-- advertisement --

ยูเนสโกชมไทยแก้ปัญหาการศึกษานอกระบบชายแดนใต้

ยูเนสโกชมไทยแก้การศึกษานอกระบบชายแดนใต้ ชูแนวทางพิเศษแบบ“ประชารัฐ”ช่วยเด็กจนจบขั้นพื้นฐาน

เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ และหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้ร่วมพิธีเปิดโครงการรายงานผลการดำเนินการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียน ที่อยู่นอกระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อสาธารณชน ณ โรงแรมเซาท์เทิร์น วิว ปัตตานี จ.ปัตตานี

โดยนายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การยูเนสโก กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือว่าไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน เพราะมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริริเริ่มการส่งเสริมการศึกษาให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะบริเวณชายแดน และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงสืบสานพระราชปณิธานโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ไทยยังเป็นผู้นำในการยกร่างปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนตกหล่น ซึ่งปฏิญญาฉบับนี้ได้รับการลงนามและรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อปี 2550 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นายอิชิโร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรตกหล่นทางการศึกษา ในภูมิภาคอาเซียนมีมากถึง 4.1 ล้านคน จำนวนนี้เป็นเพียงการประมาณการของรัฐบาลเท่านั้น เชื่อว่าหากสำรวจอย่างจริงจังคงมีจำนวนสูงกว่านี้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องมีความร่วมมือในการให้การศึกษาแก่เด็กตกหล่นร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ถือว่าความพยายามแก้ปัญหาเด็กตกหล่นของไทยตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา สอดคล้องและเป็นไปตามปฏิญญาอาเซียน ปี 2550 จึงควรเผยแพร่ผลความสำเร็จให้ทั่วโลกรับรู้ และหวังว่าจะมีการขยายผลการดำเนินงานไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศไทย รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย

“ความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าต่อจากนี้ คือการช่วยให้เด็กคงอยู่ในระบบการศึกษา จนสำเร็จการศึกษาได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสนับสนุนเด็กอีก 40% ให้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งในมุมมองของสหประชาชาติ ในประเด็นด้านการศึกษาในภูมิภาคนี้ คือความสำคัญอยู่ที่ครู ที่ได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือจากทุกภาคส่วน และหากจะมองย้อนกลับไปในอดีตกว่า 40 ปี เมื่อเราอยู่ในโรงเรียน หากไม่ชอบครู เราก็จะไม่มีความสนใจที่จะเรียน ดังนั้น ความไว้วางใจต่อครูจึงเป็นสิ่งสำคัญ อาทิ ครู กศน.ที่เข้าถึงประชาชนทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน เพราะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ส่วนครู สพฐ. และหน่วยงานด้านการศึกษา ก็มีความเข้าใจดีถึงบทบาทในการช่วยผลักดันเด็ก ทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะเรียนในระบบจนจบการศึกษาได้”

ผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก ยังย้ำถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กออกจากระบบการศึกษา เพราะต้องการช่วยพ่อแม่ทำงาน และจากประสบการณ์ที่ได้คุยกับเด็ก กศน.บางส่วนก็รู้สึกอาย และไม่ต้องการไปเรียน เพราะหากไปเรียนจะไม่ได้ช่วยทำงาน ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จะต้องร่วมหาแนวทางสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษต่อไป ในรูปแบบความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบประชารัฐ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือและให้อนาคตแก่พวกเขาในอีก 20 ปีข้างหน้า

-- advertisement --