-- advertisement --

นักวิจัยเคมีไฟฟ้าจุฬาฯ คว้านักวิทย์ดีเด่นปี 61

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 36

ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและอธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กล่าวว่า การพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของไทย จำเป็นต้องอาศัยนักวิจัยคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ใน 137 ประเทศทั่วโลก (The Global Competitiveness Report 2017-2018)

พบว่า ระดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของไทยอยู่อันดับที่ 32 ระดับความสามารถด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทยอยู่อันดับที่ 57 ความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ 61 และการสร้างนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 50 และหากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ พบว่าการสร้างนวัตกรรมของไทยอยู่อันดับที่ 4 ในขณะที่คุณภาพของระบบการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 4 เช่นกัน

ดังนั้น การจะยกระดับไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด และเปลี่ยนจากการเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำในเอเชีย จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยด้านต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่สร้างศักยภาพให้ประเทศ การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การสนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยชั้นแนวหน้า และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร ฯลฯ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอ และทันต่อการพัฒนาโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อันเป็นการพัฒนาประเทศชาติให้เข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง

สำหรับปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 61 ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท

ทั้งนี้ ศ.ดร.อรวรรณ ริเริ่มนำขั้วไฟฟ้าเพชรเจือโบรอน (Boron-doped diamond, BDD) มาใช้เป็นรายแรกของไทย ซึ่งขั้วไฟฟ้านี้ใช้เป็นเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดสารประกอบอินทรีย์และสารประกอบอนินทรีย์ สามารถประยุกต์ใช้ทางด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร และการแพทย์

อีกทั้งช่วยลดนำเข้าอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์จากต่างประเทศ และช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในการผลิตอุปกรณ์ตรวจวัดเพื่อใช้งานได้เองในประเทศ และด้วยผลงานที่มีคุณภาพจึงทำให้ ศ.ดร.อรวรรณ ได้มีบทบาทหน้าที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติด้านต่าง ๆ และมีผลงานวิจัยมากมายที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง รวมถึงได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับโลกมากมาย

ขณะที่รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 61 ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมรากุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่

ดร.จุฬารัตน์ วัฒนกิจ สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผลงานวิจัย “ตัวเร่งปฏิกิริยานาโน สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน” และผศ. ดร.เจ้าทรัพย์ บุญมาก สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลงานวิจัย “ผลึกวิทยาของวัสดุโคออร์ดิเนชันพอลิเมอร์และสารเชิงซ้อนชนิดใหม่”

-- advertisement --