-- advertisement --

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์

เลื่อนนำร่อง “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ออกไป เพื่อเปิดเวทีการมีส่วนร่วม รับฟังเสียงจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรด้านการศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชน ย้ำไม่บังคับแต่มีรร.สมัครใจนำร่อง 267 แห่ง 8 จังหวัด ครอบคลุมสถานศึกษาทุกสังกัด

ตามกำหนดเดิม กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ภายใต้การนำของ นางสาวตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เตรียมจะนำร่องหลักสูตรฐานสมรรถะ หรือหลักสูตรใหม่ ภายในเดือนกันยายน 2564 แต่ถูกกระแสต่อต้านมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม และรวบรัดรีบดำเนินการ กระทบต่อฝ่ายปฏิบัติ ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ ศธ. เปิดเวทีออนไลน์ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)  กล่าวว่า ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลง 12 นโยบายการจัดการศึกษา และ 7 วาระเร่งด่วนของศธ. ซึ่งนโยบายการจัดการศึกษาข้อที่ 1 คือ การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย และวาระเร่งด่วนวาระที่ 2 คือ การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมเวทีระดมความคิดกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรฯ ได้จัดทำกรอบแนวคิดพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเปิดรับสมัครโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีความสมัครใจเพื่อดำเนินการทดลองใช้กรอบหลักสูตรใหม่ 

ปรากฏว่ามีโรงเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมการทดลองใช้หลักสูตรรวมทั้งสิ้น 267 โรงเรียนใน 8 จังหวัด และครอบคลุมทุกโรงเรียนในสังกัดต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของครูผู้สอน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน ในการพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้ให้มีความชัดเจน เหมาะสม และสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพสูงสุด และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

จึงได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนใน 3 ทาง คือ 1) จัดเวทีระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นจำนวน 7 ครั้ง จากกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรด้านการศึกษา กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กลุ่มนักเรียน/เยาวชน กลุ่มครู กลุ่มผู้บริหารโรงเรียน กลุ่มอาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ กลุ่มผู้ประกอบการเอกชน

2) รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนร่วมในการทดลองหลักสูตรในพื้นที่นำร่อง จำนวน 267 โรงเรียน

และ 3) รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามผ่านทางเว็บไซต์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเวทีระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นวันนี้ ถือเป็นเวทีแรกในการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาหลักสูตร

“ขอบคุณผู้เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทีมพัฒนาหลักสูตรได้นำข้อคิดเห็นที่ดีเหล่านี้ไปพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาสังคมไทย ดิฉันตระหนักดีว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานคือภารกิจที่สำคัญยิ่งของกระทรวงศึกษาธิการ

ดังนั้นเราจะร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านการศึกษาแบบเดิมที่เต็มไปด้วยตัวชี้วัด มุ่งไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เปลี่ยน “ห้องเรียน” เป็น “ห้องเรียนรู้” ที่ผู้เรียนเข้าใจ ทำเป็น เห็นผลลัพธ์ และเด็กทุกคนมีโอกาสในการค้นพบเป้าหมายของตนเอง ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน และมี “ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ” หรือ “TRUST” จากทุกภาคส่วนของสังคมต่อกระทรวงศึกษาธิการ จึงจะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” นางสาวตรีนุช กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ม.มหิดล นำร่อง “Sandbox” ส่งเสริมศักยภาพวิจัยฯ ลดข้อจำกัด
  • “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” แนวคิดสวยหรู ดูดี ของเล่นใหม่ศธ.
  • ครูไม่ทน ส่งสัญญาถึง ตรีนุช ขาดการมีส่วนร่วม “หลักสูตรฐานสมรรถนะ”
  • หนักใจ “รัฐกรณ์” แนะสพฐ.สำรวจ ครูพร้อม รับมือ หลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือไม่
  • “ตรีนุช” ส่อชะลอหลักสูตรฐานสมรรถนะ แจงไม่อยากเพิ่มภาระให้ครู
-- advertisement --