-- advertisement --
สยามรัฐออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2565 22:26 น. คุณภาพชีวิต

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Anan Jongkaewwattana” ระบุว่า… “ฝีดาษลิงมาจากไหน เอาจริงๆ ยังไม่มีใครทราบ แต่พบครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ในลิงที่สถาบันวิจัย Statens Serum Institut ในประเทศเดนมาร์ก ที่ขนลิงผ่านเครื่องบินจำนวน 150 ตัวมาจากประเทศสิงคโปร์เพื่อวัตถุประสงค์การศึกษาวัคซีนโปลิโอ โดยหลังจากที่ลิงที่อยู่ที่เดนมาร์กประมาณ 51 วัน เริ่มเห็นกลุ่มคลัสเตอร์แรกมีอาการตุ่มขึ้นที่ผิวหนัง หลังจากนั้นอีก 10 วันก็พบลิงอีกคลัสเตอร์หนึ่งมีอาการออกมาคล้ายๆ กัน ซึ่งเชื่อว่าการติดเชื้อไม่ได้เกิดขึ้นจากต้นทาง แต่เป็นการแพร่เชื้อจากสัตว์อื่นที่อยู่ที่สถาบันในเดนมาร์กนั่นเอง แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อมาจากไหนกันแน่

ลิงที่พบว่าติดเชื้อมีเพียง 20-30% เท่านั้นที่ออกอาการ คือ มีอาการตุ่มออกที่ผิวหนัง และอาการไม่รุนแรง ไม่มีลิงป่วยตาย และ หายจากอาการป่วยภายใน 4 สัปดาห์ ที่น่าสนใจคือ นักวิจัยสมัยนั้นแยกเชื้อไวรัสฝีดาษลิงโดยการฉีดเชื้อจากตุ่มแผลของลิงเข้าไปในไข่ไก่ฟัก และพบว่าไวรัสสามารถติดเชื้อและเพิ่มปริมาณในไข่ไก่ฟักได้ (จากภาพเป็นเซลล์ของเนื้อเยื่อตัวอ่อนไก่ในไข่ฟัก) และนำไวรัสไปเพิ่มปริมาณต่อในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ รวมถึงเซลล์มนุษย์ด้วย พอได้ไวรัสที่มากเพียงพอก็นำไปเปรียบเทียบกับไวรัสกลุ่ม Vaccinia หรือฝีดาษที่เกิดขึ้นในสัตว์อื่น เช่น วัว หรือม้า และพบว่าไวรัสดังกล่าวสามารถถูกจับได้ด้วยแอนติบอดีต่อ poxvirus เช่นเดียวกัน ใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะได้ภาพที่ถ่ายเห็นอนุภาคของไวรัสที่ชัดเจน

นอกจากนี้ยังโพสต์ข้อความอีกว่า “ไม่แนะนำให้นำ HIV กับฝีดาษลิงมาเทียบกัน เพราะการแพร่ใช้วิธีต่างกัน เช่น ถุงยางอนามัยป้องกัน HIV ได้ แต่กันฝีดาษลิงไม่ได้”

-- advertisement --