-- advertisement --

นศ.ออกแบบฯมทร.ธัญบุรี เรียนรู้-ลงมือจริง-ได้บุญ ตัดเครื่องแบบพระถวายวัด

การเรียนที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง และกลายเป็นสิ่งที่ยังประโยชน์ให้กับบุคคลอื่นได้ ถือเป็นเป้าหมายนอกเหนือจากการเรียนรู้ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ด้วยการสอนนักศึกษาสาขาออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ของ มทร.ธัญบุรี ที่ให้นักศึกษาได้ตัดเย็บเครื่องแต่งกายของพระสงฆ์ เป็นการประยุกต์รายวิชาเรียน และยังช่วยทำนุบำรุงพระศาสนา โดยหลังตัดเย็บแล้วเสร็จได้นำถวายพระภิกษุสงฆ์ให้ได้ใช้งานจริง

อ.กรณัท สุขสวัสดิ์ อาจารย์ผู้สอนรายวิชาเทคนิคการตัดเย็บ อาจารย์ประจำสาขาออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เล่าว่า การตัดเย็บผลิตภัณฑ์พระภิกษุสงฆ์ เป็นการเรียนการสอนรายวิชาเทคนิคการตัดเย็บ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ จำนวน 60 คน ในรายวิชาสอนเทคนิคการตัดเย็บ เสื้อ กระโปรง กางเกง เทคนิคต่างๆ

ยกตัวอย่าง การตัดเย็บผ้าเฉลียง ตะเข็บเข้าถ้ำ ปะกระเป๋า จึงได้นำเทคนิคในเรียนมาประยุกต์ การตัดเย็บผลิตภัณฑ์สำหรับพระภิกษุสงฆ์
ประกอบด้วย ผ้าอังสะ อาสนะ ย่าม และซองมือถือ อย่างละ 50 ชิ้น และได้นำไปถวาย ณ วัดปัญญานันทราม จังหวัดปทุมธานี

“การประยุกต์นำเทคนิคในการเรียน ตัดเย็บผลิตภัณฑ์พระภิกษุสงฆ์ นักศึกษาลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหา ได้ชิ้นงานจริง นำไปใช้จริง และได้ทำหน้าที่ชาวพุทธ ได้ทำบุญร่วมกัน” ซึ่งอ.กรณัทว่า ความรู้ในรายวิชานี้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้

พระมหาเฉลิม ปิยทสฺสี เจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม เผยว่า เป็นสิ่งดีที่เหล่านักศึกษาได้นำความรู้ เทคนิคทางด้านงานฝีมือ ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม และเป็นโอกาสได้มาทำบุญร่วมกัน โดยผลิตภัณฑ์พระภิกษุสงฆ์ เป็นอัฐบริขารจำเป็นต่อพระสงฆ์ ทั้ง อาสนะ ผ้าอังสะ ในส่วนของย่าม และซองใส่มือถือ จะได้นำไปใช้ประโยชน์ให้แก่ สามเณรโรงเรียนปริยัติธรรมพระราหุล นำไปใส่อุปกรณ์การเรียนต่อไป

นายประกายเพชร เพชรชู “กาย” หนึ่งในนักศึกษาสาขาออกแบบแฟชั่นฯ เล่าว่า “ชิ้นงานที่เย็บต้องละเอียด ชิ้นไหนไม่ละเอียด อาจารย์จะสั่งแก้ไข” ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ได้ตัดเย็บผลิตภัณฑ์พระภิกษุสงฆ์ โดยได้รับผิดชอบในส่วนของผ้าอังสะ ลักษณะเป็นผ้าสไบเฉียง มีบ่าด้านเดียว ติดกระดุม และติดกระเป๋าไว้ด้านหน้า

“เป็นสิ่งที่ดี ที่ผมได้ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ ทำบุญครั้งใหญ่ ร่วมกับเพื่อนๆ ทั้ง 60 คน ถ้ามีโอกาสอยากทำกิจกรรมนี้อีก”

ทางด้าน “กุ้ง” นางสาวณัฐยา อัดดม เล่าว่า รับผิดชอบในส่วนของการเย็บย่าม ซึ่งได้เรียนรู้เทคนิคการเย็บซิปซ่อน ตรงกระเป๋าหน้าของย่าม เป็นเทคนิคพิเศษที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในครั้งนี้ ทุกคนตั้งใจเรียนวิชานี้มาก นอกจากความรู้ที่ได้รับและสามารถนำไปต่อยอดในอนาคต ยังได้ทำบุญครั้งใหญ่ร่วมกับเพื่อนในห้อง ต่างจากการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ทุกวันพระ

ผลิตภัณฑ์สงฆ์ ที่ตัดเย็บ อาจารย์และนักศึกษาได้นำไปถวาย ณ วัดปัญญานันทาราม เป็นการประยุกต์รายวิชาเรียนได้ทั้งความรู้ และได้ทำบุญ ปลูกฝังจิตสำนึกหน้าที่ชาวพุทธให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี

-- advertisement --