-- advertisement --

สกศ.เดินสายแถลงขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติ

ปฏิรูปการศึกษานำไทย 4.0 ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

วันที่ 14 มิ.ย.60 ที่โรงแรมตักสิลา จ.มหาสารคาม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการเดินสายแถลงครั้งที่ 3 โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพร้อมปาฐกถาพิเศษ “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 กับการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0” เรื่องศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการศึกษา ตอนหนึ่งว่า

“…แผนการศึกษาชาติ 20 ปี มีระยะดำเนินการ 4 ช่วง คือ ช่วงแรก ปี 2560-2564 ช่วงที่ 2 ปี 2565-2569 ช่วงที่ 3 ปี 2570-2574 และช่วงสุดท้าย ปี 2575-2579 โดยเน้นการศึกษาวิจัย ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ส่งเสริมเด็กและเยาวชนอนาคต เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ มุ่งมั่น วิริยะ มุ่งมั่น รักคุณพ่อคุณแม่ อยากให้ทุกคนศึกษาแนวทางการศึกษาชาติ ร่วมกันคิดว่าต่อไปเด็กไทยในอุดมคติในอนาคตควรเป็นคนอย่างไร ต้องศึกษาจากบทเรียนในอดีต สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ ฝ่ายการศึกษาต้องวางแผนขับเคลื่อนการศึกษาของชาติให้ดี ทั้ง 4 ระยะ ไปพร้อมกับการเรียนรู้อย่างตลอดชีวิตทุกช่วงวัย ถึงแม้วัยเกษียณก็ยังเรียนรู้ได้ ครู-อาจารย์ นำโดย ผอ.โรงเรียน คือตัวอย่างสำคัญที่สุดของเด็ก ขอฝากความหวังผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง ต้องมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู ที่น่าภาคภูมิใจ

…อยากให้ครูอาจารย์น้อมนำศาสตร์พระราชา ทั้ง 5 ประการ 1.ความพอเพียง 2.ความซื่อสัตย์สุจริต 3.ความรับผิดชอบ 4.ความกตัญญู และ 5.ความมีคุณธรรมจริยธรรม นำไปปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนสนองพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างความสันติสุขแก่บ้านเมือง…”

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากเห็นภาพชัดเจนและเป็นคำตอบแก่สังคม ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้รื้อฟื้นศึกษาธิการจังหวัด ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อขยายโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาทั่วประเทศ ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานช่วยกันผลักดันแผนการศึกษาชาติ ระยะ 20 ปี ให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และ อ.กศจ. 3 ชุด สามารถขับเคลื่อนได้ดี ผู้คนมีความรู้ความสามารถสร้างจิตสำนึกรักจังหวัด รักท้องถิ่น และที่สุดแล้วคือทุกคนรักประเทศไทย ทำอย่างไรไม่ให้เด็กทอดทิ้งบ้านเกิดมาหางานทำในกรุงเทพฯ แม้เป็นเรื่องที่ห้ามยาก เพราะศักยภาพแต่ละจังหวัดไม่ได้เท่ากันในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า แผนการศึกษาชาติ 20 ปี ถือเป็นธรรมนูญขับเคลื่อนการศึกษาที่มีความสำคัญต่อทิศทางการอนาคตของประเทศในอนาคต มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

…ถือเป็นแผนการศึกษาระยะยาวฉบับแรกที่มีในประเทศไทย เกี่ยวข้องกับการศึกษาของคนตลอดช่วงชีวิตทั้ง 5 ช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงวัย มีกระบวนการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับผิดชอบเพียงหน่วยเดียว แต่เชื่อมโยงบูรณาการการศึกษาอย่างน้อย 11 กระทรวง 53 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา รวมทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ อุดมปัญญา มีเหตุผล คุณธรรม สร้างกำลังคนที่นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า

“จ.มหาสารคาม คือ แหล่งตักสิลาการศึกษาของประเทศ ถือเป็นเมืองแห่งองค์ความรู้วิชาการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือสมาร์ทเอ็ดดูเคชั่น ซิตี้ เป็นแหล่งสั่งสมวิทยาการของชาวอีสาน ดังนั้น สถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา วิทยาลัยเทคนิค มหาวิทยาลัย ต้องร่วมกันผลิตกำลังคนคุณภาพ แหล่งรวมความรู้ ช่วยกันเร่งขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น วรรณกรรม เสริมสร้างภูมิปัญญาคนอีสาน มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงให้ระดับมัธยมเข้ามาใช้ห้องแลป ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ เสริมสร้างการเรียนรู้อย่างเข้มแข็งด้วยระบบพี่เลี้ยง (Mentor) ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศชั้นนำของโลก ส่งเสริมอุดมศึกษาต่อยอดเสริมความเข้มแข็งงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเพื่อธำรงอัตลักษณ์ชาวอีสาน เช่น วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรมไทยท้องถิ่น ฯลฯ สอดรับยุคประเทศไทย 4.0”

ด้าน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ฐานะคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจด้านจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า ความสำเร็จของแผนการศึกษาชาติคือ ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ และ 5 เป้าหมาย ซึ่งผ่านการพิจารณามาอย่างดีบนพื้นฐานของงานวิจัย เชื่อมั่นว่าแผนฉบับนี้จะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และเสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยที่ดีขึ้น มุ่งเน้นเพิ่มโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกรูปแบบและช่องทางการเรียนรู้

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ และทุกระดับการศึกษา ได้รับการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ในสถานศึกษาที่มีมาตรฐาน และคุณภาพทัดเทียมกัน นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีระบบฐานข้อมูลกลางรายบุคคล ทุกช่วงวัย ที่เชื่อมโยงกันได้ และสามารถแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลระหว่าง ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ สามารถใช้ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน สร้างระบบสารสนเทศทางการศึกษา ที่ครอบคลุม ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน เพื่อการวางแผนการบริหารจัดการศึกษา การติดตามและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายร่วมปฏิรูปการศึกษา สอดคล้องทิศทางในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่มีบัญญัติชัดเจนตามมาตรา 50 มาตรา 54 มาตรา 258 จ และมาตรา 261 โดยเฉพาะระดับปฐมวัย มีความสำคัญมาก

ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษา ในภาคอีสานที่มีมากกว่า 30 แห่ง ต้องเข้ามามีบทบาทการส่งเสริมความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการดูแลส่งเสริมการเรียนรู้ในเด็กเล็ก ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ในการสร้างเด็กที่มีคุณภาพ และในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามมาตรา 261 จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ขับเคลื่อนไปพร้อมกับแนวทางของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือเป็นคัมภีร์ ในการร่วมปฏิรูปประเทศไทยให้เกิดความเข้มแข็งทางการศึกษา

นายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคอีสานตอนกลาง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ส่งเสริมให้ต่างประเทศทั้งจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนต่อยอดอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

ดังนั้น ภาคการศึกษา จำเป็นต้องผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะภาคผู้ประกอบการ ต้องการกำลังคนที่พร้อมจะทำงานได้ทันที การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ต้องมีความพร้อมทุกด้าน โดยเริ่มต้นจากการปฏิรูปการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

-- advertisement --