริการบริษัทจัดหาคู่ แต่ก็ยังไม่เจอกับคนที่ใช่” มิตซูอิ เล่า

มิตซูอิ ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ ชิเอโกะ ดาเตะ แม่สื่อที่บอกว่าได้ช่วยจับคู่คน 700 คู่ ตลอดการทำงานด้านนี้มานาน 20 ปี

ในปี 2014 ดาเตะ เริ่มทำงานกับบริษัท GenePartner ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งระบุว่าบริการทดสอบทางพันธุกรรมของบริษัทสามารถใช้เป็น “ส่วนเสริม” ในบริการจัดหาคู่ได้

ดร.ทามารา บราวน์ นักพันธุศาสตร์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง GenePartner บอกว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการจับคู่ในทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือการเข้ากันได้ทางชีวภาพ ซึ่งเรียกว่าการมีเคมีที่ตรงกัน ส่วนอีกด้านคือการเข้ากันได้ในเชิงสังคม “ทั้งสองปัจจัยนี้จะต้องเหมาะสมกันเพื่อให้ความสัมพันธ์ประสบความสำเร็จ”

ที่มาของภาพ, GenePartner

คำบรรยายภาพ,

แบบจำลองผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของ GenePartner ที่บ่งชี้ว่าชายหญิงมีความรู้สึกต่อกันอย่างไร

กระบวนการจับคู่ทางวิทยาศาสตร์

การตรวจสอบนี้ทำโดยเก็บตัวอย่างทางชีวภาพของลูกค้าที่ต้องการใช้บริการจับคู่ ด้วยการใช้ไม้ป้ายที่เยื่อบุกระพุ้งแก้ม แล้วนำไปวิเคราะห์ยีนที่เรียกว่า human leukocyte antigen หรือ HLA

ดร.บราวน์ อธิบายว่า HLA เป็นยีนหลักที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดังนั้นยิ่งคนมียีน HLA ที่หลากหลายมากเท่าไหร่ ก็จะมีการตอบสนองในระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นเท่านั้น”

“สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งเพศผู้และเพศเมียสามารถรับรู้ได้ถึงยีน HLA เพราะต้องการให้กำเนิดลูกที่มีความทนทานต่อโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น มันเป็นหลักการง่าย ๆ ที่ต้องทำเพื่อให้เผ่าพันธุ์ได้ดำรงอยู่ต่อไป”

ข้อสนับสนุนสมมุติฐานของ GenePartner มาจาก “การศึกษาเสื้อยืดเปื้อนเหงื่อ” ในปี 1995 ของ ดร.เคลาส์ เวเดอกินด์ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิส ที่ทดลองให้กลุ่มนักศึกษาหญิงให้คะแนนกลิ่นเสื้อยืดของผู้ชายหลายคนที่ใส่ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 คืน ผลปรากฏว่า ผู้หญิงชอบกลิ่นเสื้อยืดของผู้ชายที่มียีน HLA ที่แตกต่างจากพวกเธอ

ดร.บราวน์ ชี้ว่า บริษัท GenePartner ได้ทดสอบทฤษฎีนี้กับคู่แต่งงานประมาณ 250 คู่ และได้ผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบคล้ายกัน

“เวลาที่คุณได้พบกับใครบางคน มันไม่ใช่เรื่องรูปลักษณ์ มันคืออย่างอื่น และเมื่อคุณรู้สึกสนใจบุคคลนั้นจริง ๆ โดยที่คุณเองก็ไม่ทราบเหตุผล นั่นคือการสัมผัสถึงยีน HLA” เธอกล่าว

“มันคือสัญชาตญาณโดยแท้…และคนเราทำแบบนี้อยู่เสมอ แม้แต่คนที่ไม่ต้องการมีบุตร สัญชาตญาณนี้ก็ยังอยู่”

ที่มาของภาพ, Cheiko Mutisi

คำบรรยายภาพ,

ชิเอโกะ ดาเตะ (กลาง) บอกว่าลูกค้าราว 450 คนของเธอใช้บริการจับคู่ด้วยดีเอ็นเอ

“เปลี่ยนชีวิต”

ชิเอโกะ มิตซูอิ หวังว่า การวิเคราะห์ดีเอ็นเอจะช่วยให้เธอรู้สึกอุ่นใจเมื่อต้องเลือกคนที่จะมาร่วมชีวิตในระยะยาวคนต่อไป

ในเดือน ก.ย. ปี 2018 มิตซูอิ ได้พบกับ โทโมฮิโตะ วัย 45 ปี จากข้อมูลเรื่องค่านิยมและความสนใจที่ตรงกัน โดยหลังจากคบหากันได้ 1 เดือน ทั้งคู่ได้ตัดสินใจตรวจความเหมาะสมกันของดีเอ็นเอ

มิตซูอิ เล่าว่า “ผลลัพธ์โดยรวมไม่ได้เหมาะเจาะกัน 100% แต่ก็เกือบสมบูรณ์แบบ…ฉันคาดหวังว่าจะได้เห็นผลลัพธ์ที่ดี แต่มันก็ดีกว่าที่ฉันคาดเอาไว้มาก ฉันเลยดีใจมาก”

2 สัปดาห์หลังจากนั้น ทั้งคู่ก็ตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน “เราต่างมีความรู้สึกดีมาก ๆ และผลดีเอ็นเอก็ออกมาดี เราจึงตัดสินใจแต่งงานกัน” มิตซูอิ กล่าว

ทั้งสองแต่งงานกันในเดือน ก.ย. ปี 2019 หนึ่งปีหลังจากได้รู้จักกันครั้งแรก มิตซูอิ บอกว่าเธอรู้สึก “ปลอดภัยและมั่นคง” กับผลการยืนยันทางพันธุกรรมของทั้งคู่

“ฉันไม่แน่ใจว่าฉันจะแต่งงานกับเขาโดยที่ไม่มีผลยืนยันทางดีเอ็นเอหรือเปล่า…บางทีฉันอาจแต่ง แต่แน่นอนว่าผลดังกล่าวผลักดันให้ฉันแต่งงาน…มันคือปัจจัยเปลี่ยนชีวิต”

ที่มาของภาพ, Cheiko Mitsui

คำบรรยายภาพ,

มิตซูอิ หวังว่าในอนาคตเธอจะช่วยให้คนอื่นตามหารักแท้ได้แบบเดียวกับที่ดาเตะเคยช่วยเธอ

ชิเอโกะ ดาเตะ ผู้ทำหน้าที่แม่สื่อให้คู่รักคู่นี้บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้บริการจับคู่ด้วยดีเอ็นเอของบริษัทเธอมักเป็นกลุ่มคนมีการศึกษา และมีหน้าที่การงานดี ซึ่งเธอคิดว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีเวลาเสาะหาคู่รัก

“ฉันรู้สึกว่าคนตัดสินใจได้เร็วขึ้นและรู้สึกปลอดภัย (เมื่อใช้บริการตรวจดีเอ็นเอ)…ฉันจึงรู้สึกดีที่สามารถให้ความรู้สึกแบบนี้กับพวกเขาได้”

โยนเหรียญเสี่ยงทาย

อย่างไรก็ตาม ดร.ดิโอโก เมเยอร์ นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ในบราซิล เตือนว่า ทฤษฏีดังกล่าวยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในแวดวงวิทยาศาสตร์

“ประเด็นสำคัญคือมันเป็นเรื่องที่ยังมีข้อถกเถียง คุณอาจพบงานวิจัยที่บอกว่ามีหลักฐานของการเข้าคู่กันจากความแตกต่างของยีน HLA แต่ผมคิดว่ามีผลการศึกษามากกว่าที่แสดงให้เห็นว่ามันมีไม่ปรากฏการณ์เช่นนี้อยู่จริง”

เขาชี้ว่า การใช้ทฤษฎีนี้เพื่อจุดประสงค์ในการจับคู่นั้น “ไม่ต่างไปจากการโยนเหรียญเสี่ยงทาย” เพราะโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้มีน้อยมาก และใกล้เคียงมากกับการสุ่ม

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นักวิทยาศาสตร์บางคนไม่เชื่อว่าการจับคู่โดยใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมจะช่วยให้ชีวิตคู่ประสบความสำเร็จ

เครื่องยืนยันความรัก

เมลิสซา จากรัฐควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลีย เล่าว่าเธอกับ เมซ แฟนหนุ่มกำลังเผชิญกับ “ช่วงเวลาที่ยากลำบาก” ในความสัมพันธ์ ตอนที่เธอตัดสินใจใช้บริการตรวจความเข้ากันทางดีเอ็นเอ

พวกเขาใช้บริการเว็บไซต์ที่ชื่อ DNA Romance ซึ่งอ้างว่าใช้การตรวจ เครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA marker) ของยีน HLA ในการประเมินเคมีทางความรักและการดึงดูดระหว่างบุคคล

ผลที่ได้ออกมาบ่งชี้ว่า เมลิสซากับเมซ มีความเข้ากันได้ถึง 98%

“ฉันดีใจมาก ๆ และรู้สึกดีที่ได้รู้…สำหรับฉันมันเหมือนกับเครื่องยืนยันอีกอย่างของความสัมพันธ์ของพวกเรา”

ที่มาของภาพ, Alison M Jones photography

คำบรรยายภาพ,

เมลิสซาบอกว่าการตรวจดีเอ็นเอช่วยให้คู่ของเธอ “มีความมั่นใจ” ในความรักต่อกัน และช่วยให้ตัดสินใจแต่งงานกันในที่สุด

โรดริโก บาร์เกียรา นักพันธุศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังค์ในเยอรมนี ระบุว่า ในขณะที่มีหลักฐานว่า ยีน HLA มีบทบาทในการเลือกคู่ครองนั้น แต่ก็มีไม่มากพอที่จะ “คาดการณ์ได้ว่าความสัมพันธ์นั้นจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด”

“ยีนสนใจแค่การจับคู่ผสมพันธุ์และการผลิตทายาทสืบเผ่าพันธุ์…ยีนพวกนี้ไม่สนเรื่องอย่างอื่น แต่ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่าการมีลูกมาก”

แม้นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจะมีความเห็นเช่นนั้น แต่เมลิสซาบอกว่าการตรวจดีเอ็นเอดังกล่าวช่วยให้คู่ของเธอ “มีความมั่นใจ” และตัดสินใจแต่งงานกัน อีกทั้งกำลังจะมีทายาทคนแรกด้วยกัน

“ฉันคิดว่ามันน่าสนใจ แต่ก็คิดว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ และฉันเชื่อมัน บางคนอาจไม่เชื่อ และมองว่ามันเป็นความคิดที่บ้า แต่มันเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสำหรับฉัน”

อย่างไรก็ตาม เมลิสซาบอกว่า ถ้าผลตรวจดีเอ็นเอของทั้งคู่ออกมาไม่ดีในตอนนั้น มันก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาจบลงได้

ที่มาของภาพ, DNA Romance

คำบรรยายภาพ,

ชุดตรวจที่ผู้ใช้บริการของ DNA Romance ต้องส่งตัวอย่างน้ำลายเพื่อการวิเคราะห์

สำหรับคู่ของเซียนนา และโรดริโก เมเนส บอกว่า แนวคิดเรื่องการจับคู่ด้วยดีเอ็นเอฟังดู “เป็นไปไม่ได้และชวนขนลุก” ในตอนแรก

แต่ถึงอย่างนั้น คู่แต่งงานใหม่คู่นี้ ซึ่งเรียกตัวเองว่า “เนื้อคู่” บอกว่าเกิดความสงสัยใคร่รู้ที่จะทดลองใช้บริการของ DNA Romance และได้ผลลัพธ์ว่าพวกเขามีความเข้ากันได้ทางพันธุกรรมถึง 90%

“เราต่างช็อกที่เว็บไซต์นี้สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถึงสิ่งที่เรารู้สึกตามธรรมชาติได้ แต่เราก็ดีใจมาก และรู้สึกอุ่นใจกับผลลัพธ์ที่ยืนยันว่าเรามีความเชื่อมโยงกันลึกซึ้งเพียงใด”

ที่มาของภาพ, Sienna Meneses

คำบรรยายภาพ,

โรดริโกและเซียนนา บอกว่าพวกเขาจะคิดว่าบริการของ DNA Romance เป็นเรื่องหลอกลวง หากได้ผลลัพธ์ที่ต่ำ

สำหรับ ดร.ดิโอโก เมเยอร์ นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล มองว่า บริการหาคู่ด้วยพันธุกรรมที่เกิดขึ้น บ่งบอกถึงการที่ผู้คนนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในเชิงพาณิชย์และมุมมองที่คนมีต่อมัน

“วิทยาศาสตร์มีแนวคิดที่นำเสนอข้อเท็จจริงที่แน่ชัด เพราะมีการทดสอบทางสถิติ การทดสอบดีเอ็นเอ และการทดสอบเกี่ยวกับโมเลกุล ผู้คนจึงคิดว่ามันใกล้เคียงกับความจริงมากกว่า และน่าเชื่อถือกว่าข้อมูลชนิดอื่น ๆ” เขากล่าว

“ผมคิดว่ามันเป็นการขายขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์มากเกินจริง”

-- advertisement --