-- advertisement --

ยกร่าง7หลักสูตร สอนเด็กเอาตัวรอดเมื่อเผชิญภัย

เหตุการณ์ที่เยาวชนนักฟุตบอลเเละโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี กว่า 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ทำให้เรื่องการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติ สำหรับเด็กและเยาวชน กลายเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมากในสังคม

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การสอนให้เด็กและเยาวชน เตรียมการรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงการสอนให้เขารู้ถึงวิธีในการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็น ที่เราควรมีการบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน เพราะเราไม่สามารถรู้เลยว่าเด็กและเยาวชนจะพบเจอกับเหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ทางภัยพิบัติ ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร

ที่ผ่านมา สพฉ.ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิต่างๆ หน่วยงานของรัฐ รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อช่วยกันสร้างร่างหลักสูตรการการเรียนการสอนให้เด็กและเยาวชนรู้จักการเอาตัวรอด จากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งหลังจากการระดมความคิดเห็น ผ่านการทำ work shop กับหลากหลายหน่วยงาน สพฉ.ได้จัดทำร่างคู่มือต้นแบบ 7 หลักสูตร เพื่อให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้เนื้อหา และวิธีปฏิบัติจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินและภัยพิบัติต่างๆ

สำหรับร่างคู่มือต้นแบบ 7 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.การเอาตัวรอดจากการเดินเท้า ทั้งบนฟุตบาธและการข้ามถนนอย่างปลอดภัย เพื่อให้ตนเองปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอน เหมาะกับเด็กชั้น ป.1ขึ้นไป รวมถึงการขับขี่รถอย่างปลอดภัย สำหรับเด็กมัธยม ด้วย

2.การเรียนรู้ “โรคจิตเวช” เพื่อรับมือกับเรื่องภาวะซึมเศร้าและภาวะเครียด ที่เราจะพบเห็นเด็กๆ เครียดซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย เด็กๆ ควรได้เรียนรู้วิธีสังเกตตนเอง เฝ้าระวังตนเอง และหาทางออกให้กับตนเอง จากอาการเหล่านี้ได้

3.การรับมือกับภาวะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เด็กๆ ควรได้เรียนรู้อาการเบื้องต้นของโรคหลอดเลือดสมองอาการ ที่ทำให้เกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง จะต้องช่วยเหลือตนเองอย่างไร หรือช่วยเหลือคนที่มีอาการเหล่านี้ในเบื้องต้น เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ ในภายกี่ชั่วโมง

4.การเรียนรู้อาการโรคภาวะหัวใจขาดเลือด ต้องฝึกการสังเกตอาการ เช่น หากเด็กๆ เจ็บหน้าอก ใจสั่นเหมือนจะเป็นลม ต้องรู้ว่าอาการเหล่านี้เข้าข่ายโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ เด็กๆ ต้องเรียกคนให้มาช่วยได้อย่างไร รวมถึงการแจ้งขอความช่วยเหลือผ่าน สายด่วน 1669

5.การเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุอัคคีภัย เด็กๆ สามารถที่จะเรียนรู้การเอาตัวรอดจากการเหตุการณ์ไฟไหม้ต่างๆ ได้ หรือเหตุอุทกภัย เด็กๆ ต้องเอาตัวรอดจากการจมน้ำให้ได้ ต้องเรียนรู้หลักการในการช่วยเหลือคนที่ถูกต้อง เช่นการตะโกน โยน ยื่น ต้องฝึกลอยตัวในน้ำเพื่อรอความช่วยเหลือได้ หากตกน้ำหรือจมน้ำ และการแจ้งขอความช่วยเหลือผ่าน สายด่วน 1669

6.การทำ CPR การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นต้น ต้องให้เด็กๆ เรียนรู้วิธีการทำ CPR ให้เป็นทุกคน และเขาสามารถที่จะช่วยผู้อื่นด้วยการทำ CPR ได้ และ 7. การใช้งานเครื่องAED เบื้องต้น นี่คือสิ่งสำคัญที่เรากำลังพยายามผลักดันกับหลายหน่วยงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้เนื้อหาทั้งหมด 7 หลักสูตรเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว เหลือแค่การออกแบบสื่อการเรียนการสอน ให้เหมาะสมกับเด็กๆ ในแต่ละวัย และแต่ละชั้นเรียน

รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เด็กและเยาวชนต้องเรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยว ทั้งพื้นที่ภูเขา ทะเล หรือป่าอุทยาน ก็ต้องจัดให้มีองค์ความรู้ เพราะโดยส่วนตัวของเด็กและเยาวชน หรือประชาชนที่จะเข้าไปในพื้นที่ ไม่สามารถคาดคิดได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นการสอนให้เขามีเตรียมตัวล่วงหน้า เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องเรียนรู้ และปฏิบัติตัวทั้งการป้องกันและแก้ไข เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ เช่น หากเด็กๆ ไปท่องเที่ยวทางน้ำ ก็ต้องรู้วิธีสวมเสื้อชูชีพ ต้องรู้คุณสมบัติของชุดชูชีพว่าช่วยชีวิตได้อย่างไร หรือหากไปปีนเขา หรือไปเที่ยวถ้ำ จะต้องรู้ว่า 3 สิ่งที่จำเป็นมาก คือ ไฟฉายให้แสงสว่าง นกหวีดทำให้เกิดเสียงได้ และเชือกที่จะช่วยเหลือเขาได้ในหลายลักษณะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ในบทเรียน ก็จะมีความรู้และสามารถเตรียมวางแผนการเดินทางของเขาเอง และจะเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจนสามารถช่วยเหลือตนเอง และผู้อื่นได้ ที่สำคัญที่สุดคือเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องการขอความช่วยเหลือผ่าน สายด่วน 1669 ได้อีกด้วย

-- advertisement --