-- advertisement --

รายงานพิเศษ I ศิลปินพุทธศิลป์ รศ.ดร.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์

วารินทร์ พรหมคุณ

ศิลปินพุทธศิลป์ รศ.ดร.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์

“ครุฑ” เป็นสัตว์กึ่งเทพในปกรณัมอินเดีย และปรากฏในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น มหากาพย์มหาภารตะ เล่าว่า ครุฑเป็นพี่น้องกับนาคและทะเลาะกันจนเป็นศัตรู นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ปุราณะที่ชื่อว่า ครุฑปุราณะ เป็นเรื่องเล่าพญาครุฑตามคติไทยโบราณ เชื่อว่าครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งมวล และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ปกติอาศัยอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรีได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สุบรรณ” ซึ่งหมายถึง “ขนวิเศษ”
ครุฑ เป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ

ด้วยเอกลักษณ์โดดเด่นของ “ครุฑ” จึงถูกนำเสนอ ถ่ายทอดในชิ้นงานศิลปะอันเป็นลักษณ์ของ”ศิลปินพุทธศิลป์” รศ.ดร.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะไทย ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี

รศ.ดร.สุวัฒน์ เล่าถึงแรงบันดาลใจว่าเพราะมีปู่เป็นช่างปั้น และพ่อเป็นช่างแกะสลัก จึงซึมซับงานช่างศิลป์ทั้งสองแขนงนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ ผนวกกับความชอบส่วนตัวในเรื่องสัตว์หิมพานต์ โดยเฉพาะ “ครุฑ” มีพลังอำนาจ มีบารมี มีความกำยำ เป็นสัตว์เทพที่มีสรีระสวยงาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เก็บความรู้สึกฝังไว้ในใจ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง จนมาเรียนในระดับที่สูงขึ้นถึงระดับปริญญาเอก ก็ได้ทำวิจัยเรื่องครุฑ และเรื่องสัตว์หิมพานต์จากวรรณคดีไตรภูมิ

นอกจากศิลปะบนเฟรมแล้ว รศ.ดร.สุวัฒน์ ยังสนใจงานศิลปะแบบเหรียญมงคล เพราะมีแนวคิดว่าศิลปะที่เป็นมงคลเหล่านี้ สามารถนำติดตัวใส่เดินทางไปรอบโลกได้ ดังนั้น ศิลปะไทยที่เป็นมงกุฎของประเทศ ถ้าเผยแพร่ออกไปในรูปแบบนี้ คนไทยก็ใส่ได้ คนต่างประเทศไม่ว่าจะเอเชีย ยุโรป ก็ใช้ได้หมด ถือเป็นการเผยแพร่ศิลปะไทยอีกรูปแบบหนึ่ง

“หลายคนถามถึง “แรงบันดาลใจ” ของผมมีคำหนึ่งที่อยากสะท้อนไปหาคนที่สะสมผลงานของผม คือ “ใจบันดาลแรง” เพราะที่ทำได้ทุกวันนี้ ทำแล้วสวยงามดูคนเดียวก็ไม่ได้ ต้องถ่ายทอดไปยังผู้ที่ชื่นชมชื่นชอบ ให้เขาได้สวมใส่ เพิ่มขวัญกำลังใจ มีความงาม ความภาคภูมิใจที่สุด เป็นเสียงแรงบันดาลใจ และเป็นใจที่ต้องบันดาลแรง ผมได้กำลังใจจากหลาย ๆ ท่าน ทำให้ผมฮึดที่จะทำงานศิลปะและทำให้ทุกคนได้สะสมศิลปะที่ดีในอนาคตต่อไป”

สำหรับเส้นทางศิลปินของ รศ.ดร.สุวัฒน์…กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ผมเป็นลูกชาวบ้านคนหนึ่งที่บากบั่นทำงาน กว่าจะเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้าง ก็ต้องตั้งใจเรียนฝึกฝน การที่มาเรียนในกรุงเทพเราไม่ได้มีต้นทุน มีทรัพย์มากนัก ต้องวาดรูปให้ได้เยอะ ๆ ไปขายที่แกลเลอรี่ จากคนที่ไม่ได้เก่งมากที่สุดในห้อง แต่เป็นคนขยันก็ เลยมีทักษะวิชาสูงเพราะได้เขียนรูปเยอะๆ เพื่อให้ทันกับค่าเทอม ค่าเช่าบ้าน

…สมัยก่อนเวทีการประกวดสำคัญที่ต้องเอางานไปประกวดคือเวที “จิตรกรรมบัวหลวง” หรือศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย ได้รางวัลเหรียญทองแดง เหรียญเงิน แต่ละครั้งส่งงานด้วยความตั้งใจ และทุ่มเทในผลงาน ประสบความสำเร็จบ้างไม่ประสบความสำเร็จบ้าง ก็ถือเป็นการขัดเกลาตัวเอง จนที่สุดได้รับรางวัลเหรียญทองของจิตรกรรมบัวหลวง เป็นรางวัลอันทรงเกียรติ เหมือนกับว่าได้รับการยอมรับในแวดวงการทำงานศิลปะ ซึ่งยากมาก บางคนส่งมาทั้งชีวิตไม่ได้ก็มี แค่ได้ร่วมแสดงก็เป็นเกียรติมากแล้ว ดังนั้น การทำงานศิลปะ จะสำเร็จได้ต้องมีองค์ประกอบหลาย ๆ ประการแรก คือ มีความเพียร มีการวางแผนงานที่ดี และหมั่นศึกษาเรียนรู้กับ “ครู” เก่งๆ อาทิ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นต้น

รศ.ดร.สุวัฒน์ ยังเล่าถึงสมัยเป็นศิษย์ก้นกุฏิของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี…ก่อนจะได้ไปเรียนกับอาจารย์ถวัลย์ ต้องเขียนจดหมายไปหลายฉบับ เขียนนามสกุลท่านผิด ก็ให้คัด 500 จบ แต่พอถึง 400 จบ ท่านก็เอ็นดู ให้ไปเรียน ด้วย ท่านดูแลทุกอย่าง แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดการสอนจากเหตุการณ์ มีครั้งที่อาจารย์ถวัลย์ มีการนัดหมายกับรัฐมนตรีท่านหนึ่ง แต่ทว่าเครื่องบินดีเลย์ จึงทำให้การมาถึงของรัฐมนตรีท่านนั้นล่าช้า ซึ่งขณะนั้นอาจารย์ถวัลย์ กำลังสอนผมอยู่ ผมก็เตรียมเก็บของจะกลับบ้าน แต่อาจารย์บอกกับทีมรัฐมนตรีท่านนั้นว่า ค่อยนัดกันวันหลัง วันนี้ขอสอนคนรุ่นใหม่ก่อน

อาจารย์เลือกสอนเด็กอย่างเรา ไม่เลือกเงิน ไม่เลือกหน้าตา ไม่เลือกสังคม มีทั้งวัยวุฒิคุณวุฒิที่เหนือกว่าผมทุกอย่าง ท่านกำลังสอนผมว่า อะไรก็แล้วแต่หากค่าของความเป็นมนุษย์เท่ากัน ลำดับความสำคัญนัดหมายเท่ากัน ท่านสอนว่าเวลาเป็นของสำคัญ หากผมช้าไปเพียง 5 นาทีของวันนั้นก็จะไม่มีการเรียนการสอนเกิดขึ้นเช่นกันหลังจากนั้นมา ผมถือเรื่องเวลาสำคัญมาก และยังสอนให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน สิ่งเหล่านี้ ผมเอามาปรับใช้กับชีวิต ซึ่งการอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นข้อหนึ่งที่ทำให้บุคคล เป็นที่ยอมรับจากผู้ใหญ่ แต่ที่สำคัญศิลปินต้องมีวิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ หลอมรวมด้วยสติปัญญา ไอคิว อีคิว ความหวัง ความฝัน จินตนาการ ทางด้านศิลปะก็เช่นกัน เราใช้จินตนาการ จินตภาพภายในสู่ปรากฏการณ์ภายนอกที่คุณได้เห็น คนจะไม่รู้ว่าสมองเราคิดอะไร แต่พอวาดรูปภาพออกมาแล้ว เขารู้เลยว่าเราคิดอย่างไร มันเป็นภาษาอย่างหนึ่ง เป็นภาษาทางศิลปะ เป็นภาษาทางจิตวิญญาณ ไม่ต้องมีความเข้าใจอะไรมาก เพียงเปิดตา เปิดใจเท่านั้นก็สัมผัสงานศิลปะได้

ทุกวันนี้แม้จะถูกเรียกขานว่าเป็นศิลปินพุทธศิลป์ แต่ รศ.ดร.สุวัฒน์ ก็ยังคงทำหน้าที่อาจารย์สอนหนังสือประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่ผู้เรียน เพราะรักในวิชาชีพครู วิชาชีพที่สูงค่า

“เมื่อเราอยากพัฒนาประเทศ เราต้องพัฒนาเด็กและเยาวชนก่อน ผมเป็นครูมีจิตใจอยากถ่ายทอดความรู้ ผมเห็นคุณค่าของการศึกษา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ผมสอนอยู่นี้ เป็นองค์กรหนึ่งที่ผลักดันทุกวิชาชีพให้ไปสู่ความเป็นเลิศ ผมในฐานะครูอาจารย์ ก็อยากให้ศิลปะไทย อยู่คู่ประเทศชาติ และทำอย่างไรถึงจะให้ศิลปะแบบนี้ยังคงอยู่ต่อไป เราก็ต้องปรับตามยุคสมัยไม่ใช่ปล่อยให้หายไป ตามกาลเวลา เพราะศิลปะของบรรพบุรุษได้สรรค์สร้างขึ้นมาอย่างดีแล้ว เราจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์สานต่อศิลปะให้เข้ากับยุคสมัยคนปัจจุบันก็รับรู้และสร้างสรรค์กับสิ่งที่เห็นขึ้นมา”

รศ.ดร.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทุกครั้งหลังจบงานนิทรรศการศิลปะ จะแบ่งปันรายได้ส่วนหนึ่งให้กับการกุศลทั้งมอบทุนการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ขาดทุนทรัพย์ เรียนดี แต่ยากจน หรือมอบเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก เพราะการแบ่งปันให้กับคนที่ด้อยเป็นสิ่งที่ดี ครั้งหนึ่งกว่าผมจะได้กระดาษแผ่นหนึ่งมาวาดรูป ผมต้องรอปฏิทินที่ใช้แล้วรอลุ้นต่อเดือน แล้วเอากาวแป้งเปียกมาต่อเป็นกระดาษวาดรูปถึงจะได้รูปวาดที่สวยงามออกมา แต่ปัจจุบันมีกระดาษที่สวยงามเราก็ซื้อไปให้เด็กที่ด้อยโอกาส รวมถึงอุปกรณ์กีฬาที่สรรหามาได้ เพราะมีคนใจบุญมาร่วมบริจาค เราก็เอาสิ่งเหล่านี้คืนสู่สังคม …นอกจากนี้ยังพานักศึกษาไปร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงานกับเด็ก ๆ ต่างได้ใช้เวลาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุขผ่านงานศิลปะของพวกเขาเอง

เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่เงิน ดังนั้นเราต้องใช้เวลาให้มีค่าที่สุด” คติทิ้งท้ายจากศิลปินพุทธศิลป์

-- advertisement --