-- advertisement --
วัคซีนแอสตร้ากับความเสี่ยงภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
ภาพโดย Paul McManus จาก Pixabay

การศึกษาในสกอตแลนด์พบว่า การวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยต่อภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า ข้อมูลจากโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสกอตแลนด์ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยของโรคเลือดออกผิดปกติ ที่รักษาได้และมักไม่รุนแรง หลังจากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก

แพทย์ตรวจสอบเวชระเบียนของประชาชน 5.4 ล้านคนในสกอตแลนด์ พบความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับเลือด เช่น ลิ่มเลือด, เลือดออกผิดปกติ และภาวะที่เรียกว่า เกล็ดเลือดต่ำ หรือ ITP ซึ่งเป็นการลดลงของเกล็ดเลือด ที่ทำให้เกิดรอยฟกช้ำได้ง่าย, เลือดออกตามไรฟัน และการเสียเลือดภายใน

การศึกษาร่วมกับสาธารณสุขสกอตแลนด์พบว่า ความเสี่ยงของ ITP นั้น สูงขึ้นเล็กน้อย ในจำนวนประชาชน 1.7 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ ตามข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน 2564

บทความที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เมดิซีน นักวิจัยประเมินว่า จะมีผู้เกิดภาวะ ITP เพิ่ม 11 ราย ต่อการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทุก ๆ ล้านโดส ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวมักพบในผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคไตเรื้อรัง และมักเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สองถึงสี่หลังได้รับวัคซีน

อัตราผู้เกิดภาวะ ITP ที่เพิ่มขึ้น หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น คล้ายคลึงกับที่พบในวัคซีนอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่, หัดเยอรมัน และตับอักเสบบี โดยผู้เกิดภาวะ ITP จะเพิ่มขึ้น 10-30 ราย ต่อการฉีดวัคซีนหนึ่งล้านโดส ขณะที่การติดเชื้อโควิด-19 จะมีความเสี่ยงเกิดภาวะ ITP มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้พบหลักฐานที่เบาลง กรณีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการอุดตันในหลอดเลือดแดงและภาวะเลือดออกต่าง ๆ หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีสัญญาณความเสี่ยงจาก ITP, ลิ่มเลือด หรือการตกเลือด ในประชาชน 8 แสนคนของสกอตแลนด์ ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ตามข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน

“เอซิส ชีคห์” หัวหน้านักวิจัยและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า โดยรวมแล้ว เรื่องนี้ทำให้มั่นใจได้มากขึ้น เพราะในระดับประชากร เราเห็นความเสี่ยงต่ำจากวัคซีน และมีทางรักษาสำหรับผู้ที่เกิดภาวะ ITP

เมื่อเดือนพฤษภาคม คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (JCVI) แนะนำว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ควรได้รับทางเลือกอื่นแทนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากระดับการติดเชื้อในอังกฤษยังต่ำ และความเสี่ยงที่พบได้ยากมากของภาวะที่อาจรุนแรงอย่าง VITT หรือการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดจากวัคซีนและภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ส่วนผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ในอังกฤษ ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกับแอสตร้าเซนเนก้า

“หากผู้คนเกิดอาการฟกช้ำหรือเลือดออกหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สิ่งสำคัญคือต้องแจ้งให้แพทย์ประจำตัวทราบ เพราะมีการรักษาที่ดีสำหรับ ITP” ศาสตราจารย์ชีคห์กล่าวและว่า ข้อความที่ขยายมากกว่านั้นคือความเสี่ยงจากภาวะเหล่านี้นับว่าต่ำมาก หากเทียบกับการติดโควิด

“สตีเฟ่น อีแวนส์” ศาสตราจารย์ด้านเภสัชระบาดวิทยา ประจำวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัย​ลอนดอน กล่าวว่า ภาวะ ITP เกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิดประมาณ 340 คน จาก 1 แสนคน

“แม้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะเพิ่มความเสี่ยงภาวะ ITP แต่ประโยชน์ของวัคซีนนั้นมีมากกว่าความเสี่ยง สำหรับคนส่วนใหญ่ ITP ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง แต่ก็ไม่ใช่สำหรับทุกคน”

“อดัม ฟินน์” ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยบริสตอล และสมาชิก JCVI กล่าวว่า มักมีการวินิจฉัยภาวะ ITP เมื่อไม่พบสาเหตุอื่นที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ

“มันอาจเป็นสาเหตุให้เลือดออก แต่ยังคงรักษาเพื่อป้องกันได้ และในหลายกรณีอาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้” เขากล่าว

“โดยรวมแล้ว การศึกษาครั้งนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทางโลหิตวิทยา ที่เกิดขึ้นเป็นอัตราที่น้อยมากในผู้รับวัคซีนตัวนี้ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อความพยายามควบคุมการระบาดของทั่วโลก ขณะที่ความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความกระจ่างของลักษณะอาการ, สาเหตุ และกลไกลการเกิดภาวะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง” เขากล่าวตอนท้าย

-- advertisement --