-- advertisement --

 มทร.ธัญบุรี  จับมือ  เจเอสพี ฟาร์มา  เดินหน้าวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

“มทร.ธัญบุรี” จับมือ “เจเอสพี ฟาร์มา” ลงเอ็มโอยูเดินหน้าวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพิ่มทางเลือกแก่ผู้ป่วย

วันที่ 13 พ.ค. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับโรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือการศึกษาและวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย ร่วมมือในการพัฒนาสายพันธุ์ การทดลองเพาะปลูกเพื่อคัดสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทย การวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านการแพทย์ ไปจนถึงการผลิตเป็นยาสมุนไพร ที่สามารถนำออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ให้ประชาชนเข้าถึงได้จริง

โดยนายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเจเอสพีฯ กล่าวว่า ในส่วนของการผลิตกัญชาสู่ยารักษาโรค ถือว่าเป็นความสำคัญของการร่วมมือในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตยาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งมีบุคลากรแพทย์แผนไทย เภสัชกรแผนไทย เภสัชแผนปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา เพื่อขายในประเทศและเพื่อการส่งออก

นายสิทธิชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามความร่วมมือเรื่องการปลูกกัญชา บริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือในการให้ใช้พื้นที่ของโรงงานเป็นแปลงทดลองปลูกกัญชา ซึ่งเป็นพื้นที่ไว้สำหรับการพัฒนาสมุนไพร และกัญชา เพื่อทำยาแผนโบราณ 60 ไร่ โดยอาศัยองค์ความรู้จากต้นแบบของคณะเกษตร และ วิทยาลัยแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อีกทั้งมีความร่วมมือในการพัฒนาสายพันธุ์และหาปัจจัยในการปลูกที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้ได้สารสำคัญทางยา เช่น กระบวนการควบคุมความชื้น กระบวนการควบคุมอุณหภูมิและแสงแดด คาดว่าการลงทุนทำ Smart Farm เพื่อการปลูกกัญชา มีเป้าหมายผลิต ดอกกัญชาแห้งได้ 20 กิโลกรัมต่อเดือนในปีแรก เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบ ในการทำวิจัยยาสมุนไพร และสารสกัดบริสุทธิ์สูง ซึ่งจะคัดเลือก 5 ตำรับยาสมุนไพรสำหรับการทำการทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรมและ ทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลในเซลล์ และสัตว์ทดลอง

“ความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนการผลิตเป็นยาสมุนไพร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เกิดการร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชนที่นำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาผนึกกำลังเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการแพทย์ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เพราะหากในอนาคตมีการผลิตและวิจัยสกัดออกมาจนไม่มีผลข้างเคียง จะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง เนื่องจากเป็นยาที่ผลิตใช้เองโดยคนไทย อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ประเทศไทยขยายตลาดการส่งออกเพื่อหารายได้เข้าประเทศ” นายสิทธิชัย กล่าว

ด้านนายวิรัตน์ โหตระโวศยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่าขอบคุณบริษัทที่ให้ความไว้วางใจ ทางมหาวิทยาลัยมีนักวิจัย และคณาจารย์ที่มีประสิทธิภาพ โครงการดังกล่าวเป็นอีกความท้าทาย และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะทุ่มเทดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตเราพร้อมที่จะดำเนินการทุกเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะถือเป็นเป้าหมายของทางมหาวิทยาลัย

-- advertisement --