-- advertisement --

รายงานพิเศษ I สพฐ.ทำมากกว่าจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน คุ้มครอง..ช่วยเหลือนักเรียน

วารินทร์ พรหมคุณ

“สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. รับผิดชอบนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 7 ล้านคน โรงเรียนกว่า 3 หมื่นโรง เพื่อให้เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่ 7จนถึง15 ปี โดยเด็กต้องได้เรียนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด โดยรวมถึงการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาพิเศษ ซึ่งมีเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการรวมอยู่ด้วยที่ สพฐ.ต้องดูแล”

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ในฐานะโฆษก สพฐ.กล่าวถึงบทบาทของ สพฐ.

เมื่อพูดถึงบทบาทหน้าที่ของ สพฐ.แล้ว บอกได้เลยว่าไม่ได้มีหน้าที่เพียงจัดระบบการดูแลเด็กเฉพาะเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ต้องดูแลเรื่องทักษะชีวิต ความปลอดภัย สิทธิเด็ก การช่วยเหลือดูแลเด็กเฉพาะด้าน ซึ่ง สพฐ.ได้มีการวางระบบไว้เป็นอย่างดี โดยมีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ โดยจะดูแลเรื่องความปลอดภัยของเด็กจากเรื่องต่าง ๆ เรื่องของการทะเลาะวิวาท การเดินทาง หรือแม้แต่กรณีเด็กอยู่ในโรงเรียนแล้ว เกิดอุบัติภัยจากเครื่องเล่นก็ต้องเข้าไปดูแล

ดร.อำนาจ กล่าวว่า สพฐ.มีการวางมาตรการเฝ้าระวังและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอยู่แล้ว และได้แจ้งให้โรงเรียนรับทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมตั้งแต่เดือน เม.ย. หรือก่อนเปิดเทอม เพราะ สพฐ.ต้องดูแลนักเรียนหลายล้านคน จึงต้องจัดรูปแบบวิธีการที่จะรองรับเรื่องต่าง ๆ นี้ ในหลายมิติ เพื่อให้วันเปิดเทอมแรกในเดือน พ.ค.เป็นวันที่ทุกฝ่ายมีความพร้อม ทั้งนักเรียนทุกคนต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ ครูก็ต้องพร้อมในการจัดการเรียนรู้ ผู้บริหารโรงเรียน ต้องพร้อมที่จะดูแลเรื่องของการบริหารจัดการทั้งโรงเรียน

…เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่สมบูรณ์ ซึ่งการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ก็ผ่านไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ตาม ในการดูแลเด็กนั้น สพฐ.ย้ำการวางกรอบเรื่องการสร้างความรู้ การรับรู้ ความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการสื่อสารที่ต้องมีการกระตุ้นเตือน เพราะเด็กทุกคนมีความหมาย ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เนื่องจากเด็กคือกำลังของชาติ ถ้าพวกเขาเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุขในการเรียน และมีความปลอดภัยในชีวิตด้วย ก็จะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญ และมีวิธีการที่จะรับมือเมื่อเกิดภัย เรียกว่าต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท นอกจากนี้ปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กทั้งในและนอกโรงเรียน การล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหายาเสพติด หรือแม้แต่ปัญหาในการเกิดปัญหาการเรียน ก็เป็นเรื่องที่ สพฐ.ต้องดูแลและช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้

ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.กล่าวย้ำว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ต้องเน้นย้ำ คือ การช่วยเหลือกันและกัน การให้เด็กได้ช่วยเหลือกัน เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง และสุดท้ายครูต้องดูแลเอาใจใส่นักเรียนอย่างจริงจัง รวมถึงชุมชน สังคมก็ต้องช่วยกันดูแลระแวดระวัง ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างเป็นระบบเชื่อมั่นว่า เด็กไทยวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ที่จะมาช่วยสร้างสังคมไทยที่มีแต่ความสงบสุขต่อไป

———————

-- advertisement --