-- advertisement --

มทร.สุวรรณภูมิ ร้อยจุดเด่น สามเรือน พัฒนาเที่ยวถิ่นไทยยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)สุวรรณภูมิ เผยผลงาน “นวัตกรรมงานวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่” ซึ่งเป็นรูปแบบงานวิจัย ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวน 24 แห่ง นำไปใช้เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาจังหวัด

มทร.สุวรรณภูมิ ได้นำรูปแบบงานวิจัยดังกล่าวไปพัมนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ “ตำบลสามเรือน” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นี่มีของดีเป็นไฮไลท์มากมาย อาทิ การล่องเรือคลองโพธิ์ชมวิถีชีวิตริมน้ำ ชมสวนเห็ดตับเต่า ดูนกกระจาบเหลืองอ่อนทำรัง กินขนมไข่เหี้ยน้ำ ชิมเห็ดตับเต่า อาหารพื้นถิ่นในปิ่นโต ทำแร้วดักปลา ชมสวนกล้วยไม้ตัด และกำเพื่อไปสักการะหลวงพ่อแก้ววัดสามเรือน เป็นต้น

ดร.ธารนี นวัสนธี ผู้ช่วยคณบดีกำกับดูแลศูนย์วิจัยและนวัตกรรม คณะศิลปะศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ เปิดเผยถึงงานวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการท่องเที่ยวตำบลสามเรือนว่า เดิมที มทร.สุวรรณภูมิ ลงพื้นที่ตำบลสามเรือน เพื่อทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มาก่อน ซึ่งทำให้รู้จักพื้นที่นี้เป็นอย่างดี ต่อมาได้รับทุนนวัตกรรมงานวิจัยเชิงพื้นที่ จาก สกว.เมื่อปี 2558 ดำเนินโครงการในพื้นที่อยู่ 3-4 โครงการ เช่น งานวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูประเพณีโบราณของชุมชน, การสร้างมูลค่าเพิ่มให้เห็ดตับเต่าโดยการแปรรูป เป็นต้น ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้น ใช้กระบวนการงานวิจัยใหม่ที่ต้องเอาโจทย์ของพื้นที่เป็นตัวตั้ง

“เราเริ่มวิจัยจากกระบวนการหาโจทย์ ซึ่งต้องคุยกับชาวบ้านเพราะเขาเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง ย้อนกลับไปหมู่บ้านนี้ยังไม่มีเรื่องท่องเที่ยว จะมีก็แต่การมาดูงานการต่อเชื้อเห็ดตับเต่า ซึ่งเป็นเชิงธุรกิจ ส่วนที่เป็นไฮไลท์ ก็คือการจัดงานวันเห็ดตับเต่างามที่สามเรือน ซึ่งมี อบต.สามเรือน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ร่วมกับชาวบ้านจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา 4 ปี ก่อน แต่การจัดงาน 3 วัน ใน 1 ปี ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชาวบ้าน จึงเป็นที่มาของงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น สิ่งที่เขาอยากได้คือเรื่องการท่องเที่ยว ในขณะที่เขามีต้นทุนในเรื่องเห็ดตับเต่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มาระยะหลังเริ่มน้อยลงเพราะน้ำเริ่มเน่าเสียจากโรงงาน บ้านเรือนและการทำเกษตรกรรม เนื่องจากธรรมชาติของเห็ดตับเต่ามักขึ้นเฉพาะในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติค่อนข้างสูง น้ำต้องสะอาดดินต้องดีไม่มีสารเคมี

…ช่วงปีแรก ๆ ก็มีทั้งส่วนของการส่งเสริมการเพาะเห็ด ทำอย่างไรคลองโพธิ์จะกลับมาดีเหมือนเดิม เราก็ทำวิจัยเรื่องคุณภาพน้ำ พันธุ์ปลา ทำงานควบคู่กับชาวบ้าน ทำให้ชุมชนตื่นตัวและเกิดเป็นกลุ่มอนุรักษ์คลองโพธิ์ขึ้น พอทำไปสักระยะ เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าเห็ดเริ่มมีปริมาณมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำเรื่องการแปรรูป เอาความรู้ไปให้ชาวบ้าน ซึ่งต่างจากงานบริการวิชาการ ปกติ 12 เดือนที่เราทำวิจัยเราจะต้องพาชาวบ้านคิด พาทำ จนเขาเชื่อใจ ซึ่งในที่สุดก็เกิดเป็นกลุ่มแปรรูปขึ้น

จากงานวิจัยที่ มทร.สุวรรณภูมิ ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านในชุมชน และสร้างให้ชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยไม่ใช่เฉพาะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเท่านั้น แต่ยังสร้างความเป็นนักวิจัยในชุมชนด้วย ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและนำมาซึ่งการพัฒนาต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ เช่น อยากจะพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อให้มีคนมาเที่ยว สร้างรายได้ชุมชน ทำให้เกิดการค้นคว้าหาของดีของบ้านตัวเอง เอาข้อมูลมาแชร์กัน ทำให้นักวิจัยและชาวบ้านเองก็เพิ่งได้เห็นของดีในตำบลสามเรือน เกิดเป็นกิจกรรมล่องเรือ ชมทิ้งถ่วงที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นญาติกับหิ่งห้อย การค้นพบปราชญ์ชาวบ้านที่ทำแร้วดักปลา มีคนทำขนมไข่เหี้ยน้ำ เกิดแหล่งดูนกกระจาบ รวมถึงการฟื้นฟูประเพณีการอาบน้ำคืนเพ็ญ และเกิดกลุ่มที่พักในแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และนักสื่อความหมาย(ยุวมัคคุเทศก์)รองรับนักท่องเที่ยวในที่สุด

ขณะที่ ดร.วิจิตรา และ ดร.วชิรา เหลียวตระกูล สองอาจารย์นักวิจัยคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ทำงานวิจัยในพื้นที่ นั้นปีแรกเน้นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปีที่ 2 มุ่งยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้เรื่องสุขาภิบาล ทำอย่างไรให้อาหารปลอดภัย เรื่อง 5 ส. ส่วนปีที่ 3 ทำเรื่อง by-product จากตัวกระบวนการแปรรูป พวกน้ำทิ้งจากการลวกเห็ด การตัดแต่งตัวเห็ด ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกมาก

ด้านนางจันทร์ธนา แก้วลี เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนปฏิบัติงาน อบต.สามเรือน ในฐานะผู้ประสานงานโครงการวิจัยในพื้นที่ซึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาตลอด เปิดใจยอมรับว่า อบต.สามเรือน กับ มทร.สุวรรณภูมิ นั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2544 สิ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วง 3-4 ปี ที่มีงานวิจัยเชิงพื้นที่เข้ามา จากเดิมที่ชาวบ้านขอจาก อบต.จะเป็นพวกประปา ไฟฟ้า อยากได้ถนน ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่ตอนนี้ชาวบ้านเราอยากจะฝึกอาชีพ อยากพัฒนาตัวเอง

…เราเองก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ชาวบ้านเริ่มตื่นตัวเรื่องการพัฒนาอาชีพ เรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งทาง อบต.สามเรือน ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน

-- advertisement --