-- advertisement --

1 พฤษภาคม 2564 | โดย สมาคมประกันชีวิต | คอลัมน์ มุมสบายๆ สไตล์ประกันชีวิต

11

ในสถานการณ์วิกฤติโรคระบาด “โควิด-19” การมีประกันชีวิตและประกันสุขภาพ นับเป็นความอุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะมีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล หากต้องติดเชื้อและต้องเข้าพักรักษาตัว

จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 ระลอกใหม่ ได้สร้างความตื่นตระหนกและความยากลำบากให้กับพวกเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 2 พันรายอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้น ทำให้เห็นได้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษนี้ติดง่าย รวดเร็วและรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลไม่มีเตียงเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ในเครือของโรงพยาบาลขึ้น น

อย่างไรก็ตามในความยากลำบากนี้ ผู้ป่วยที่มีประกันสุขภาพจะมีความอุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ประกันสุขภาพนั้นให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากโรคไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม หรือ  Hospitel ในเครือของโรงพยาบาล

จะเห็นได้ว่าโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อสุขภาพอนามัยและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนผู้นำของประเทศก็ได้ยืนยันว่าทางออกทางเดียวที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น คือ การดูแลตัวเอง ไม่ไปสถานที่เสี่ยง และที่แออัด และการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด -19

แต่หลายต่อหลายคนยังคงมีคำถามถึงความปลอดภัยและความจำเป็นของการฉีดวัคซีนดังกล่าว ซึ่ง ศ.นพ.ยง ภู่ วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ความรู้ถึงวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ดังนี้

“วัคซีนที่มาเมืองไทยแล้ว มี 2 ยี่ห้อคือ วัคซีนซีโนแวค (Sinovac) วัคซีนจากแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) โดยมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน ป้องกันความรุนแรง ป้องกันไม่ให้เสียชีวิตจากโรค ดังนั้น หากมีวัคซีนก็จะผ่อนคลายเพิ่มขึ้น ส่วนที่หลายคนบอกว่าควรฉีดหรือไม่นั้น คุณหมอยืนยันว่าไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะนอกจากป้องกันตัวเราเองแล้ว ยังป้องกันคนรอบข้างเราด้วย

เมื่อป้องกันตัวเรา ป้องกันเขา เมื่อฉีดมากๆ ก็จะทำให้โรคลดลง และไม่มีโรคนี้ได้ จึงขอเชิญชวนให้ฉีดวัคซีน เป็นการฉีดวัคซีนเพื่อชาติ เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเรากลับมา เศรษฐกิจก็จะได้ฟื้นกลับมา สำหรับ ซิโนแวค  เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี ป้องกันความรุนแรงของโรค อย่างอาการน้อยที่เรียกว่า เกรด 3 คือ ป่วยแล้วต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ แม้จะเป็นผู้ป่วยนอกสามารถป้องกันได้ 78% แต่หากป้องกันการป่วยที่ต้องเข้า รพ. สามารถป้องกันได้ 100% แต่หากป่วยเล็กน้อยตั้งแต่เกรด 2 คือ ติดเชื้อแต่ไม่ต้องดูแลทางการแพทย์ก็จะลดลงเหลือประมาณ 50% จึงถือว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้อย่างดี

ส่วนที่คำถามว่า เพราะอะไรต้องฉีดอายุ 18-59 ปี ต้องแจงว่า เพราะวัคซีนตัวนี้เป็นตัวใหม่ และการศึกษาระยะที่ 1 ,2 และ 3 ที่ศึกษาในคนมีการศึกษาคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 3% ไม่ถึง 4% ดังนั้น หากให้กับผู้อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปผลในการป้องกันโรคเป็นอย่างไร อาการแทรกซ้อนเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นข้อห้าม แต่ขอให้รอการศึกษาสักนิดนึงประมาณ 1-2 เดือนอาจมีข้อมูลมากขึ้น และค่อยมาปรับอีกครั้ง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรี อายุเกิน 60 ปีแล้ว จึงต้องรอ เพื่อเป็นไปตามกฎเกณฑ์เป็นหลักก่อน

ส่วนอาการแทรกซ้อนน่ากลัวหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าจากการฉีดวัคซีนไป 220 ล้านโดสไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีน การฉีดเป็นล้านๆ โดสมีคนเสียชีวิตหลังฉีดไปแล้วหรือไม่ ต้องบอกว่า มี แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง อย่างในสหรัฐ ฉีดไป 13 ล้านคนใน 1 เดือน โดยแพ้อย่างรุนแรงทันทีพบ 5 ในล้านคน แต่ไม่มีใครเสียชีวิต และใน 13 ล้านคนมีการเสียชีวิต 113 คน แต่สืบสวนสาเหตุอย่างละเอียด ทั้งผ่าศพ ฯลฯ พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จากโรคประจำตัวเดิม

ส่วนอาการแพ้เล็กน้อยย่อมมี ทั้งการเจ็บบริเวณฉีด มีไข้เล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ ส่วนที่ว่าต้องจำเป็นตรวจภูมิต้านทานก่อนและหลังฉีดหรือไม่ ต้องบอกว่า ขณะนี้ไม่ได้จำเป็น ประชาชนไม่ต้องดิ้นรนไปตรวจภูมิฯ เพราะระดับงานวิจัยจะมีทำอยู่แล้ว สำหรับอายุ 90 ปีฉีดได้หรือไม่ ไม่มีข้อแม้ เพราะวัคซีนแอสตราฯ สามารถฉีดได้ แต่วัคซีนซิโนแวคยังไม่มีข้อมูลเกิน 60 ปี ขอรอข้อมูลก่อน 

ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว  ยังสามารถกลับมาติดเชื้อได้อีก  แต่ส่วนใหญ่จะอาการน้อยลง ลดความรุนแรงเข้า รพ. และเสียชีวิต ถึงป่วยอาการก็จะน้อยลง เหลือแค่หวัดธรรมดา และหากเป็นโควิดแล้วต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ จากข้อมูล ณ ขณะนี้ เมื่อเป็นโควิดแล้ว ภูมิต้านทานสร้างขึ้นมา แต่ไม่ได้อยู่ตลอดไป จากการศึกษาเมื่อเป็นโควิดหลัง 3 เดือน เมื่อตรวจภูมิต้านทานจำนวน 300 คน พบว่า 90% มีภูมิต้านทานอยู่ และจะค่อยๆ ลดลงไปหลัง 6 เดือน ดังนั้น เมื่อเป็นโควิดแล้ว และอยากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขอให้ไปฉีดหลังเป็นแล้วหลัง 6 เดือนขึ้นไป ส่วนกรณีหากฉีดวัคซีนครบแล้ว จำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกหรือไม่ ก็ต้องรอการศึกษาอีกสักระยะว่า หากภูมิตกลงอาจต้องกระตุ้นอีก แต่ขอรอข้อมูลก่อน

การระบาดของโรคครั้งนี้ ถือเป็นการระบาดใหญ่ในรอบ 100 ปี ตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดใหญ่เมื่อปี 2461 ซึ่งขณะนั้นใช้เวลา 2 ปีถึงจะสงบ อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งนี้ก็คงจะเป็นไข้หวัดใหญ่สเปน หากไม่ทำอะไรเลยประชากรอาจเสียชีวิตประมาณ 1% และจะใช้เวลา 2 ปีถึงจะสงบ แน่นอนว่า เรายอมรับไม่ได้ จึงต้องมีมาตรการต่างๆ มากมาย จนสามารถกดการระบาด ให้การสูญเสียน้อยที่สุด และสิ่งที่จะยุติได้คงหนีไม่พ้นวัคซีน เพราะจะทำให้ทุกคนมีภูมิ และเมื่อมีการฉีดวัคซีนแล้วคิดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปีจึงจะมีภูมิ”

ดังนั้น หากท่านใดที่มีประกันสุขภาพแล้วประสงค์จะฉีดวัคซีนแต่เกรงผลข้างเคียง จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ท่านสามารถตรวจสอบสิทธิและเงื่อนไขกรมธรรม์ว่ามีความคุ้มครองในส่วนนี้หรือไม่ โดยโทรสอบถามไปยังบริษัทที่รับประกันภัยโดยตรง เนื่องจากแต่ละแบบกรมธรรม์มีเงื่อนไข และข้อยกเว้นความคุ้มครองที่แตกต่างกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-- advertisement --