-- advertisement --

“มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม มีงานทำ-มีอาชีพ เป็นพลเมืองดี” คือคุณสมบัติที่การศึกษาไทยควรมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชน ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

‘พัฒนาเด็กไทยในรัชกาลที่ 10’ เป็นเซ็ตหนังสือที่สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ระบุว่า จัดทำขึ้นเพื่อน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาทั้งสี่ด้านมาขยายความในรูปแบบวรรณกรรม หวังให้คนอ่านที่เป็นเยาวชนหรือครูอาจารย์นำไปต่อยอดปฏิบัติ โดยทางสำนักพิมพ์เชิญ ‘นพดล สังข์ทอง’ ครูและ “นัก(อยาก)เขียน” จากนครศรีธรรมราช มาเป็นผู้เขียน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2564 ที่ผ่านมา ในราคาเล่มละ 100 บาท

เปิดแต่ละเล่ม อ่านแต่ละหน้าจนครบ จึงมาชวนสำรวจเนื้อหาในหนังสือทั้งชุดเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปีนี้ โดยจะเริ่มจากภาพรวม ก่อนจะหยิบบางรายละเอียดจากแต่ละเล่มมาเล่าให้ฟังพอสังเขป

ภาพรวม: โครงสร้างของหนังสือ และตัวละคร

เล่ม 1 บ้านเมืองไทยนี้ดี

เล่ม 2 ชีวิตที่มีคุณธรรม

เล่ม 3 ดำรงชีพสุจริต

เล่ม 4 พลเมืองจิตอาสา

หนังสือชุดพัฒนาเด็กไทยในรัชกาลที่ 10 มีทั้งหมด 4 เล่ม แต่ละเล่มมี 4 บท แบ่งตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทั้ง 4 ประการ และรายละเอียดย่อยในแต่ละข้อ แต่ละบทเริ่มต้นด้วย ‘เรื่องราวของตัวละคร’ ตามด้วย ‘กรอบความรู้’ ให้ข้อมูลเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ปิดท้ายด้วย ‘กิจกรรมท้ายบท’ ที่ผู้เขียนหวัง “ให้ผู้อ่านได้ฝึกคิดฝึกเขียนตามทัศนะและมุมมองของตนเอง”

แม้จะกำหนดเลขประจำเล่มไว้แต่ไม่ต้องอ่านเรียงกันก็ได้ เพราะทุกเรื่องจบในเล่ม แนะนำตัวละครก่อนเริ่มเรื่องทุกครั้ง ทั้งเซ็ตใช้ตัวละคร 2 ชุด ชุดแรกเป็นตัวดำเนินเรื่องในเล่ม 1-2 ชุดที่สองดำเนินเรื่องในเล่ม 3-4

เรื่องราวในเล่ม 1-2 นำโดย ‘ครอบครัวของมะนาว’ ที่ประกอบไปด้วย สายใจ (แม่) ไพศาล (พ่อ) มะนาว (พี่สาว) และข้าวกล้อง (น้องชาย) เป็นครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ พ่อขับ “รถเก๋งคันงาม” ไปส่งลูกสาวและลูกชายที่โรงเรียนเอกชน พ่อแม่คอยสอนลูกให้เป็น “คนดี” ที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ดูเหมือนพ่อจะมีบทบาทมากกว่าแม่อยู่ไม่มากก็น้อย เพราะอ่านจนจบแล้วก็ไม่ค่อยเห็นแม่ได้พูดอะไรสักเท่าไหร่ มะนาว พี่สาวคนโต เป็นเด็กเรียบร้อย ตั้งใจเรียน เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่ แสบบ้างกับน้องชายแต่ส่วนใหญ่เป็นการแซวเล่นเพราะรัก ปีนี้มะนาวขึ้นป.6 แล้ว ส่วนข้าวกล้องนั้นยังเด็กมาก เพิ่งไปโรงเรียนครั้งแรก (วันแรกของการไปโรงเรียนเด็กชายตื่นเต้นและรู้สึกมีความสุขมาก ตื่นเองไม่ต้องรอให้แม่ปลุก) ปิดเทอมพ่อแม่มักจะพาลูกๆ ขับรถจากกรุงเทพฯ กลับไปเยี่ยมคุณย่าที่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านสวนและธรรมชาติที่ชวนให้คนเมืองรู้สึกมีความสุข

เรื่องราวในเล่ม 3-4 นำโดย ‘ครอบครัวของหมูด่าง’ ที่ประกอบด้วย แดง (แม่) โด่ง (พ่อ) หมูด่าง (พี่ชาย) และดำ (น้องชาย) เป็นครอบครัวที่ดูจะมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีเท่าครอบครัวของมะนาว แม่ขายก๋วยเตี๋ยวในร้านเล็กๆ หน้าปากซอยหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีพ่อคอยช่วยล้างจาน หมูด่างและดำมีหน้าที่ช่วยบ้างเวลาพ่อไม่อยู่ (ถ้าไม่ช่วยจะโดนแม่ด่า) ร้านก๋วยเตี๋ยวก็คือบ้านเช่าที่ทั้งครอบครัวอาศัยอยู่ ก่อนหน้านี้พ่อกับแม่เคยทำงานโรงงาน แต่ประสบปัญหาปิดกิจการทำให้ตกงานกันทั้งคู่ ยังดีที่ได้เงินชดเชยจากนายจ้างมาลงทุนเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าบ้าน ทั้งหมูด่างและดำเรียนโรงเรียนรัฐบาล เดินไปโรงเรียนเอง พ่อแม่ของหมูด่างและดำไม่เน้นสอนให้ลูกเป็น ‘คนดี’ แบบบ้านของมะนาว ส่วนใหญ่แม่จะบอกให้ช่วยทำงาน พ่อเน้นเตือนให้กตัญญูและตั้งใจเรียน เรื่องราวหลักๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหมูด่างและเพื่อนที่โรงเรียน หมูด่าง เป็นเด็กป.6 ที่ชอบเตะบอลและไม่ได้ตั้งใจเรียนอะไรมากนัก แต่ก็ไม่นับว่าเป็นเด็กเกเร เพราะมีเหล่าคุณครูที่คอยสอนให้เป็น “พลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย” และเป็น “พลเมืองจิตอาสา” ที่ทำประโยชน์แก่ครอบครัวและประเทศชาติ

หนังสือเล่ม 1.jpg

เล่ม 1 บ้านเมืองไทยนี้ดี: เน้นให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สะท้อนภาพชีวิตที่เกื้อกูลกันของคนในต่างจังหวัดคือความสุข

ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 เด็กและเยาวชนควร “มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง” โดยจะต้อง

  1. มีความรู้ความเข้าใจต่อชาติบ้านเมือง
  2. ยึดมั่นในศาสนา
  3. มั่งคงในสถาบันพระมหากษัตริย์
  4. มีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวและชุมชนของตน

เรื่องราวเริ่มต้นจากเปิดเทอมวันแรก มะนาวก็ได้การบ้านจากครูให้แต่ละกลุ่มเตรียมนำเสนอหน้าชั้นเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ต้องค้นคว้าว่า คนไทยมาจากไหน และศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่สุโขทัยจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พอถึงวันรายงาน มะนาวตั้งใจจดสรุปประเด็นสำคัญที่เพื่อนๆ นำเสนอไว้อย่างครบถ้วน เพราะเธอสนใจประวัติศาสตร์ชาติไทย รู้สึกว่า “ยิ่งจดยิ่งสนุก เหมือนได้ย้อนไปในอดีตอีกครั้ง” ในสมุดโน้ตของมะนาวเขียนไว้ด้วยว่า “จะเห็นได้ว่าชาติบ้านเมืองของเรานั้นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนมาทุกยุคทุกสมัยโดยแท้” ก่อนจบคาบเรียน ครูสุชาติย้ำเตือนนักเรียนว่า ทุกคนต้องรักชาติบ้านเมือง เพราะ “เป็นเลือดเนื้อและสมบัติของของทุกคน”

ในส่วนของศาสนา ครูสอนนักเรียนว่า ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แต่ในเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เน้นพูดถึงศาสนาพุทธ แตะรายละเอียดของศาสนาอิสลามบ้างเล็กน้อย มะนาวชอบนั่งสมาธิมาก นั่งสงบนิ่งได้นานต่างจากเพื่อนๆ เธอตั้งใจว่าก่อนเข้านอนจะฝึกให้น้องชายนั่งสมาธิด้วย

เวลาของการเปิดเรียนผ่านไปจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม พ่อพามะนาวไปรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่สนามหลวง เพื่อร่วมพิธีจุดเทียนน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 พ่อบอกมะนาวว่า ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่น เพราะมีในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีเสด็จฯ เป็นองค์ประธานในการจุดเทียนร่วมกับประชาชนด้วย มะนาวตื่นเต้นมาก เพราะ “ครั้งหนึ่งมีโอกาสรับเสด็จถือว่าสุดยอดของชีวิตแล้ว” ในงานเต็มไปด้วยผู้คนสวมใส่เสื้อเหลืองมาอย่างพร้อมเพรียง (มีรูปประกอบจากงานจริงเมื่อปี 2563) พ่อกับลูกมีมือถือส่วนตัวกันคนละเครื่อง ผลัดกันถ่ายเซลฟีให้กันและกัน โดยมี “ผู้คนมากมายไม่รู้มาจากไหนนั่งเป็นฉากหลัง แสดงถึงพลังแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างท่วมท้น”

แววตาของไพศาลผู้เป็นพ่อ “เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความจงรักภักดี” ยิ่งย้อนนึกกลับไปวันที่ 13 ตุลาคม 2559 วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต นึกทีไร “น้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัวทุกครั้ง” ไพศาลบอกลูกสาวว่า “เกิดเป็นคนไทยถือว่าโชคดีที่สุดแล้วที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ” พร้อมบอกให้มะนาวเตรียมตัวเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังๆ เมื่อในหลวงเสด็จฯ ตอนจบของบท ‘รับเสด็จในหลวง’ มะนาวจดบันทึกเหตุการณ์ไว้ด้วยความภาคภูมิใจ “เด็กหญิงมีความเชื่อว่า ที่เมืองไทยยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะเรามีชาติ มีศาสนา มีพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทุกคน และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะขอจงรักภักดีและมั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดไป”

เล่มที่ 1 จบด้วยบทสุดท้ายที่พ่อแม่พามะนาวและข้าวกล้องกลับไปเยี่ยมบ้านสวนของที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีญาติร่วมกันรับประทานอาหารพร้อมหน้า มีเสียงนกร้องจิ๊บๆ มีสายน้ำไหลเอื่อยๆ ธรรมชาติสมบูรณ์และความเกื้อกูลกันของคนในชุมชนชวนให้ไพศาลผู้เป็นพ่อตระหนักว่า “จริงๆ แล้วความสุขไม่ต้องไปหาที่ไหน อยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง”

‘กรอบความรู้’ ในเล่มนี้ ประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของชาติไทย พร้อมรายละเอียดของอาณาจักรโบราณในแต่ละภูมิภาค ข้อมูลสั้นๆ ของแต่ละศาสนาในประเทศไทย ลักษณะของครอบครัวไทยและบทบาทของพ่อกับแม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และข้อมูลเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในแต่ละยุคสมัย ที่ระบุทิ้งท้ายว่า “ถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะลดลง แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่”

หนังสือชุด

เล่ม 2 ชีวิตที่มีคุณธรรม: สอนให้เยาวชนแยกแยะ ‘ดีชั่ว’ ได้ และเป็น ‘คนดีของสังคม’

บทต่างๆ ในเล่มที่ 2 ตรงกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ข้อต่อมา ซึ่งกำหนดไว้ว่า การศึกษาควรทำให้เด็กและเยาวชนควรมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง–มีคุณธรรม หมายความว่า เด็กๆ จะต้อง

  1. รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด–ชอบ/ ชั่ว–ดี
  2. ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดีงาม
  3. ปฏิเสธสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั่ว
  4. ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง

ทุกคืนวันหยุดในแต่ละสัปดาห์ พ่อ มะนาว และข้างกล้องจะนั่งคุยกันในห้องทำงานของพ่อ ไพศาลใช้ช่วงเวลานี้เพื่อ “สอนลูกแบบเนียนๆ” เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวและมารยาทในสังคม ในบทแรกของเล่ม 2 พ่อถือโอกาสสอนให้มะนาวกับข้าวกล้องรู้จัก ‘แยกแยะผิดชอบชั่ว-ดี’ เมื่อมะนาวขอให้พ่อช่วยการบ้านที่ครูให้วิเคราะห์ข่าวหลายข่าว เช่น “ข่าวเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองที่มีการชุมนุมปราศรัยให้ข้อมูลบิดเบือน ใช้โซเชียลมีเดียโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างจากฝ่ายตนเองอย่างไร้สามัญสำนึก ทำให้ประชาชนสับสนไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นจริงหรือเท็จ” เป็นต้น

ไพศาลพยายามสอนให้ลูกคิดวิเคราะห์ผ่านข่าวเรื่องการชุมนุม ด้วยการถามมะนาวว่า “นักเรียนนักศึกษาบางคนที่ไปร่วมชุมนุมประท้วงตามเพื่อนเพราะได้รับข้อมูลจากสื่อโซเชียลมีเดีย แล้วเชื่อว่าข้อมูลนั้นถูกต้องโดยไม่ตรวจสอบแหล่งที่มา เห็นเพื่อนไปก็ไปด้วย แสดวงว่าพวกเขาไม่รู้จักอะไร” ลูกสาวตอบพ่อว่า “ไม่รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลและแยกแยะถูกผิดค่ะ” ซึ่งเป็นคำตอบที่ผู้เป็นพ่อมองว่าถูกต้องพร้อมเอ่ยชมลูกสาวว่าเก่งมาก มะนาวถามพ่อต่อว่า “แล้วเด็กๆ อย่างหนูจะแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ยังไงคะ” ไพศาลจึงบอกให้ลูกอย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล แยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น “เพราะเรื่องราวต่างๆ บนโลกนี้มีอยู่ 3 มุม คือ มุมของเขา มุมของเรา และมุมที่เป็นความจริง” ก่อนจะสอนลูกๆ เรื่องกาลามาสูตร หลักความเชื่อ 10 ประการ

บทที่เกี่ยวกับการ ‘ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดีงาม’ เป็นเรื่องราววันลอยกระทงที่มะนาวและเพื่อนๆ ที่ช่วยกันทำกระทงเพื่อสืบต่อ “ประเพณีที่ดีงามของไทย” คืนนั้นมะนาวและเพื่อนเจอเงินตกอยู่ จึงนำไปให้โฆษกช่วยประกาศหาเจ้าของ บท ‘ปฏิเสธสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั่ว’ มีตัวละครรับเชิญคือ ‘ครูศุภโชค’ ที่เคยเป็น ‘เด็กเกเร’ สูบบุหรี่ติดยาเสพติด (มีฉากตำรวจจับผู้ค้ายาเสพติดยิงกันปังๆๆๆ) จนสุดท้ายนึกถึงสิ่งที่ครูเคยสอนจึงกลับตัวตั้งใจเรียนจนได้มาเป็นครูโรงเรียนที่ตัวเองจบมา บทสุดท้ายครูอธิบายความหมายของ ‘คนดี’ ไว้ โดยอธิบายว่า คนดีจะต้องทำความดีต่อตนเอง เช่น “ตั้งใจเรียน” “รู้จักพึ่งตนเอง” ทำความดีต่อครอบครัว เช่น “ช่วยประหยัดรายจ่าย” “ดูแลพ่อแม่ ผู้ปกครอง” ทำความดีต่อโรงเรียน เช่น “ช่วยคัดแยกขยะในโรงเรียน” “ช่วยสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน” ทำความดีต่อสังคม เช่น “มีวินัยจราจร” “ช่วยดูแลความสะอาดของถนนหนทาง สวนสาธารณะ แม่น้ำลำคลอง” และทำความดีต่อประเทศชาติ เช่น “รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” “ช่วยสืบสานประเพณีอันดีงาม” เป็นต้น

‘กรอบความรู้’ ในเล่มนี้ ประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนที่มีการพูดถึง ‘ครู’ ในฐานะผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กด้วย ข้อมูลบุคคลต้นแบบที่ควรรู้จัก ได้แก่ พุทธทาสภิกขุ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร แพทย์หญิง ดร.เพียร เวชบุล และนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเรื่องประเพณีไทยที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันว่ามีสาเหตุมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนรุ่นเก่ายังคงมองว่า “การโต้เถียงถือเป็นการแสดงความไม่กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ” และ “ผู้ใหญ่เองก็ไม่เข้าใจและยอมรับความคิดของเด็ก” ที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มองว่า “ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน ย่อมมีอิสระในการแสงความคิดเห็นและตัดสินชีวิตของตัวเอง”

ผู้เขียนปิดท้ายว่า “ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยแบบใดที่ยังมีประโยชน์ก็สมควรที่จะยึดถือปฏิบัติสืบต่อไปเพื่อความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของชาติ แต่หากสิ่งใดไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ก็สมควรแก้ไขดัดแปลงให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรพิจารณาหาทางออกร่วมกัน”

หนังสือชุด

เล่ม 3 ดำรงชีพสุจริต: ต้อง “ขยันอดทน ฝึกฝนพัฒนา” น้อมนำหลักการทรงงานของร.9 มาใช้ในยุค New Normal

เล่ม 3 เริ่มด้วยเรื่องราวของ ‘หมูด่าง’ และครอบครัว รายละเอียดเน้นเรื่องการลงมือทำ ตรงกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวง รัชกาลที่ 10 ข้อ “มีงานทำ–มีอาชีพ” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. การเลี้ยงดูลูกหลานในครอบครัวหรือการฝึกฝนอบรมในสถานศึกษาต้องมุ่งให้เด็กและเยาวชน รักงาน สู้งาน ทำจนงานสำเร็จ
  2. การฝึกฝนอมรมทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตรต้องมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนทำงานเป็นและมีงานทำในที่สุด
  3. ต้องสนับสนุนผู้สำเร็จหลักสูตรมีอาชีพ มีงานทำ จนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว

ทั้งการช่วยพ่อแม่ทำงาน และการทำการบ้านและกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียน เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับหมูด่าง เพราะเรียนก็ต้องเรียน การบ้านก็ต้องทำ ขายก๋วยเตี๋ยวก็ต้องช่วยแม่ ใจก็อยากเตะฟุตบอลเล่นกับเพื่อน แถมหมูด่างยังได้ตำแหน่งประธาน ‘ชมรมขยะรีไซเคิล’ มาโดยไม่ได้ตั้งใจ (สมัครชมรมฟุตบอลไม่ทัน) แต่ความไม่ตั้งใจนี้ทำให้หมูด่างและเพื่อนได้เรียนรู้ว่า “ขยะมีคุณค่าพัฒนาสร้างอาชีพ” ได้ โดยมีครูช่วยอธิบายรายละเอียดของประเภทขยะ และการลดปริมาณขยะด้วยหลัก 3Rs (Reduce, reuse, recycle) หมูด่างจึงกลับบ้านไปประยุกต์ใช้ แยกขยะในร้านก่วยเตี๋ยวที่บ้าน

จากนั้นตัวละครรับเชิญ ‘ลุงจรัล’ ก็มาให้ความรู้กับเด็กๆ ในฐานะเจ้าของโรงงานขยะ ลุงเล่าประสบการณ์ชีวิตที่เริ่มต้นมาอย่างยากลำบากเพราะเกิดมาในครอบครัวที่ไม่ร่ำรวย พ่อแม่แยกทางกัน มีหนี้สิน ทรัพย์สินโดนยึด จึงต้องทำงานหาเงินตั้งแต่เด็ก ลุงทำมาแล้วหลายอย่าง ไม่เลือกงาน ลุงบอกเด็กๆ ว่า “ถ้าไม่เลือกงานลุงรับรองไม่ตกงานแน่นอน น้องๆ เห็นไหมว่าสมัยนี้จบปริญญาตรียังตกงานเลย เพราะอยากทำแต่งานที่ตรงกับตัวเองต้องการ แทนที่จะหาประสบการณ์ไว้ก่อน” ลุงจรัลเล่าชีวิตยืดยาวมาจนถึงช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุด คือเมื่อเจอกับกิจการเก็บ-ขายขยะ ที่ลุงค่อยๆ ทำมาจนกระทั่งมีโรงงานขยะของตัวเอง มีรถกระบะตระเวนรับซื้อขยะได้ หลักความสำเร็จที่ลุงบอกว่า “ง่ายๆ พื้นๆ ทั่วไปเลย” คือ “มีความฝัน ขยัน อดทน และหมั่นพัฒนาฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ” ไม่ว่าเด็กๆ แต่ละคนจะมีความฝันอะไร

หมูด่างกลับบ้านอย่างมีความสุขที่ได้เรียนรู้ว่า “อาชีพที่สามารถสร้างรายได้นั้นไม่ได้มีอยู่เฉพาะอาชีพที่เขาเคยรู้จักเท่านั้น” ขอแค่อดทน ขยัน ตามที่ลุงจรัลบอก อย่างน้อยตอนนี้ขยะที่แยกไว้ก็น่าจะเอาไปขายให้ลุงจรัลได้ ส่วนดำผู้เป็นน้องชาย มองพี่ที่ลุกขึ้นมาลงมือทำพร้อมกับคิดในใจว่า “สงสัยจบป.6 คงอยากจะเก็บขยะขายเสียแล้วซีพี่หมูด่าง”

‘กรอบความรู้’ ในเล่มนี้ พูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มจากการให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันเด็กไทยยุคโควิด-19 ที่ระบุว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลทำให้เด็กไทยต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบาก “หลายครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงบริการ สิทธิ และสวัสดิการจากภาครัฐ เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนเดิมที่ยังไม่ปรับเปลี่ยน” มีการพูดถึงโอกาสในการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ที่มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 3 เท่า ผู้เขียนมองว่า การเพิ่มทักษะให้เด็กและเยาวชนเพื่อให้พวกเขาพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน มีการให้ข้อมูลเรื่องการเรียนรู้นอกห้องเรียน แนะนำให้ทำงานล่วงเวลา เดินทางท่องเที่ยว เข้าค่าย และเรียนคอร์สออนไลน์ มีการให้ข้อมูลเรื่องอาชีพใหม่ในยุค New Normal ที่รวมถึงการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลาดออนไลน์ การเป็นนักแคสต์เกมและอินฟลูเอนเซอร์

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเรื่อง หลักการทรงงานของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวไทย “ให้พออยู่พอกินและพึ่งตนเองได้” เป็นการดำเนินงาน “บนทางสายกลาง เป็นขั้นเป็นตอน บนพื้นฐานของความสมดุลพอดี มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามวิถีแห่งธรรมชาติอย่างเรียบง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง” ผู้เขียนมองว่าเราสามารถนำหลักการทรงงานบางข้อมาประยุต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำกิจการต่างๆ ให้สำเร็จได้

หนังสือชุด

เล่ม 4 พลเมืองจิตอาสา: พลเมืองดีเริ่มต้นที่ตนเอง ประชาธิปไตยจะล้มเหลวหากประชาชนขาดจิตสำนึก แนะนำคนต่างรุ่นทำความเข้าใจกันและกัน

‘การเป็นพลเมืองที่ดี’ ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 มีใจความรายละเอียด คือ

  1. การเป็นพลเมืองดี เป็นหน้าที่ของทุกคน
  2. ครอบครัว – สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี
  3. การเป็นพลเมืองดี คือ “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ” เช่นงานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ งานสาธารณกุศลให้ทำด้วยความมีน้ำใจ และความเอื้ออาทร

เล่มที่ 4 เน้นพูดถึงประเด็นเหล่านี้ผ่านกิจกรรมในโรงเรียน เช่น กิจกรรมลูกเสือและเนตรนารีที่หมูด่างและเพื่อนต้องฝึกการช่วยเหลือผู้อื่น โดยมี ‘ครูอมรเทพ’ เป็นคนสอนเด็กๆ ครูอธิบายว่า “ต้นเหตุที่ทำให้บ้านเมืองไม่เป็นระเบียบก็คือ พลเมืองอย่างพวกเรานี่เอง” ครูมองว่าปัญหาบ้านเมืองทุกวันนี้คงจะแก้ไขได้ยาก “หากมนุษย์ยังมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง” ครูจึงต้องสอนให้เด็กๆ ให้รู้ว่าการเป็นพลเมืองที่ดี “ต้องเริ่มที่ตัวเอง”

อีกหนึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นคือการเลือกตั้งประธานนักเรียน มีครูเริงชัยเป็นหัวหน้าโครงการ อธิบายกับเด็กๆ ว่า

“ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่โดยไม่ขัดกับกฎหมาย หากประชาชนขาดจิตสำนึกหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ของพลเมืองดี ระบอบประชาธิปไตยก็จะล้มเหลว ทำให้เกิดปัญหามากมาย เช่น คนในชาติเกิดความแตกแยกกันเอง เพราะบ้านเมืองตกอยู่ใต้การครอบงำของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่ขาดจริยธรรม เมื่อมีการเลือกตั้งก็จะมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ประเทศชาติก็ได้ผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้มาจากการลงคะแนนเสียงที่มีอิสระอย่างแท้จริง”  

การเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย คือการรู้จักบทบาทการใช้สิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ครูอธิบายต่อ พร้อมยกตัวอย่างว่า เป็นนักเรียนก็ต้องเชื่อฟังคำสอนของครู อยู่ที่บ้านก็ต้องเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ โตขึ้นมาก็ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แม้อายุจะยังไม่ถึงเกณฑ์มีสิทธิเลือกส.ส. แต่หมูด่างและเพื่อนๆ ก็ได้เรียนรู้การใช้สิทธิของตนผ่านการเลือกตั้งประธานนักเรียนในโรงเรียนไปก่อน

‘กรอบความรู้’ ในเล่มนี้อธิบายหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ในการช่วยเหลือคนอื่นในกรณีฉุกเฉิน ให้ข้อมูลเรื่องการเป็นพลเมืองจิตอาสา และหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่อ้างการกำหนดหน้าที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมี 2560

กรอบความรู้ในบทหนึ่ง ตั้งคำถามว่า นักเรียนดี-นักเรียนเลว ดูตรงไหน…ใครกำหนด?” โดยกล่าวถึงสังคมไทยที่ “ปรากฏภาพความขัดแย้งทางความคิดของคนต่างวันอย่างชัดเจน การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคของประเทศโดยเฉพาะในโรงเรียน เนื่องจากเด็กปัจจุบันเป็นวัยกล้าคิด กล้าแสดงออกด้วยแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่ ที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่ออนาคตที่พวกเขาต้องดำรงชีวิตในยุคต่อไป ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับวิธีคิดแบบดั้งเดิมของผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา” ผู้เขียนแนะนำว่า การทำความเข้าใจซึ่งกันและกันคือทางออก เพื่อทำให้คนทั้งสองรุ่นหาทางออกร่วมกันได้

นอกจากนี้ยังสื่อสารกับพ่อแม่และครูว่าควร “เข้าใจหัวใจเด็ก” เวลาเด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับกฎระเบียบที่ไม่ตอบโจทย์สังคมในปัจจุบัน เช่น การตัดผมสั้น หรือข้อบังคับเรื่องการแต่งกายที่เข้มงวดเกินไป “โรงเรียนหรือผู้ใหญ่จึงควรทบทวนว่า มีคำตอบที่สมเหตุสมผลในสิ่งที่เด็กตั้งคำถามหรือไม่ และควรปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัยได้หรือยัง” และแนะนำว่า เด็กๆ เองก็ต้อง “ระมัดระวังในการใช้คำพูดไม่ให้กลายเป็นความก้าวร้าวรุนแรง” ควร “แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาของเรา โดยไม่คาดหวังว่าอีกฝั่งจะต้องคล้อยตามทันที”

หนังสือชุด

กิจกรรมท้ายบท(ความ)

อ่าน(รีวิว)มาจนครบทั้งสี่เล่ม เผื่อใครอยากลอง “ฝึกคิดฝึกเขียนตามทัศนะและมุมมองของตนเอง” ตามที่ผู้เขียนหนังสือชุด ‘พัฒนาเด็กไทยในรัชกาลที่ 10’ ตั้งใจให้ทำผ่าน ‘กิจกรรมท้ายบท’ ขอยกบางคำถามจากทั้งเซ็ตมาให้ชวนตัวเอง หรือเด็กและเยาวชนที่บ้านลองตอบกันดู

  • ฉันมีทัศนคติต่อชาติบ้านเมืองเป็นอย่างไร
  • สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทุกคน” หมายความว่าอย่างไร
  • สิ่งที่ฉันภูมิใจในครอบครัวของฉัน คือ
  • ฉันจะใช้กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณแยกแยะสิ่งที่ผิด-ชอบ/ชั่ว-ดี ได้อย่างไร
  • หากฉันพบเงินจำนวนมากที่ไม่มีเจ้าของ และฉันมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน ฉันจะทำอย่างไร
  • บุคคลต้นแบบด้านความดีที่ฉันรู้จักคือใคร และเป็นต้นแบบความดีในด้านใด
  • ในความคิดของฉัน ‘พลเมืองดี’ เป็นอย่างไร
  • หากมีการชุมนุมประท้วงของนักเรียนเกี่ยวกับกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมในโรงเรียนฉันจะเข้าร่วมหรือไม่ เพราะเหตุใด
-- advertisement --