-- advertisement --

รายงานพิเศษ I ของขวัญปีใหม่ ล้างบางเน็ตผี MOENet

วารินทร์ พรหมคุณ

ของขวัญปีใหม่ ล้างบางเน็ตผี MOENet
​ก่อนติด Hi-Speed Internet ในโรงเรียน

​ต้อนรับศักราชใหม่ 2561 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดโครงการสำคัญเพื่อเป็นของขวัญมอบให้แก่นักเรียน ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ด้วยการติดตั้ง Hi-Speed Internet ในสถานศึกษาทั่วประเทศ

​จากปัญหาการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ รวดเร็ว ฉับไวทันสถานการณ์ต่างๆ ระบบอินเตอร์เน็ต สัญญาณเต็ม 100% แรงและเร็วมีส่วนช่วยได้มาก แต่ทว่าเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่ ศธ.ดำเนินการและเชื่อมต่อไปยังโรงเรียนนั้น มีอยู่สองเครือข่ายคือ MOENet และ UniNet พบว่าประสิทธิภาพยังไม่ดีพอและไม่ใช่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

​ทั้งนี้ ระบบอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่ที่โรงเรียนใช้ความเร็วอยู่ที่ประมาณ 20-30เมกะไบต์ แต่เป้าหมายคือ ต้องการให้โรงเรียนมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงถึงระดับ100 เมกะไบต์ ซึ่งหลักการของการติดตั้ง Hi-Speed Internet ในโรงเรียน ศธ.มีนโยบายให้โรงเรียนเลือกใช้เครือข่ายผู้ให้บริการเองตามความเหมาะสมของโรงเรียนและพื้นที่ด้วย เพราะแต่ละพื้นที่จะใช้เครือข่ายต่างๆกัน เช่น พื้นที่ภูเขาต้องใช้ระบบดาวเทียม หรือไฟเบอร์ออฟติค เป็นต้น

​ที่น่าสนใจกว่านั้น คือทันทีที่นพ.ธีระเกียรติ เจิรญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาที่ จ.สุโขทัย พบว่า เครือข่าย MoeNet ที่ศธ.ใช้อยู่นี้เป็น “เน็ตผี” ​MOENet ไม่มีตัวตน ไม่มีการทำสัญญา ไม่มีเป้าหมายการบริหารจัดการ ​แต่มีเงินงบประมาณจากรัฐ ลงไปอุดหนุน ทำกันเป็นกระบวนการ นานกว่า 20 ปี!!!

​ย้อนอดีตเมื่อ 20 กว่าปี เครือข่ายอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย มีการพัฒนามาจากเครือข่ายมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อเครือข่ายไทยสาร (THAISAN : The Thai Social/Scientific,Academic and Research Network) ในสมัยนั้นยังเป็นสายทองแดงไม่ใช่สายใยแก้ว เครือข่ายไทยสาร ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยสถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ ได้ต่อเชื่อมเข้าสู่อินเตอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ในเดือนกันยายน ปี 2535 จุดแรกของการเชื่อมต่อสัญญาณ คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีถัดมาได้ต่อเชื่อมต่อที่ NECTEC ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นจุดที่สอง

​และเมื่อปี 2538 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศธ. ได้ต่อเชื่อมเครือข่ายเข้ากับ NECTEC ภายใต้ชื่อเครื่องemisc.moe.go.thและเรียกเครือข่ายของ ศธ.ว่า MOENet (เอ็ม-โอ-อี เน็ต) เพื่อเปิดบริการแก่หน่วยงานของ ศธ.ที่ความเร็ว 19.2K และมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ

​โดยใน ปี 2540 เครือข่าย MOENet ได้เปลี่ยนช่องทางการสื่อสาร จาก NECTECมาเชื่อมโยงกับภาคเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อประสิทธิภาพ และการบริการที่ดีกว่า ที่ความเร็ว 64Kและขยายเครือข่าย MOENet ความเร็วการสื่อสารเป็น 256 Kbps จากนั้นในปี 2542 เครือข่าย MOENet ได้เพิ่มความเร็วการสื่อสาร เพื่อให้รองรับหน่วยงานของ ศธ. ที่ความเร็ว 512 Kbps และปัจจุบันเครือข่าย MOENet มีช่องทางการสื่อสารเชื่อมโยงไปยังศูนย์บริการอินเตอร์เน็ต ที่ความเร็ว 2Mbps และขยายไปยังสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ​

​การที่ นพ.ธีระเกียรติ ประกาศไม่ใช้เครือข่าย MOENet เพราะพบความไม่ชอบมาพากล ​สิ่งที่ นพ.ธีระเกียรติ พบคือปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ ใช้บริการระบบอินเตอร์เน็ตซ้ำซ้อน ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART TELECOM, AIS และ3BB) รวมถึงยังมี MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการ เพราะไม่มีตัวตน แต่ MOENet ไปซื้อบริการสัญญาณจากเครือข่ายจากเอกชน แล้วนำมาปล่อยสัญญาณต่อให้สถานศึกษา และปล่อยแบบกะปริดกะปรอย ซึ่งสถานศึกษาต้องเสียค่าใช้บริการในส่วนนี้

​ดังนั้นจะต้องไม่มี MOENet ​และให้อำนาจการซื้อบริการอินเตอร์เน็ตอยู่ในมือผู้บริหารสถานศึกษา ที่จะเลือกใช้อินเตอร์เน็ตจากเครือข่ายที่ดีที่สุด เป็นของตนเอง โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี2561 เป็นต้นไป ​

​“ศธ.จะไม่ใช้สัญญาณ MOENetซึ่งที่ผ่านมา MOENet ไม่มีตัวตน ไม่ถือเป็นผู้ให้บริการ แต่ไปซื้อสัญญาณจากเครือข่ายจากเอกชน แล้วนำมาปล่อยสัญญาณต่อให้สถานศึกษา ซึ่งสาเหตุที่จะไม่ให้มีการใช้สัญญาณ อินเตอร์เน็ตผ่านช่องทางนี้ ได้ตรวจพบว่า มีความไม่ชอบมาพากล ในเรื่องค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตแต่ละเดือนของสถานศึกษา เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต้องจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตให้ MOENet ศูนย์การเรียนรู้เดือนละ 5,000 บาท ซึ่งแพงกว่าปกติ และแต่ละแห่งก็ไม่มีสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง เห็นชัดเจนว่าไม่ชอบมาพากล และยังมีอีกหลายเรื่องที่กำลังตรวจสอบอยู่

​แต่ที่แน่ ๆ ไม่มีใครรู้เรื่อง ไม่มีใครรู้ว่า MOENet ไม่ใช่ผู้ให้บริการ แต่ ศธ.ไปซื้อสัญญาณจากเอกชน ซึ่งไม่รู้ไอ้โม่งที่ไหนซื้อ ต้องตรวจสอบว่าเกิดมาได้อย่างไร เป็นเพราะความไม่รู้จริง ๆ หรือเพราะความไม่ใส่ใจ หรือเพราะอะไร ที่ ศธ.ต้องจ่ายค่าเช่าเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตรายนี้ถึง เดือนละ 400,000 บาท เป็นตัวเลขที่ผมตกใจ เพราะถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับคุณภาพของการใช้งาน” นพ.ธีระเกียรติ ตั้งคำถาม

​…พูดไปใครจะเชื่อ 20 ปีที่ไม่มีการทำสัญญากับ ศธ.อย่างชัดเจน ไม่มีเป้าหมายแต่ละปีว่าจะทำหรือพัฒนาอะไรบ้าง เบิกเงินไปจำนวนเท่าไหร่ก็ไม่ชัดเจน ได้งบประมาณก็ทำตามงบประมาณที่ได้มา โดยไม่มีสัญญาใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนรัฐเป็นผู้ลงทุนให้เอกชนแห่งนี้ขยายงานโดยไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเองสักบาท แล้วเอางานมาขายคืนให้กับ ศธ.ต่อ แล้วใครจะเป็นผู้ผิดชอบเงินที่เสียไป ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ก็กว่า 20ปีแล้วผ่านมากี่ยุค กี่รัฐบาล

​อย่างไรก็ตาม จะรื้อออกเลยทันทีตอนนี้คงไม่ได้ เพราะมีหลายโรงเรียนไม่มี UniNet (ยู-นิ เน็ต) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้นจะไปรื้อเมนสายหลักก็เป็นเรื่องใหญ่ ก็ต้องมาดูกันว่าสายเมนไหนจำเป็น ก็ต้องเช่าต่อ และต้องทำสัญญากันอย่างรัดกุม ในนามใคร หน่วยงานไหน และหากโรงเรียนใดจะใช้ MOENet ต่อก็สามารถใช้ได้ แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่ามีความจำเป็นอย่างไร???

​งานนี้เท่ากับว่าเป็นการประกาศล้มกระดาน MOENet เครือข่ายอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่
​เชื่อเลยว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะต้องเต้นผางๆ วิ่งวุ่นกันฝุ่นตลบ เพราะเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล
​เริ่มต้นปีด้วยการตามล้างตามเช็ด เพราะรัฐบาลทหาร คสช.ไม่เอาไว้แน่

-- advertisement --