-- advertisement --

‘The MATTER’ จับมือร่วมกับ ‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ โดยกระทรวงวัฒนธรรมผนึกกำลังเดินหน้าโครงการ The MATTER: Coding in Thai Education (Now & Then) การศึกษาไทยในยุคที่โลกหมุนไปด้วยการโค้ด ด้วยการจัดงานเสวนา Coding is MATTER: การศึกษาไทยในยุคที่โลกหมุนไปด้วยการโค้ด ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา

โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือพัฒนาทักษะที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ศตวรรษ 21 ที่เทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้าแบบไม่หยุดยั้ง จนเกิดทักษะใหม่ขึ้นมาอย่างการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือที่ทุกคนรู้จักกันว่า โค้ดดิ้ง (Coding) ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน ครู ผู้ปกครอง บุคลากรในองค์กร ธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดคือประเทศไทย

วรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า การเรียนการสอนด้านโค้ดดิ้ง นอกจากจะช่วยสร้างพื้นฐานในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับตลาดและโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัวแล้ว ยังเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการช่วยให้เด็กและเยาวชน ในการฝึกฝนและพัฒนาทักษะการใช้เหตุและผล จัดการเรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบ และเป็นทักษะที่จำเป็นต่ออนาคต ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานและการเรียนรู้ที่สำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้

พร้อมกันนี้ภายในงานเสวนาได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ที่ผ่านงานจากประสบการณ์จริง ด้านโค้ดดิ้งในรูปแบบต่าง ๆ แลกเปลี่ยนมุมมองความสำคัญของการศึกษาด้านโปรแกรมมิง ในรูปแบบประสบการณ์ที่แตกต่าง เพื่อให้เข้าใจภาพรวมได้ง่ายขึ้นว่า โค้ดดิ้งมีความสำคัญใกล้ตัวกับทุกภาคส่วนขนาดไหน โดยรวบรวมวิทยากรทั้งหมด 4 ท่าน และผู้ดำเนินรายการมากฝีมืออีก 2 ท่าน ได้แก่

  • ครูจุ๊ย—กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระด้านการศึกษา
  • อ้อม—วัชราภรณ์ ดอนแสง ผู้ร่วมก่อตั้ง CodeKid บริษัทเพื่อการศึกษาทางด้านการเขียนโปรแกรมสำหรับเด็ก
  • นาว—ภาดารี อุตสาหจิต ซีอีโอของบริษัท Lightwork ผู้ริเริ่มระบบเอไอ Robotic Process Automation : RPA ในประเทศไทย
  • ภูมิ—ภูมิปรินทร์ มะโน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสบการณ์การทำงานตั้งแต่อายุ 17 ปี
  • โจ้—นทธัญ แสงไชย (ผู้ดำเนินรายการ) จาก Salmon Podcast
  • ต้นรัก—ชญานิศ จำปีรัตน์ (ผู้ดำเนินรายการ) จาก Future Trend

งานนี้ทีมงานแบไต๋ก็ได้เข้าร่วมกับงานเสวนาครั้งนี้ แล้วพร้อมที่จะแบไต๋ประเด็นที่น่าสนใจ ย่อยภาษาให้เข้าใจง่าย โดยจะพามาทำความเข้าใจกับคำว่าโค้ดดิ้งมาเป็นอันดับแรก แล้วค่อยแตกประเด็นงานเสวนาออกมาเป็น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. Coding กับเยาวชน
  2. Coding กับครูและผู้ปกครอง
  3. Coding กับบุคลากรและธุรกิจ
  4. Coding กับประเทศไทย

Coding คืออะไร?

Coding หรือความหมายแปลเป็นไทยว่า เป็นชุดคำสั่งชนิดหนึ่งที่โปรเเกรมเมอร์ใช้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์ ให้ทำงานตามที่โปรเเกรมเมอร์ต้องการ โดยจะมีรูปแบบภาษาต่าง ๆ อาทิ ภาษาไพทอน (Python), ภาษาซี (C), ภาษาจาวา (Java), หรือภาษาจาวาสคริปต์ (JavaScript) ขึ้นอยู่กับว่าต้องการใช้ทำงานประเภทไหน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นภาษาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์

หรือยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้น ไพทอน เป็นภาษาที่นิยมใช้กับการทำเว็บไซต์ พัฒนาซอฟต์แวร์

และ Graphic User Interfaces (GUIs) หรือให้ใกล้ตัวอีกหน่อย ภาษานี้ใช้เพื่อสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กสุดฮิตอย่าง อินสตาแกรม ยูทูบ และสปอติฟาย เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราเป็นอย่างมาก

แต่ก่อนที่จะนำโค้ดดิ้งมาเป็นชุดคำสั่งสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กที่โด่งดังเหมือนอินสตาแกรมได้นั้น มันไม่เพียงแค่การมีความสามารถในการเข้าใจภาษาไพทอน หรือภาษาจาวาสคริปต์ ได้ดีแล้วสามารถสร้างมาเป็นแพลตฟอร์มข้างต้นได้อย่างทันทีทันใด แต่ยังต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ของโค้ดดิ้งในการ การจัดลำดับการทำงาน การคิดอย่างเป็นระบบ และการแก้ไขปัญหา หรือที่เรียกกันว่า การคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking)

การคิดเชิงคำนวณนี้คือ กระบวนการแก้ปัญหาแบบมีลำดับ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่เหล่าบรรดาโปรเเกรมเมอร์ หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ช่วยในเรื่องของการจัดระเบียบความคิด เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาตามหลักของตรรกะ และความมีเหตุผล ซึ่งจะทำให้โปรเเกรมเมอร์พัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ โดยใช้โค้ดดิ้งได้ง่าย และเป็นระบบระเบียบมากขึ้น โดยแบ่งองค์ประกอบสำคัญได้เป็น 4 ส่วน ได้แก่

  • การแบ่งย่อยปัญหา (Decomposition)
  • การเข้าใจรูปแบบ (Pattern Recognition)
  • ความคิดเชิงนามธรรม (Abstraction)
  • การออกแบบขั้นตอนวิธี (Algorithm Design)

นอกจากนี้การคิดเชิงคำนวณยังสามารถนำมาปรับใช้สำหรับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย รวมไปถึงการควบรวมศาสตร์ความรู้ต่างสาขา เช่น สายชีววิทยา สายการแพทย์ สายการขาย ให้คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ในกรณีของผู้ว่าเชียงรายที่ดำเนินการช่วยเด็ก 13 หมูป่าออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นกรณีฮือฮาที่รับความสนใจไม่น้อย และไม่ใช้แค่ภายในประเทศ แต่ยังรวมไปถึงต่างประเทศที่ก็ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์นี้พอสมควร ซึ่งถ้าให้เจาะถึงรายละเอียดของความประสบความสำเร็จครั้งนี้ไปอย่างลึกซึ้งจริง ๆ ก็จะเห็นถึงกระบวนการนำทักษะพื้นฐานของโค้ดดิ้งมาใช้แก้ปัญหา

ไม่ว่าจะเป็น ‘การแบ่งย่อยปัญหาออกมาเป็นข้อ ๆ’ ว่า ต้องแจ้งตำรวจ ประสานนักดำน้ำ สื่อสารกับผู้ปกครอง สื่อสารกับทีมนักข่าว แบ่งย่อยออกมาเป็นที่ละเรื่องเพื่อให้ง่ายต่อการแก้ปัญหา แล้วจึงค่อย ‘เข้าใจรูปแบบ’ เรียงลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง อันไหนสำคัญมากที่สุดจนไปถึงน้อยที่สุด

ต่อด้วย ‘การคิดเชิงนามธรรม’ ว่าถ้าน้ำฝั่ง A ขึ้น ฝั่ง B จะลงหรือเปล่า จินตนาการวางแผนก่อน แล้วจึงนำไปสู่ ‘การออกแบบขั้นตอนวิธี’ การลงผิดลองถูก การเข้าใจว่าแก้ปัญหาวันนี้ทำไปแล้วถูก ก็แปลว่าวิธีนี้ใช้ได้ ไม่ถ้ามันไม่เวิร์กก็หาหนทางกันใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบที่ใช้หลักพื้นฐานของโค้ดดิ้ง

เชื่อว่าผู้อ่านไม่น้อย ที่พึ่งทำความรู้จักกับคำว่า ‘โค้ดดิ้ง’ น่าจะพอเข้าใจและติดอาวุธเบื้องต้นกันมาพอสมควร พร้อมที่จะลุยต่อไปสู่เนื้อหาที่เข้มข้นของงานเสวนา ทั้งเรื่องโค้ดดิ้งกับเยาวชน โค้ดดิ้งกับครูและผู้ปกครอง โค้ดดิ้งกับบุคลากรและธุรกิจ และบทสุดท้ายโค้ดดิ้งกับประเทศไทย ซึ่งถ้าพร้อมแล้วก็มาเริ่มที่ โค้ดดิ้งกับเยาวชนกันเลย

Coding กับเยาวชน

ต้องยอมรับเลยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีถือว่าเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าแทบจะเป็นอีกหนึ่งอวัยวะไปแล้ว รวมไปถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่เป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้เข้ามาเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว จนบางครั้งก็แทบจะตามกันไม่ทัน

เหล่านั้นเองจึงเป็นเหตุที่น่าใส่ใจ ว่าทำไมวันนี้เยาวชนยุคใหม่ถึงต้องมีความรู้พื้นฐาน และความเข้าใจทางด้านโค้ดดิ้ง แต่พอพูดถึงคำว่าโค้ดดิ้งกับเด็ก และเยาวชนแล้ว ผู้ใหญ่โดยทั่วไปมักจะมักจะเข้าใจว่า ‘อ่อมันต้องมีคอมพิวเตอร์’ แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กเล็กยังไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า อันปลั๊ก โค้ดดิ้ง (Unplug Coding)

แล้วอันปลั๊กโค้ดดิ้งคืออะไร? อันปลั๊กโค้ดดิ้งคือ หลักการสอนโค้ดดิ้งให้เข้าใจหลักพื้นฐานของการคิดเชิงนามธรรมโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยจะเป็นการใช้กิจกรรม การเล่นสนุก บัตรคำ ปริศนา เกม กระดาน ดินสอสี อุปกรณ์ หรือสิ่งรอบตัวมาประกอบกันเพื่อเป็นสื่อในการแก้ปัญหา พูดง่าย ๆ ก็คือการเรียนจากการเล่น

ซึ่งก็จะเป็นพื้นฐานที่จะสอนให้พวกเขารับมือกับโลกดิจิทัล ให้มีทักษะการคิดเป็น วิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น คิดเป็นตรรกะ ใช้เหตุใช้ผล เพื่อเตรียมพร้อมให้พวกเขารับมือกับปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะช่วงวัย 3-6 ขวบ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนอันปลั๊กโค้ดดิ้ง

เนื่องจากพัฒนาการของเด็กวัย 3-6 ขวบ ต้องการการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กพอดี หรือเรียกว่าการขยับนิ้วมือ ดังนั้นโจทย์อันปลั๊กของเด็กวัยนี้ก็คือจะต้องเน้นเรื่องของตรรกะเป็นหลัก การใช้นิ้วมือประดิษฐ์สิ่งของ ใช้นิ้วมือทำงานบ้าน ใช้นิ้วมือแก้ปัญหา ใช้นิ้วมือเล่นอันปลั๊กโค้ดดิ้งแบบบอร์ดเกม การใช้เลโก้ตั้งขึ้นมา การก่อเจดีย์ทราย เพื่อฝึกคิดอย่างเป็นระบบ คิดเป็นระบบจากนิ้วมือก่อน

โดยสิ่งสำคัญมากคือ อย่าให้เด็กรู้ตัวว่านี้คือการสอน จำเป็นต้องออกแบบเกม หรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้แยบยล ให้เด็ก ๆ มีความสนุกกับสิ่งที่เขาเล่น โดยแฝงการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบลงไป ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจว่าแท้จริงแล้วอันปลั๊กโค้ดดิ้งเป็นเรื่องสนุก การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเป็นเรื่องสนุก แล้วเด็ก ๆ จะมีแรงใจในการเรียน

ขยับขึ้นมาอีกหน่อย คือช่วง ป.1-ป.3 อายุระหว่าง 7-9 ปี ถึงสามารถให้เริ่มเล่นเป็นเกมซอฟต์แวร์ที่สนุก ซึ่งจะเป็นช่วงที่เด็กวัยนี้เปิดใจเข้ากับสังคมโรงเรียน ตอบรับเพื่อนใหม่ เริ่มเป็นผู้ให้กับผู้อื่น แบ่งของกินให้เพื่อน ถ้าเพื่อนมาทำร้ายก็จะต้องรู้จักป้องกันตัวเอง ดังนั้นการเล่นเกมซอฟต์แวร์จะต้องเป็นเกมที่ง่าย และสนุก ไม่ยุ่งยากเกินจนเขามองว่าเรื่องโค้ดดิ้งนี้ไม่เหมาะกับเขา

พอถึงช่วง ป.4-ป.6 อายุระหว่าง 10-12 ปี พัฒนาการของช่วงวัยนี้ก็จะมีการเข้าสังคมมากขึ้น มีโซเชียลมีเดีย มีแก๊ง มีก๊วน เป็นของตัวเอง จะมีความกลัวที่จะเป็นแกะดำสูงมาก ถ้าเน้นให้เล่นเกมซอฟต์แวร์อย่างเดียว เด็กในวัยนี้อาจจะแอบไปเล่นเกมอื่น เช่น Minecraft, Free Fire หรือ ROV ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่จะออกแบบการเรียนรู้เป็นรูปแบบ เวิร์กชอป มากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งกลุ่มกลุ่มละ 5 คน ทดลองเป็น ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) อาจจะตั้งโจทย์ว่าให้สร้างบริษัทเกมขึ้นมา มี 5 ตำแหน่ง อาทิ ผู้วางกลยุทธ์ ผู้เขียนโค้ด ผู้ออกแบบตัวละคร ผู้ออกแบบเสียง และก็ซีอีโอบริษัท ให้งบเริ่มต้น 10 ล้านบาท ให้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ให้ทำเกมออกมาสมบูรณ์ที่สุดแล้วมาขายไอเดียกับเรา สิ่งที่เขาจะได้คือการคิดอย่างเป็นระบบ เข้าใจบทบาทของตัวเองว่าเหมาะแค่ไหน

และที่สำคัญคือต้องไม่มีผิดไม่มีถูก เปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองความซับซ้อนของโจทย์ว่า สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ออกมาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง เพราะหนึ่งปัญหาไม่ได้มี หนึ่งคำตอบเสมอไป เพียงแค่อาจจะช่วยแนะนำบางอย่างถึงความเป็นไปได้ที่จะไปต่อระดับไหน แสดงความเป็นไปได้ให้เห็นว่า คำตอบมันยังเป็นไปได้อีกหลายรูปแบบ เพื่อให้เขาพัฒนาต่อไป

จากนั้นก็ค่อยไต่ระดับผ่านความน่าสนใจของเด็กแต่ละคน พาสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องโค้ดดิ้งให้พวกเขาเห็น เปิดโอกาสให้ทดลองเป็นแต่ละอาชีพ แล้วพอค่อย ๆ เริ่มเห็นถึงสิ่งที่เด็กชอบ ก็ค่อย ๆ สอนเรื่องโค้ดดิ้งแทรกเข้าไปกับประเด็นนั้น ๆ เพื่อให้เขาเห็นภาพ และเข้าใจตัวเองมากขึ้น

เหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องที่เขาชอบ สู่อาชีพในอนาคต ซึ่งรวมไปถึงเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลายด้วยว่า ถ้าต้องการศึกษาเรื่องโค้ดดิ้งแบบจริงจัง ควรเริ่มต้นมาจากพื้นฐานอะไรที่ชอบก่อน และก็ควรมี ชุดความคิด (Mindset) ที่ดีด้วย ซึ่งเดี๋ยวแบไต๋จะพาไปเจาะลึกถึงอาชีพในหัวข้อ Coding กับบุคลากรและธุรกิจ อย่างละเอียดอีกที

Coding กับครูและผู้ปกครอง

มุมมองของครูและผู้ปกครองก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองด้านโค้ดดิ้งต่อเด็ก ๆ ต้องยอมรับจริง ๆ ว่า โค้ดดิ้งยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับประเทศไทยอยู่เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บุคลากรอย่างครูและผู้ปกครองก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัย ไม่ว่าการทำเข้าใจพื้นฐานเรื่องโค้ดดิ้ง และกระบวนคิดเชิงคำนวณ

มากไปกว่านี้จำเป็นต้องมี 3 สิ่ง อาทิ เปิดใจ ลองใช้ ให้โอกาส เพราะฉะนั้นอย่างแรกคือการเปิดใจว่า ปัจจุบันโค้ดดิ้งเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งเด็กนักเรียนและลูกจำเป็นต้องศึกษาเพื่ออนาคตในวันข้างหน้า อีกทั้งคุณครูก็ถึงว่าเป็นตัวแปลสำคัญที่จะขับเคลื่อนเด็ก ๆ เรื่องโค้ดดิ้ง เพราะฉะนั้นถ้าครูและผู้ปกครองไม่เป็นผู้ที่เปิดใจพร้อมเรียนรู้ก่อน การถ่ายทอดโค้ดดิ้งให้แก่เยาวชนจะถือเป็นเรื่องยากมาก

อย่างที่สองเป็นเรื่องของการทดลองใช้ แน่นอนว่าก่อนที่จะถ่ายทอดอะไรไปก็แล้วแต่ ผู้ถ่ายทอดจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจในเรื่อง ๆ นั้นก่อน จึงจะสามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือครูจำเป็นต้องเตรียมพร้อมมากกว่าเด็ก และคนที่ต้องเตรียมตัวเยอะไม่แพ้กันคือพ่อแม่ เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด

อาจจะเป็นการเรียนคอร์สออนไลน์ให้แก่คุณครู ที่เข้ามาช่วยเพิ่มทักษะเรื่องโค้ดดิ้งตั้งแต่กระบวนวิธีคิด รวมไปถึงทักษะโค้ดดิ้งต่าง ๆ เพื่อเข้าใจรากเหง้าที่มาเป็นอย่างไร แล้วจึงนำไปปรับใช้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็กแต่ละวัย

ส่วนการให้โอกาส ลองให้โอกาสสอนให้เด็กเขียนโค้ด หรือสอนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ แล้วพยายามเข้าใจเด็กไปพร้อม ๆ กัน พยายามพูดคุย ชวนคุย แล้วถ้ามันไม่เวิร์กก็เปิดโอกาสให้เขาลองวิธีอื่นดู ซึ่งจะเสริมสร้างให้เด็กมีทักษะลองผิดลองถูก และยังเป็นการฝึกวิธีคิดของเขาไปในตัว เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง

รวมไปถึงบางเรื่องที่ต้องย้ำกับผู้ปกครองด้วยนั้นคือ อย่าเปรียบเทียบลูก ซึ่งบางครั้งมันอาจจะเป็นการกดดันเด็กไปในตัวแล้วอาจจะทำให้เกิดความฝังใจเรื่องโค้ดดิ้ง เพียงให้เขาเปิดโอกาสได้ลองเยอะ ๆ ได้ล้มลุกคลุกคลาน จะได้รู้ว่าเขาชอบอะไร ส่วนหน้าที่เราก็เป็นเพียงผู้ฟังที่ดี สังเกตให้เยอะ แล้วยิ่งเยาวชนเติบโตขึ้น ผู้ปกครองก็ยิ่งต้องรับฟังให้มากขึ้น

Coding กับบุคลากรและธุรกิจ

มาถึงเรื่องโค้ดดิ้งกับบุคลากรในภาคธุรกิจ หลายครั้งที่มักจะได้ยินคำพูดบ่อย ๆ ว่า ‘หุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์จะเข้ามาแย่งงาน’ ซึ่งก็มีผลสำรวจออกมาเปิดเผยแนวโน้มของสายงานมาแรงในปี 2021 แล้วพบว่า ก็มีส่วนจริง เพราะในปี 2021 มีการเผยถึงบางสายงานที่มีแนวโน้มการจ้างงานลดลง แต่สายงานที่เกี่ยวกับไอทีกลับมีความต้องการจ้างงานในตลาดสูงขึ้น จน ณ ปัจจุบันบุคลากรไอทีขาดแคลนสูงมาก

ดังนั้นผู้ที่มีทักษะทางด้านโค้ดดิ้งจึงมีแต้มต่อที่สูงกว่าบุคคลทั่วไปโดยปริยาย เนื่องจากภาคธุรกิจก็ต้องการบุคลากรมีพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้ก้าวทันต่อยุคสมัยใหม่ รวมไปถึงบางครั้งบุคลากรที่มีความสามารถก็ถูกดึงตัวไปทำงานกับบริษัทต่างชาติซะเยอะ เลยทำให้ผู้ที่สามารถเขียนโค้ดได้ดีในประเทศไทยหาตัวจับได้ยากมาก และขาดแคลนอยู่ ณ ปัจจุบันนี้

เหล่านี้เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบุคลากรในบริษัทยุคให้จำเป็นต้องมีทักษะการ รีสกิลและอัปสกิล ด้านโค้ดดิ้งให้มากขึ้น แล้วต้องไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยชินทำมาตลอด ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงให้มีความยืดหยุ่นไปในตัว ไม่เช่นนั้นงานบางงานที่มีความซ้ำซากจำเจ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกหุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์เข้ามาทดแทนแบบไม่ทันตั้งตัว

เพื่อก้าวข้ามผ่านวิกฤตที่อาจจะโดนแย่งงานในอนาคต พนักงานควรพร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา แบ่งเวลาเพื่อพัฒนาตัวเอง มีวินัยในการเรียนรู้ สร้างกรอบความคิดสำหรับการลองผิดลองถูก รวมไปถึงยังสามารถเป็นทางที่เปิดโอกาสสู่สายงานใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายงานเกี่ยวกับ Cloud Computing, Engineer, Data & AI

See also