-- advertisement --

รายงานพิเศษ I มหากาพย์  อะควาเรียมหอยสังข์ หมกเม็ด 10 ปี สร้างไม่เสร็จ

วารินทร์ พรหมคุณ

มหากาพย์”อะควาเรียมหอยสังข์”หมกเม็ด10ปีสร้างไม่เสร็จ

จะเรียกว่าเป็นมหากาพย์ก็ว่าได้ กับโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออะควาเรียม รูปหอยสังข์พันปี ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ซึ่งเจ้าของโครงการ คือ สำนักงานกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2554 ในวงเงินประมาณ 839 ล้านบาท

แต่จนถึงขณะนี้ เป็นเวลา 10 ปีแล้ว การดำเนินการโครงการกลับยังไม่แล้วเสร็จ ซ้ำร้าย คือมีรายงานพบว่ามีการใช้งบประมาณก่อสร้างไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านบาท จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะเจ้าของโครงการคือ สอศ. อยู่ในส่วนกลาง ทำให้ไม่มีบุคคลใดทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงว่า เหตุใดโครงการนี้ จึงถูกดองและปล่อยทิ้งร้าง และยังไม่มีทีท่าว่าการก่อสร้างเสร็จเมื่อไร

…โครงสร้างที่ตั้งตระหง่าน ทิ่มแทงตาและสร้างความเคลือบแคลงแก่คนสงขลามานาน

โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออะควาเรียม แห่งนี้ เป็นการนำผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา มาปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมในส่วนของงานศึกษาค้นคว้า และทดลองเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของ “วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์” รวมทั้งสนับสนุนร่วมมือ อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพันธุ์ไม้น้ำ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์น้ำ เป็นแหล่งทัศนศึกษาของชาวไทย และต่างประเทศ ที่เดินทางมา จ.สงขลา

ว่ากันว่าคนต้นเรื่องนี้ คือนายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ สมัยเป็น ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เมื่อปี 2536-2537 ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) (นับแต่ 1ต.ค.2546 ถึง30ก.ย.2551) ก็ได้เริ่มทำสัญญาจ้างผู้รับเหมาสร้างอะควาเรียม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2551 ในสมัย ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็น รมว.ศึกษาธิการ

นายวีระศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่าในฐานะผู้ว่าจ้างก่อสร้างอะควาเรียม ตามโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลาขณะนั้น ในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เมื่อปี 2436-2537 ได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา โดยก่อสร้างเป็น “รูปหอยสังข์” เพราะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสงขลา และถือเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามด้วย ซึ่งจุดประสงค์ของการก่อสร้างอาคาร ก็เพื่อจัดแสดงพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ มีโรงสูบน้ำและระบบกรองน้ำ ถังพักน้ำ บ่อสำหรับเลี้ยงและอนุบาลสัตว์น้ำ บ่อสำหรับรักษาสัตว์น้ำที่เจ็บป่วย ห้องแสดงนิทรรศการ ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการต่างๆ ห้องเก็บและเตรียมอาหารสัตว์ ระบบระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ระบบไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ปลูกป่าชายเลนและทางเดิน สะพานเทียบเรือ โรงเก็บเรือและคานขึ้นเรือพร้อมเรือสำหรับออกทำการวิจัยรวบรวมและลำเลียงตัวอย่างสัตว์น้ำ ปรับปรุงพื้นที่ ถนน ทางเท้า ที่จอดรถยนต์ และจัดภูมิทัศน์

โดยมีการกำหนดสเปก โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีอธิบดีกรมการประมงในสมัยนั้นเป็นประธาน โดยเป็นงบประมาณผูกพัน 4 ปี จำนวนเงิน 839 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จเต็มตามโครงการ และให้แล้วเสร็จในปี 2554 แต่ที่ต้องจ่ายล่วงหน้าผู้รับเหมา 125 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2551 มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เฉพาะกิจ ให้จ่ายเงินล่วงหน้าได้ 15% เพื่อให้คู่สัญญา หรือผู้รับจ้าง ทำงานได้คล่องตัว ในการก่อสร้าง และยืนยันว่าการดำเนินการสมัยนั้น ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบราชการทุกประการ

นายวีระศักดิ์ ระบุว่าก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ในปี 2551 ผู้รับเหมาได้มาขอแก้ไขสัญญาแบบรูปรายการ โดยอ้างว่าแบบไม่ถูกต้อง แต่ตนไม่ยอมให้มีการแก้ไข เพราะก่อนทำสัญญาคณะกรรมการฯได้ตรวจสอบแบบและตกลงกันเรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งเกษียณออกมา ซึ่งเรื่องนี้ผมอยากให้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะตอนนี้คนไม่รู้ก็พูดไปเรื่อย ดึงผมเข้าเข้าไปเกี่ยวข้อง คงต้องตรวจสอบว่าหลังที่ผมเกษียณออกมาแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

ทั้งนี้ในระหว่างเริ่มดำเนินการโครงการนั้น ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ช่วงปี 2546-2552 คือ ดร.มงคลชัย สมอุดร ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานด้านอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็น “ผู้ควบคุมงาน”

“ผมทราบว่ามีปัญหาข้อขัดแย้งที่ผู้รับจ้างกล่าวอ้าง คือ เรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรม กับแบบวิศวกรรมมีความขัดแย้งกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างบอกว่าเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ปกติในการเขียนแบบก่อสร้าง โดยในเรื่องการเขียนแบบก่อสร้างผู้รับจ้างอ้างว่าแบบมีความไม่ความชัดเจน มีการทับซ้อนของฐานราก จึงต้องขอแก้ไขแบบรูปรายการ ขณะนั้นคณะกรรมการฯที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ประชุมเพื่อหารือพร้อมกัน และให้ความเห็นว่า แบบก่อสร้างนี้ทางคณะกรรมการผู้ออกแบบได้มีการชี้แจงในวันที่ชี้สถานที่ พร้อมมีการอธิบายแบบรูปรายการอย่างละเอียดแล้ว และผู้รับจ้างก็ได้มีการซักถามคณะกรรมการออกแบบ ซึ่งคณะกรรมการออกแบบก็ได้ทำการชี้แจงแบบฯดังกล่าวไปอย่างครบถ้วนทุกประการ โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆในทุกรายการก่อสร้างแล้ว ผู้รับจ้างเองก็ยอมรับในแบบรูปฯ นั้น จึงถือว่าแบบรูปรายการทั้งหมดนั้นถูกต้องทุกประการ เพียงพอที่จะดำเนินการก่อสร้างได้

ดังนั้น เมื่อผู้รับจ้างขอให้มีการแก้ไขแบบรูปรายการดังกล่าว คณะกรรมการฯ ในขณะนั้นจึงไม่ยอมให้มีการแก้ไขแต่อย่างใด จนกระทั่งผมถูกย้ายออกจาก ตำแหน่ง ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ มาอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2552 จากนั้นผมก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้อีกเลย”

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าหลังจากนั้นมีการแก้ไขแบบรูปรายการกันถึง 6 ครั้ง ผ่าน “เลขาธิการ กอศ.” อีก 3 ราย

หนึ่งในนั้น นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา ซึ่งรับตำแหน่ง เลขาธิการ กอศ. ปี 2552-2553 กล่าวว่า ตนเข้ามาเป็น เลขาธิการ กอศ.ได้เพียง 7 เดือน ในสมัยตนมีการแก้ไขสัญญาก่อสร้าง 1 ครั้ง ในช่วงงวดงานที่ 2 โดยเป็นการแก้ไขสัญญา เพื่อแก้ปัญหาให้การก่อสร้างเดินต่อไปได้ แต่ขณะนั้นการอนุมัติแก้ไขสัญญา ต้องเสนอให้ ให้คณะกรรมการซึ่งมี “รัฐมนตรี” ในช่วงนั้นคือ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาธิการ ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล สอศ. นั่งเป็นประธาน

“ผมเองจำรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาในสมัยที่เป็น เลขาธิการ กอศ. ได้ไม่มาก เพราะมีการแก้ไขสัญญาเพียงครั้งเดียว ส่วนจะเป็นการแก้ไขสัญญาครั้งแรกหรือไม่นั้น ผมไม่แน่ใจ ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาดังกล่าว เพราะได้ลงไปตรวจสอบแล้วพบว่า การทำงานในช่วงแรก ทำๆ หยุดๆ จึงสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องพบว่างวดงานกับแบบการก่อสร้างไม่สัมพันธ์ คือไม่ดำเนินการก่อสร้างตามลำดับขั้นตอน เช่น ทำขั้นตอนที่ 3ก่อนขั้นตอนที่ 2เป็นต้น ดังนั้น ตามสัญญาหากไม่แก้ไขงวดงาน จะไม่สามารถทำการก่อสร้างต่อไปได้ จึงจำต้องเสนอให้คณะกรรมการที่มี “รัฐมนตรี” เป็นประธานอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นยังไม่พบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น มีแต่ปัญหาเกี่ยวกับแบบการก่อสร้างบางส่วนที่ไม่เรียบร้อย อีกทั้งการดำเนินงานต่าง ๆ ยังไม่ซับซ้อน

นายพรหมสวัสดิ์ ยังระบุว่า เป็น “เลขาธิการ กอศ.”ได้เพียง 7 เดือน ก็ถูกย้ายให้ไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้น “น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์” ก็เข้ามารับตำแหน่ง “เลขาธิการ กอศ.” ต่อ

ถามว่าทำไม10ปีแล้วยังสร้างไม่เสร็จ

จากที่จะเป็น อะควาเรียม ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่กลับกลายเป็น อะควาเรียม ที่สร้างนานที่สุด ใช้งบประมาณมโหฬาร จนเห็นเค้าลางปัญหาการ“คอรัปชั่นเชิงนโยบาย”เสียแล้ว

นี่เป็นเผือกร้อนที่ “หมอธี” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ต้องรับหน้าที่แก้ไขให้คลี่คลายจงได้ หลังประกาศลั่นรับปีใหม่ 2561จะขุดรากถอนโคนปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ทุกรูปแบบในกระทรววงศึกษาธิการ ให้สิ้นซาก

“เรื่องนี้เซนซิทีฟมาก เราต้องเคารพในความมุ่งหมายดั่งเดิม ผมเองก็อยากดำเนินการให้เสร็จ ถ้าเป็นไปได้ แต่ถ้าดำเนินการไม่ได้ เพราะเหตุผลทางการเงิน หรือเหตุผลทางโครงสร้าง ถ้าประเมินออกมาแล้วสรุปว่าเปิดไม่ได้พังแน่นอน ก็ค่อยว่ากัน ซึ่งเบื้องต้นคิดว่า สอศ.คงทำเองไม่ไหวแน่นอน ต้องเสนอให้ ครม. พิจารณาและมีมติใหม่

…อีกเรื่องที่เร่งต้องทำ คือ การตรวจสอบย้อนหลัง ซึ่งต้องดำเนินการทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกัน เรื่องนี้ผ่านมานานนับ 10ปี เอกสารบางอย่างอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่เราจะทำเท่าที่ทำได้ และหากมีอดีตผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายให้ย้อนหลัง ถึงเกษียณไปแล้วก็ไม่พ้น…สัตว์โลกต้องเป็นไปตามกรรม” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว (สยามรัฐ 12 ม.ค.2561)

———————-
(** ภาพประกอบจากเว็บไซต์ )

-- advertisement --