-- advertisement --

นวัตกรรมฟื้นชีพ ลางสาดอุตรดิตถ์สู่ตลาดพรีเมียม-เครื่องสำอางออร์แกนิกส์

“อุตรดิตถ์” เป็นจังหวัดที่ปลูกลางสาดมากที่สุดในประเทศ แต่ระยะหลังราคาตกต่ำหนัก ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 5-8 บาท ขณะต้นทุนอยู่ที่ 22 บาท เกษตรกรจำนวนมากกำลังทิ้งสวน บางส่วนตัดยอดไปเสียบลองกองแทน

ปัญหาดังกล่าวทำให้นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เล็งเห็นความสำคัญจัดทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับลางสาดอุตรดิตถ์หลายโครงการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

อ.ปิยวรรณ ปาลาศ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หัวหน้าโครงการวิจัยกระบวนการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของอุตรดิตถ์สู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์:กรณีศึกษาจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ได้โจทย์จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ (Signature product) ของอุตรดิตถ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยเคยวิจัยทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแล จนประสบความสำเร็จระดับหนึ่งมาแล้ว

ด้วยลางสาดกำลังประสบปัญหาหลายด้าน จากผลผลิตที่ออกมาพร้อมกัน เกษตรกรขาดแรงจูงใจ ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ขาดการใช้องค์ความรู้แก้ปัญหา ทำให้ลางสาดไม่เป็นที่นิยม เด็กรุ่นใหม่ๆ เริ่มไม่รู้จัก ซึ่งประเด็นนี้เป็นความท้าทายอย่างมาก

“งานวิจัยมีทั้งเชิงพื้นที่และพาณิชย์ เพื่ออนุรักษ์ และสร้างคุณค่า เราไม่ได้มองลางสาดเป็นแค่สินค้า แต่มองถึงการบริการ ตลอดจนสามารถสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้คนในจังหวัดได้”

ทีมวิจัยจึงกำหนดจัดการผลผลิตให้ได้คุณภาพตรงตามความต้องการผู้บริโภค สร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ลางสาด นอกจากขายผลสด ยังเจาะตลาดสินค้าพรีเมียม โดยผลิตให้ได้มีรสชาติหวานยกระดับมาตรฐาน

รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ลางสาดมูลค่าสูงที่เป็นทั้ง FoodและNon-food และเชื่อมกับผู้ประกอบการเพื่อใช้กลไกตลาดเป็นตัวนำ โดยดึงศาสตร์ต่างๆ จากคลังสมองในมหาวิทยาลัย และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อหาอัตลักษณ์ลางสาดไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

เมื่อศึกษาลักษณะเฉพาะให้ลึกลงไป พบว่าลางสาดสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลายไม่น่าเชื่อ ทั้ง น้ำลางสาด สเลอปี้ลางสาด ที่มีคุณค่าอาหาร วิตามินซีสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทั้งซีรั่ม โลชั่น สบู่ ถ่านสปา โดยใช้ได้ทั้งเปลือก เนื้อ เมล็ด เกิดกระจายรายได้ให้คนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 9.75 ล้านบาท จากการขายเฟรนไชส์ และผู้ประกอบการเครื่องสำอางออร์แกนิกส์นำไปเป็นสารตั้งต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์

ยังมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ ที่สำคัญสามารถสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ลางสาด จนมีชมรมคนรักลางสาด มีการควบคุมมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพเพื่อส่งร้านเลม่อนฟาร์ม โดยมีผู้ประกอบการรับ-กระจายสินค้า

ผลหลังจากมีโครงการนี้ ราคาลางสาดสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8 บาทในปี 60 เป็น 20 บาท จากการผลิตลางสาดคุณภาพด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และปีนี้ร้านเลมอนฟาร์ม ยังสั่งซื้อมากกว่า 20 ตัน มูลค่าประมาณ 1.1 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังใช้กลไกวารสารร้านเลม่อนฟาร์มโฆษณาให้คนบริโภคลางสาด ช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ ไม่ใช่แค่ซื้อเพราะว่าอยากลองทานเท่านั้น แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันอนุรักษ์ป่าด้วย
จากรายได้ที่เป็นตัวเลขให้กับชุมชนท้องถิ่นแล้ว เมื่อมองคุณค่าที่ตามมาคือสามารถร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าในระบบวนเกษตรที่มีลางสาดอยู่ถึง 556 ไร่ ด้วยวิถีอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าได้อย่างยั่งยืนต่อไป

-- advertisement --