-- advertisement --

รายงานพิเศษ I สพฐ.ไม่ทอดทิ้งเด็กพิการ ส่งเสริมทักษะอาชีพ-มีงานทำอย่างต่อเนื่อง

วารินทร์ พรหมคุณ

สพฐ.ไม่ทอดทิ้งเด็กพิการ ส่งเสริมทักษะอาชีพ-มีงานทำอย่างต่อเนื่อง

พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2556 กำหนดในมาตรา 33 ว่าสถานประกอบการใด มีพนักงานตั้งแต่ 100คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คน หากไม่รับสามารถดำเนินการได้ ในมาตรา 34 หรือ 35 โดยมาตรา 34 สถานประกอบการ จ่ายเงินสมบทเท่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 ให้สัมปทาน สถานที่ขายของ ช่วยเหลือ ฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ซึ่งมาตรา 35 คือ การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่แท้จริง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญในการดูแลส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำของเด็กพิการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. มีแนวทางส่งเสริมการมีงานทำของเด็กพิการโดยร่วมกับสถานประกอบการ ภาคเอกชนโรงเรียนเพื่อคนพิการ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเตรียมเด็กพิการที่เรียนอยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ได้มีความรู้ทักษะวิชาชีพ นอกเหนือจากการเรียนรู้ทักษะความรู้วิชาสามัญพื้นฐาน เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ภายหลังเรียนจบจากโรงเรียน

…เราจะต้องเตรียมการเพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ มีทักษะพื้นฐานงานอาชีพก่อนที่จะจบการศึกษาออกไป เพราะนักเรียน ม.ปลาย จะเริ่มค้นพบแล้วว่าตัวเองมีความถนัดอาชีพอะไร ก็ต้องช่วยเหลือเตรียมความพร้อมให้

สพฐ.โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้ทำโครงการพัฒนาศูนย์การทำงานต่อเนื่อง ของสถานศึกษาและสถาบันการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระยะที่ 2 เนื่องจากสิ่งที่พบก่อนหน้านี้ แม้เราจะฝึกให้เด็กมีทักษะอาชีพติดตัวแล้ว แต่เมื่อเด็กเรียนจบ ก็พบว่า เด็กไม่รู้ว่าจะต้องไปทำงานอะไร ที่ไหนถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการที่มีความเมตตารับเด็กพิการไปทำงานโครงการนี้ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ และถือเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่มีผู้ประกอบการ ทั้งห้างร้าน โรงแรม หรือร้านอาหาร กว่า 30 แห่ง เห็นความสำคัญและเปิดโอกาสรับเด็กพิการเข้าทำงาน ซึ่งเป็นมิติที่สังคมควรรับรู้

“อยากให้ผู้ปกครองที่มีลูกหลานพิการด้านใดด้านหนึ่ง รับรู้ด้วยว่าสังคมของเรายินดีดูแลลูกหลานของท่านตั้งแต่เรียน จบแล้วก็มีงานทำ อยากให้ผู้ปกครองกล้าที่จะก้าวออกมาให้พวกเราดูแล และขอให้มั่นใจว่าทั้งภาครัฐและเอกชนพร้อมที่จะดูแลลูกหลานของท่าน”ดร.บุญรักษ์ กล่าว

นางสุดา สุขอ่ำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) กล่าวว่า สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ สอดคล้องกับอัตลักษณ์ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก้าวสู่สากล โดยมีสถานศึกษา 3 กลุ่ม คือ ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนเฉพาะความพิการ และโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ ซึ่งนอกจากจะจัดการเรียนการสอนวิชาสามัญเป็นพื้นฐานทั่วไปแล้ว จะมีการจัดการเรียนการสอนในเรื่องทักษะวิชาชีพด้วยการปฏิบัติจริง

พร้อมกันนี้ ยังร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อให้เด็กพิการได้เข้าไปฝึกความชำนาญ เมื่อจบออกไปแล้วสามารถทำอาชีพตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีความขยัน อดทนและซื่อสัตย์ เพราะถูกการบ่มเพาะตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ทำหน้าที่รวบรวมบริษัท ที่จะจ้างคนพิการเข้าทำงาน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33, 34, และ 35 ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีบริษัทจำนวนไม่น้อย จ้างงานคนพิการได้ไม่ครบซึ่งความจริงแล้ว แต่ละปีบริษัทเคยจ้างประมาณ 20,000 อัตรา รายละ 109,500 บาท ซึ่งเงินส่วนที่จ้างไม่ครบก็จะเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่ละปีอย่างต่อเนื่องประมาณ 2,000 ล้านบาท และขณะนี้กองทุนดังกล่าวมีเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ดังนั้นทางมูลนิธิฯ ก็นำตัวนี้เป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรเราจะให้บริษัทมาสนับสนุนคนพิการให้เข้าถึงงานและอาชีพมากขึ้น เพราะถึงบริษัทส่งเงินเข้ากองทุนฯ แต่คนพิการก็จะไม่ได้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยตรง

“ตอนนี้มูลนิธิฯ ได้ประสานคนพิการทั่วประเทศ ที่ต้องการเข้าถึงโอกาส ให้ทำโครงการขึ้นมา เพื่อจะนำไปให้บริษัทดูและให้บริษัทสนับสนุนโดยให้นำเงินไปจ่ายโดยตรงให้กับคนพิการ ซึ่งเป็นบทบาทของมูลนิธิฯที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง เช่น กรณีโรงเรียนลพบุรีปัญญานุกูล จังหวัดลพบุรี ทางมูลนิธิฯ ก็ได้ประสานให้บริษัทไปสนับสนุนโรงเรียนโดยตรง โดยให้เด็กพิการ และครอบครัวมาฝึกอาชีพ และให้บริษัทเข้าไปสนับสนุนเงินเพื่อเป็นกองทุนให้เขาประกอบอาชีพได้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับคนพิการมาก แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมเพราะคนพิการบางกลุ่มไม่อยากย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมือง อยากทำงานในถิ่นฐานของตัวเอง ทั้งนี้ ยังมีบริษัทส่งเงินเข้ากองทุนฯอยู่ประมาณ 15,000 กว่าอัตรา ซึ่งถ้าเงินจำนวนนี้ประมาณกว่า1,000 ล้านบาท เข้าถึงคนพิการก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

นายอภิชาติ กล่าวและว่า ทั้งนี้มาตรา 35 ให้เงินกับคนพิการโดยตรง คือจ้างงานโดยตรง ดังนั้นโรงเรียนต้องช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานนำเสนอโครงการได้ช่วยดูแลจัดการ ประสานกับผู้ปกครองเด็ก เพื่อเงินจะได้เข้าถึงคนพิการโดยตรง ไม่ผ่านมูลนิธิฯ ไม่ผ่านโรงเรียน

นางโชษิตา จารุโชติรัตนสกุล ผู้ประกอบการโรงแรมภูสวยปาร์ควิว ชัยภูมิ กล่าวว่า ทางโรงแรมเปิดรับเด็กพิการจากโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดชัยภูมิ เข้ามาฝึกงานแต่ละแผนกของโรงแรม เช่น แผนกแม่บ้าน แม่บ้านที่เป็นพนักงานประจำก็จะค่อยสอนถึงการทำความสะอาด การปูผ้าปูที่นอน การจัดห้อง แผนกอาหาร จะสอนเรื่องการเสิร์ฟอาหาร และการต้อนรับแขก เป็นต้น โดยทางโรงเรียนจะจัดรถรับส่งเด็กพิการไปฝึกงาน

“เด็กๆ น่ารัก ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กพิการหู และสติปัญญา แต่เขาก็สามารถทำงานได้ และไม่ได้กระทบกับลูกค้าที่เข้ามาพัก ต่างก็มีความเอ็นดูเด็กๆ และเห็นความสามารถในการทำงานของเด็กๆ เหล่านี้”

นางฉวีวรรณ ชวลิตพงศ์ อายุ 83 ปี ผู้มีความตั้งใจอยากจะสอนเด็กที่มีความบกพร่อง ได้ทำขนมไทยอาหารไทย ซึ่งตนเองมีความรู้ความชำนาญ โดยเฉพาะอาหารไทยแท้ อีกทั้งพี่ชายซึ่งพิการทางหู ได้ยกที่ดินให้สร้างโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดนครปฐม และตนเองก็คิดอยากทำกุศลแก่กลุ่มเด็กพิการเช่นกัน เพื่อให้พวกเขามีทักษะอาชีพติดตัว

“ตอนนี้อยากสอน แต่ยังไม่มีลูกศิษย์ เพราะยังไม่มีใครช่วยกระจายข่าว ถ้าใครสนใจอยากมาเรียนทำขนม หรืออาหารไทย ก็ให้มาเรียนได้ติดต่อที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ข้างสถานีรถไฟสามเสน และอยากให้ทุกคนสนใจครัวไทย ไม่อยากให้คนลืมครัวไทย เช่น ขนมจีนน้ำพริก หมูผัดพริกขิง ก็ยังไม่มีใครทำเหมือน” นางฉวีวรรณ กล่าว

ทิ้งท้ายกันที่ความมุ่งมั่นตั้งใจของ “เทพศรีทอง ม่วงขจร” นักเรียนพิการทางปัญญา ที่ปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนลพบุรีปัญญนุกูล มีความสามารถในการทอผ้า บอกว่า ถ้าเรียนจบแล้วจะกลับไปอยู่บ้านทอผ้าเป็นอาชีพเลี้ยงตัว ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้สนับสนุนกี่กระตุกสำหรับทอผ้า และฝึกการทอผ้าแก่ผู้ปกครองของ “เทพศรีทอง” อีกด้วย

-- advertisement --