-- advertisement --
ภาพจาก Bni Online

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 สำนักข่าว Development Media Group รายงานว่า เฉพาะรัฐอาระกันเพียงแห่งเดียวในประเทศพม่า พบว่ามีโรงเรียนราว 2,300 แห่ง จากทั้งหมด 2,830 แห่ง ใน 14 เมืองของรัฐอาระกัน ต้องปิดเรียนชั่วคราว อันเป็นผลมาจากสงครามระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังอาระกัน (Arakan Army หรือAA)

ทั้งนี้โรงเรียนที่ถูกปิดเรียนชั่วคราวได้แก่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเมืองเพ้าก์ตอว์ มรัคอู เมืองรัมรี เมืองโพนนายุ้น เมืองเจ้าก์ทอว์ เมืองมินบยา เป็นต้น นอกจากนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ในเมืองเจ้าก์ผิ่ว เมืองต่องอัพ เมืองมะเยโบน เมืองแอ่น เมืองราทีดอง เมืองบูทีดอง เมืองมงดอว์และเมืองชิตต่วยก็ถูกสั่งปิดเรียนชั่วคราวด้วยเช่นกัน

ครูรายหนึ่งจากเมืองเพ้าก์ตอว์ เปิดเผยว่า เหตุผลที่โรงเรียนถูกสั่งปิดก็เพราะความไม่มีเสถียรภาพในพื้นที่ และการสอบที่จะมาถึงก็ยังไม่มีความแน่นอน หากนักเรียนไม่ผ่านการทดสอบในชั้นเรียนในปีการศึกษานี้ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการศึกษาของพวกเขา และมีความเสี่ยงที่เด็กบางคนอาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษา

จากข้อมูลของสำนักงานการศึกษาในรัฐอาระกันพบว่า ในเมืองเพ้าก์ตอว์เพียงแห่งเดียว ซึ่งมีสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 186 แห่ง มีเพียงโรงเรียนไม่กี่แห่งรอบๆเกาะเม็งกูเท่านั้นที่ยังสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ขณะที่ในเมืองมรัคอู ซึ่งสงครามระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกันเกิดขึ้นอย่างรุนแรงนั้น ประชาชนเกือบทั้งหมดในพื้นที่ได้อพยพออกจากพื้นที่ซึ่งก็ทำให้การศึกษาของเด็กๆในพื้นที่ก็ต้องหยุดชะงักไปด้วย โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 244 แห่งในเมืองมรัคอู ถูกปิดเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบ

“ในฐานะคนที่ต้องพลัดถิ่นจากสงคราม เราไม่แน่ใจว่าความทุกข์ทรมานของเราจะคงอยู่อีกนานแค่ไหน ในอดีตโรงเรียนถูกปิด เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดและการเมือง ฉันหวังว่า จะไม่เกิดความเสียหายต่อการศึกษาของเด็กๆ” แม่รายหนึ่งเปิดเผยกับสื่อ Development Media Group

แม้ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการในรัฐอาระกันจะมีคำสั่งให้โรงเรียนทั้งหมดในรัฐอาระกันกลับมาเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ แต่โรงเรียนใน 6 เมืองจำเป็นต้องปิดการเรียนการสอนต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปลอดภัยและสถานการณ์สงคราม เช่นเดียวกันโรงเรียนที่เหลือในอีก 8 เมืองก็ต้องปิดการเรียนการสอนในเวลาต่อมาด้วยเหตุผลเดียวกัน

“ในระหว่างการสู้รบกัน ทุกคนต้องหนีเพื่อความปลอดภัย โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ถูกปิด คงจะดีไม่น้อย ถ้าหน่วยงานด้านการศึกษาสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อการศึกษาของเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม” ผู้ปกครองรายหนึ่งจากเมืองรัมรี กล่าว โดยข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการในรัฐอาระกันพบว่า ในรัฐอาระกันนั้นมีโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่า 3,100 แห่ง รองรับนักเรียนได้ทั้งหมด 534,700 คนในปีการศึกษาปัจจุบัน
ด้านองค์การยูนิเซฟประจำพม่า เปิดเผยว่า เนื่องจากความขัดแย้งทางทหาร ทำให้มีเด็กมากกว่า 4 ล้านคนในพม่าถูกลิดรอนสิทธิทางการศึกษาและกลายเป็นเป้าหมายในความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กในพม่า โดยยูนิเซฟยังเตือนด้วยว่า การหยุดชะงักทางการศึกษาไม่เพียงแต่ขัดขวางการเรียนรู้และแรงบันดาลใจของเด็กเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอีกด้วย

ส่วนสถานการณ์การสู้รบในรัฐอาระกันล่าสุด กองทัพอาระกันระบุว่า เตรียมที่จะกำจัดกองทัพพม่าในเมืองปะแล็ตวา รัฐชิน ภายในสัปดาห์นี้และจะยึดครองเมืองแห่งนี้ให้ได้สำเร็จ ซึ่งกองทัพอาระกันยังคงสามารถยึดฐานทหารพม่าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะแต่ในรัฐอาระกันเท่านั้น แต่รวมถึงในรัฐชินด้วย

สำนักข่าวท้องถิ่น Khonumthung News รายงานว่า การปะทะกันในเมืองปะแล็ตวา เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทหารพม่ากำลังพล 150 นาย ตัดสินใจทิ้งฐานทัพและข้ามไปยังรัฐมิโซรัม ฝั่งประเทศอินเดีย ขณะที่สำนักข่าว Irrawaddy ระบุว่า กองทัพอาระกันสามารถยึดฐานทหารของกองทัพพม่าในรัฐอาระกันได้ราว 150 แห่งแล้ว หลังจากที่เปิดฉากรบกันอีกครั้ง

-- advertisement --