-- advertisement --

วิศกรสังคม : ยุทธศาสตร์สร้างชุมชนพลังบวกที่ยั่งยืน

วิศกรสังคม : ยุทธศาสตร์สร้างชุมชนพลังบวกที่ยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

มหาวิทยาลัยราชภัฏ ผุดโปรเจค “วิศวกรสังคม” เป็นนวัตกรรมการศึกษาแนวใหม่ หวังเป็นกลยุทธ์ สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่รับใช้สังคม เป็นตัวกลางในการหล่อหลอมความรู้วิชาการและเสริมสร้างศักยภาพนิสิตนักศึกษาที่จะออกไปช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น โดยสามารถเข้าถึงต้นตอปัญหาท้องถิ่น ซึ่งแนวคิดวิศวกรสังคมถูกขยายผลออกไปอย่างรวดเร็วในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้ง 38 แห่ง  ขณะนี้ โดยจะเห็นว่ามีการขยับตัวกันอย่างคึกคักทั้งการปรับยุทธศาสตร์การดำเนินพันธกิจของมหาวิทยาลัย ตามยุทธศาสตร์ใหม่ระยะ 20 ปี(พ.ศ. 2560-2579) ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน” และกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13(พ.ศ.2566-2570)ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ มีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งของฐานการผลิตและการบริการเดิม มุ่งขยายฐานใหม่ โดยการใช้นวัตกรรมมาช่วยสร้างความเข้มแข็งในทุกมิติ

มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นในการทำงานร่วมกับ ชุมชน สังคมและท้องถิ่นมายาวนานด้วยบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ชัด  คือเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาซึ่งคำว่า “พัฒนา” ก็คือการพัฒนาคนในท้องถิ่นต่าง ๆ นั่นเอง ดังนั้น การพัฒนาจึงต้องพัฒนาทั้งในแง่องค์ความรู้แก่ชุมชน สังคม ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่มี ไปแลกเปลี่ยนระหว่างกัน และนำมาพัฒนาชุมชนของตนให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บทบาทการสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างคน สร้างทักษะชีวิต ภายใต้แนวคิด “วิศวกรสังคม” ได้เกิดเป็นทางเลือก ที่กำลังกลายเป็นทางหลักแก่ชุมชน โดยมีนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาในสถาบันต่าง ๆ นั้น ได้เกิดแรงกระตุ้นความคิดเชิงบวก การคิดเชิงยุทธศาสตร์ในการทำงานเชิงรุกให้กับชุมชนเพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองภายใต้ทุนทางสังคมคือทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนเองดังนั้น วิศวกรสังคม  หรือ Social Engineerนั้น ก็คือกลุ่มคนที่ใส่ใจจะช่วยกันดูแลและพัฒนาเรื่องราวของตนเอง และต้องการช่วยกันสร้างสังคมให้ดีขึ้น โดยมีวิธีการสร้างสังคมทั้งการสังเกต การเก็บข้อมูล คิดวิเคราะห์ แบบมีเหตุและผล บริหารจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ ใช้วิธีการเข้าถึงชุมชนด้วยการลงพื้นที่ คิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาและสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทั้งในพื้นที่ชนบทและชุมชนเมือง ให้สามารถยกระดับความสามารถในการจัดการตนเองได้ โดยบทบาท หน้าที่ของวิศกรสังคมนั้นจะต้องสามารถวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน ช่วยในการยกระดับองค์ความรู้ในชุมชนได้ดีการสร้างนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาชุมชน ตลอดจนสร้างความยั่งยืนในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่บนฐานข้อมูลของชุมชน

วิศวกรสังคม ถูกจับตาในฐานะเป็นวิศกรแนวใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน มีลักษณะของการเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกได้ว่าครบเครื่องในสถาบันการศึกษาก็ต้องถือว่าถูกยกระดับของการเป็นบัณฑิตที่แทบจะเรียกว่าลอกคราบเก่าทิ้งเกือบทั้งหมด ประกอบสร้างเป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งได้ถูกปรับแต่ง จูนทิศทางให้เหมาะกับการเป็นนักพัฒนาที่ต้องมีคุณสมบัติที่จะตอบโจทย์สังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างครบครัน  คือเป็นนักพัฒนาที่มีความเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ นักเหตุผล เจอปัญหาแล้วไม่ถอย มองเห็นปัญหาเป็นสิ่งท้าทาย มีทักษะในการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อการแก้ปัญหา  มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นนักประสานงาน และคุณสมบัติที่โดดเด่นสำคัญคือการมีคุณสมบัติเป็นนักนวัตกรรม ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศด้านการพัฒนาท้องถิ่นมีพันธกิจคือการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547มุ่งผลิตบัณฑิตและพัฒนาครู ให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21ขับเคลื่อนเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในและต่างประเทศ  บูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ เพื่อสร้างและประยุกต์ใช้องค์ความรู้  ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการ  ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและใช้หลักธรรมาภิบาลที่ระบุไว้ตามมาตรา 7 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ที่กำหนดไว้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏ จึงมีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นปัญญาของแผ่นดิน สร้างสรรค์ศิลปวิทยาเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นมหาวิทยาลัยแกนนำแห่งหนึ่งในกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนและมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษามีความรู้ สามารถคิดวิเคราะห์ข้อมูล ที่เชื่อมโยงกับประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมด้วยแนวคิดวิศวกรสังคมที่เกิดขึ้นให้สามารถใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเข้ากับสถานการณ์ได้ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเรียนรู้ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้นิสิตนักศึกษาได้เติบโตทางความคิดอย่างมีคุณภาพ มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง มีความสามัคคี โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดการพัฒนาให้เป็นประโยชน์ในมิติที่เกี่ยวข้องให้มากและกว้างยิ่งๆ ขึ้นไป

จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและเพื่อสร้างนวัตกรรม ในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและสังคม ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นสถาบันหลักในด้านการศึกษาชุมชนท้องถิ่น เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เป็นแหล่งรวมของนักวิชาการ นักปฏิบัติ มีทั้งองค์ความรู้ และเครื่องมือที่ทันสมัย พอที่จะยกระดับคนในประเทศไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสามารถจะร่วมไม้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชนและภาคประชาสังคมได้ดีกว่าหน่วยงานอื่นค่อนข้างมากทีเดียว โจทย์ที่ท้าทายก็คือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานที่เป็นกลุ่มก้อน เป็นสถาบันทางการศึกษา ที่จะเป็นทั้งเส้นเลือดของสังคมนี้เป็นเส้นทางของการไหลเวียน หมุนเวียน  หล่อเลี้ยงร่างกายที่เปรียบได้เช่นเดียวกับประเทศของเราให้มีความแข็งแรง นั่นเป็นเรื่องสำคัญที่สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะต้องเป็นแกนกลางในการสร้างทักษะที่จำเป็น โดยใช้กลยุทธ์วิศวกรสังคมเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ “ราชภัฏสร้างคน คนสร้างชาติ” เพื่อสร้างนิสิตนักศึกษาให้สามารถออกไปรับใช้สังคม สร้างงานและขับเคลื่อนชุมชน สังคมและท้องถิ่นเป็นนักปฏิบัติการที่พร้อมใช้งานได้ทันที เพราะการพัฒนาที่มาช้าก็เหมือนไม่พัฒนา

วิศวกรสังคม จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างชุมชนพลังบวก ที่ทำงานด้วยใจ ใช้จิตอาสา เป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงานเชิงรุกโดยนำหลักบูรณาการศาสตร์มาใช้ มีวิสัยทัศน์ในการมองหารอยต่อที่จะเชื่อมโยง ร้อยเรียงภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งภายในและภายนอกสู่สาธารณะเพื่อยกระดับการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและสังคมให้มีศักยภาพและคุณภาพที่สูงขึ้น เป็นนักพัฒนาพันธุ์ใหม่ ที่อัดแน่นไปด้วยพลังด้านบวก ที่จะรับช่วงต่อ เกาะติดงานเดิม เพิ่มเติมงานใหม่ รวมพลังสร้างสังคมไทยให้มีความก้าวหน้า มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในทุกมิติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในโลกที่ทันสมัยและอนาคตที่เต็มไปด้วยความผันผวน ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้อย่างง่าย ยุทธศาสตร์สร้างชุมชนพลังบวก จะมีวิศวกรสังคม เป็นกำแพงให้พิงและยืนเคียงข้างร่วมกันกับชุมชน ท้องถิ่นและสังคมตลอดไป

-- advertisement --