-- advertisement --

ผลประเมินผอ.สถานศึกษาผ่านฉลุย2.7พันคน

สพฐ.เผยผลวิเคราะห์ข้อดี-ข้อจำกัดทดลองงานระยะ1ปีคุ้มงบฯหรือไม่

วันที่ 28 ก.พ.2561 นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการคัดเลือกบุคคลและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา สังกัด สพฐ.ปี 2559 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งกำหนดให้ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต้องได้รับการประเมินผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานในหน้าที่ เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นเวลา1ปี โดย สพฐ.กำหนดองค์ประกอบ ตัวชี้วัด คะแนนการประเมินและวิธีการประเมิน ของผู้ได้รับการคัดเลือกและบรรจุแต่งตั้ง จำนวน2,877ราย 183 เขต

โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รายงานข้อมูลผู้ได้รับการประเมิน จำนวน 2,809 ราย 178 เขต/สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) มีผู้ผ่านการประเมิน 2,778ราย ไม่ผ่าน1 ราย อยู่ระหว่างการประเมิน 12 ราย เกษียณอายุราชการ 7 ราย เสียชีวิต 3 ราย ลาออก 1 ราย ขาดคุณสมบัติ 7 ราย

ทั้งนี้ สพท. ที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูล มี 5 เขต คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ขอนแก่น เขต1, สพป.ปทุมธานี เขต2, สพป.ลำปาง เขต1, สพป.ศรีสะเกษ เขต2 และสพป.สระบุรี เขต2

นายอัมพร กล่าวต่อว่า จากการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานเป็นเวลา 1 ปี พบว่าใช้งบประมาณในการประเมินค่อนข้างสูง ดังนั้น เพื่อเป็นการคำนึงถึงการใช้งบฯ อย่างคุ้มค่า สพฐ. จึงวิเคราะห์ข้อดีและข้อจำกัด ดังนี้ ข้อดี คือทำให้ผู้รับการประเมิน มีการวางแผนการปฏิบัติงาน นำไปสู่การปฏิบัติงานที่ชัดเจนตามข้อตกลง ทำให้มีเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ปรึกษา/พี่เลี้ยง กำกับ ดูแลให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง และสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทันเวลา มีความตระหนักในการทำงานแบบมีส่วนร่วม ระหว่างที่ปรึกษา/พี่เลี้ยง ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นแรงกระตุ้นและหาแนวทางการพัฒนาผลการปฏิบัติงานได้ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมและวิธีการทำงานที่มิได้มุ่งเพียงเรื่องประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือการวัดผลงานเท่านั้น และการประเมินสัมฤทธิ์ผลในการปฏิบัติงาน ยังสามารถนำไปปรับใช้งานบริหารบุคคลด้านอื่น ๆ เช่น การพิจารณาความดี ความชอบ เป็นต้น

ส่วนข้อจำกัด คือ องค์ประกอบตัวชี้วัดบางข้ออาจไม่เป็นธรรม เนื่องจากสถานศึกษาแต่ละแห่งมีความพร้อมของอุปกรณ์ สื่อสารเรียนรู้ ความพร้อมของนักเรียนที่แตกต่างกัน ผู้รับการประเมินบางคนไม่มีประสบการณ์บริหารงาน ต้องใช้เวลาปรับตัวและเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา/พี่เลี้ยง และคณะกรรมการการประเมินมีจำนวนหลายชุดส่งผลให้ใช้งบฯ จำนวนมาก

การทดลองงาน 1 ปี มีประโยชน์มากทำให้ผู้บริหารใหม่ ได้ออกแบบการบริหารโรงเรียนในอุดมคติ และนำไปทดลองใช้จริง เห็นปัญหา และได้เรียนรู้แก้ปัญหาจากพี่เลี้ยง ทำให้เห็นเทคนิคการทำงานที่สำเร็จ ทำให้เกิดคุณภาพในการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามเพื่อทบทวนถึงความจำเป็น ว่าควรต้องทดลองงาน ผอ.สถานศึกษา 1 ปี หรือไม่นั้น ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ผอ./รอง ผอ.สพท. ผู้บริหารสถานศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินดังกล่าว ซึ่งโดยรวมเห็นว่า ผู้รับการประเมิน มีความกระตือรือร้น พัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาสถานศึกษา มีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของ ผอ.สถานศึกษา ให้ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นหาก ก.ค.ศ.ยังกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการประเมินสัมฤทธิ์ผลในการปฏิบัติงาน 1 ปี สพฐ.ควรต้องกำหนดตัวชี้วัด คะแนนการประเมิน และวิธีการให้สอดคล้อง และสามารถดำเนินการได้”

นายอัมพร กล่าวและว่า ทั้งนี้ สพฐ.จะเสนอรายงานผลการประเมินดังกล่าวให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ. ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิจารณา ส่วนตำแหน่งที่ว่าง สพฐ.จะต้องสรรหาใหม่ต่อไป

-- advertisement --