-- advertisement --

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่โรงเรียนอนุบาลศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือการส่งมอบภารกิจการบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับความเมตตาจาก พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ร่วมการประชุมหารือ โดยมีนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายอดิศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ที่ปรึกษาพิเศษนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผศ.ดร.พจนา สีมันตร ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ หัวหน้าส่วนราชการ และบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุมหารือ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทรงริเริ่มฟื้นฟูงานหัตถศิลป์หัตถกรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนกระทั่งก่อกำเนิดเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ” ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ มูลนิธิฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผ้า ทั้งผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ผ้าแพรวา รวมถึงศิลปาชีพด้านหัตถกรรม อาทิ เครื่องถมทอง ถมเงิน ซึ่งพระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้รักษาไว้ และเป็นการส่งเสริมการหารายได้เพิ่มให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีสถานที่แห่งการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่เป็นที่รู้จักของคนไทยและคนทั่วทั้งโลก คือ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีโรงเรียนอนุบาลศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสถานศึกษาที่จะทำให้เด็กเล็กได้มีองค์ความรู้ควบคู่ทักษะในการดำรงชีวิตขั้นต้น

โรงเรียนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนโรงเรียนที่เป็นที่บ่มเพาะนักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานไทยเราให้มีความรู้ความสามารถทั้งในด้านวิชาการและในด้านหัตถกรรมของไทย ซึ่งผลผลิตมวลรวมของศูนย์ศิลปาชีพฯ เป็นผลลัพธ์อันเป็นสิ่งที่ประเมินมูลค่ามิได้ เพราะก่อเกิดประโยชน์นานัปการให้กับประเทศชาติ แม้แต่รัฐบาลเองก็ได้นำแนวพระราชดำริดังกล่าวนี้มาส่งเสริม ต่อยอดจากหลักการของศูนย์ศิลปาชีพฯ มาเป็น “สินค้าโอทอป” โดยอาศัยภูมิปัญญา อาทิ งานหัตถกรรมประเภทต่าง ๆ ที่พระองค์ท่านทรงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในการทำให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น โดยพระองค์ท่านทรงเรียกว่า “ขาดทุนคือกำไร” แม้ว่าจะทำให้เสียทรัพย์สินเงินทอง แต่ถ้าพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รักษาภูมิปัญญาไว้ได้ สิ่งนี้คือกำไร กำไรที่ได้เห็นพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กำไรที่ได้เห็นครูช่างทั้งหลาย ทั้งบรมครูด้านงานหัตถกรรม ช่าง 10 หมู่ ได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น อันเป็นการสอดรับกับหลัก SDGs ของ UN ที่เริ่มต้นจากเด็กและต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการสืบทอดงานทางวัฒนธรรม ก่อเกิดเป็นความมั่นคง ที่มีรากฐานจากความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ในความเป็นชาติไทย” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า การส่งมอบภารกิจการบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนอนุบาลศูนย์ศิลปชีพบางไทรฯ ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในครั้งนี้ ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีการบูรณาการร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิจารณาดำเนินการตามรายการหารือกรณีส่งมอบภารกิจการบริหารจัดการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ด้าน 1. ด้านทรัพย์สิน เช่น อาคารเรียน อาคารประกอบ วัสดุ ครุภัณฑ์ สื่อการเรียนการสอน ฯลฯ โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จะส่งมอบหรืออุทิศให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อนำไปใช้ในกิจการเกี่ยวกับการจัดการศึกษา พร้อมจัดทำบัญชีรายการทรัพย์สิน และเงื่อนไขของการส่งมอบหรืออุทิศทรัพย์สินดังกล่าวให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มีผลตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้การบริหารจัดการศึกษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 2. ด้านการจัดการศึกษา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จะจัดทำรายละเอียดกรอบภารกิจการบริหารจัดการศึกษาส่งมอบให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดตั้งสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำเสนอสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และ 3.ด้านบุคลากร องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะพิจารณาให้เป็นไปตามนัยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการจัดการศึกษา ได้แก่ 1.เพิ่มพื้นที่ให้เด็กมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งร่างกาย สมอง อารมณ์ จิตใจ วินัย จากการเล่นผ่าน “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ให้เด็กอยู่กับธรรมชาติ เพราะการพัฒนาเด็กปฐมวัยถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคน ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพอนามัย ตลอดจนการพัฒนาทักษะ พัฒนาด้านจิตใจ การเข้าสังคม การสร้างความรู้รักสามัคคี 2.เด็กที่เข้าสู่วัยเรียนต้องได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยในห้องเรียนต้องเน้นการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ศีลธรรม และหน้าที่พลเมือง ให้เด็กเรียนรู้ 3 วิชาหลัก และมีวิชาเกี่ยวกับการดำรงชีวิต เช่น ทำอาหาร ซ่อมจักรยาน ตอกตะปู ขุดดิน ติดตา ตอนกิ่ง ปลูกต้นไม้ เลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ด เป็นต้น โดยเรามุ่งหวังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันให้โรงเรียนในสังกัดได้เป็นต้นแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2551 ความว่า…ความที่เขาซาบซึ้งเพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่ประเทศไทยบรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต ….เพราะตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์….อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน… 3. น้อมนำพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการส่งเสริมโภชนาการของเด็กเล็ก ทำให้ทุกโรงเรียนได้มีแปลงพืชผักสวนครัว เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เสริมเพิ่มเติมจากงบประมาณของทางราชการในเรื่องค่าอาหารกลางวันที่มีอย่างจำกัด เพราะเมื่อภายในพื้นที่โรงเรียนมีแหล่งอาหารเองแล้ว ก็จะทำให้นักเรียนได้รับสารอาหารจากแหล่งอาหารที่ปลอดภัยภายในโรงเรียน และ 4.ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อให้เด็กได้กินไข่ วันละ 2 ฟอง ทั้งในช่วงเช้าและอาหารมื้อกลางวัน เพราะไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูง ที่จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง “กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรามีหัวใจแห่งความจงรักภักดีที่เห็นแก่อนาคตประเทศชาติ และมีความตั้งใจในการน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระผู้พระราชทานพระราชดำริทำให้เกิดศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เพื่อบ่มเพาะและส่งเสริมการเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่กับโลกใบนี้ บริเวณพื้นที่อันเป็นมิ่งมงคลแห่งนี้ รวมทั้งมีความตั้งใจในการส่งเสริมให้โรงเรียนอนุบาลศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ได้เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ การพัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์กล่าวในช่วงท้าย

-- advertisement --