-- advertisement --

สนช.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

เผยกลุ่มเป้าหมายรอช่วยเหลือดูแลพัฒนา 4.3 ล้านคนคน วงเงิน 25,000 ล้านบาท เฉลี่ยเพียงคนละ 6,000 บาทต่อคนต่อปี ลงทุนวันนี้ไม่เป็นภาระอนาคตประเทศ

วันที่ 23 ก.พ.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งที่ประชุมมีติเห็นชอบแล้ว ส่วนกรณีที่สำนักงบประมาณ ไม่เห็นชอบงบฯ สนับสนุนกองทุนฯ 5% ของงบฯ ทางการศึกษา เป็นเงินประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เสนอนั้น เป็นรายละเอียดที่ต้องหารือต่อไป

ด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ คณะกรรมการ กอปศ. และสมาชิก สนช. กล่าวว่า สนช.มีผ่านร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ 184 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 188 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมตนได้อภิปรายชี้แจงให้ที่ประชุมเข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนฯ นี้ เหตุผลหลักเพราะประเทศไทย มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการศึกษาสูงสุด เป็นอันดับ 3 ของโลก ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวนั้น เกิดจากระบบการบริหารจัดการงบประมาณ และการจัดการศึกษาที่ผ่านมา ไม่สามารถจะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการศึกษาได้ และการที่ประเทศไทยจะบรรลุยุทธศาสตร์ชาติในการที่จะเป็นประเทศไทย 4.0 ได้ จำเป็นที่จะต้องมีพลเมืองคุณภาพ ที่ผ่านการศึกษา 4.0 ได้แก่ การเน้นไปที่การลงทุนทางการศึกษา ซึ่งไม่ควรถือเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและคนไทยทุกคนให้เป็นพลเมืองคุณภาพ เป็นการลดภาระในอนาคตของรัฐ ที่จะต้องมาทำสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือคนเหล่านี้ ซึ่งกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือไปจนตลอดชีพ

นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กองทุนฯ มุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เด็กในครรภ์ เพื่อคลอดออกมาจะได้มีระดับสติปัญญาเท่าเทียมกับคนชั้นกลาง เด็กอายุ 0-3 ปี ที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อม มีความยากไร้ และขาดความรู้ ที่จะดูแลเด็กได้อย่างมีคุณภาพ, เด็กอนุบาล ที่มีจำนวน 2 แสนคนเศษที่ไม่ได้เรียน, การศึกษาภาคบังคับ(ป.1-ม.3) มีเด็กต้องออกกลางคัน 2 แสนคน, กลุ่มที่บกพร่องและพิการ 3 แสนคน, กลุ่มยากจน 1.8 ล้านคน, จบ ม.ต้น แล้วไม่ได้เรียนต่ออีก 2 แสนคน, เรียนด้วยความยากลำบากอีก 300,000 คน, ไม่ได้เรียนต่อทั้งสายอาชีวะ-สายสามัญ ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยอีก 2 แสนคน

รวมจำนวนประชากรเป้าหมายที่กองทุนฯ จะให้การช่วยเหลือดูแลพัฒนา 4.3 ล้านคนคน ภายใต้กรอบวงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากเลยเฉลี่ยเพียงคนละ 6000 บาทต่อคนต่อปี

“ถ้ากองทุนไม่เกิดขึ้น คนเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือ และอาจตกงาน หรือมีรายได้ไม่เพียงพอ เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว เกิดการกระทำผิดทางกฎหมาย แล้วก็ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เป็นภาระงบประมาณในการจัดสร้างเรือนจำและจ้างพัศดีเพิ่ม นอกจากนั้น ยังทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบทางลบอีกเป็นจำนวนมากด้วย เราพบว่ารัฐบาลมีหนี้เงินกู้ที่ต้องชำระ ในปี 2561 ถึง 86,000 ล้านบาท คิดเป็น 3% ของงบประมาณทั้งปี 2.9 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเราใช้เงินกองทุนฯ เพียง 0.86% ของงบประมาณแผ่นดิน หรือ 5% ของงบทางการศึกษา 25,000 ล้านบาท จะสามารถสร้างศักยภาพของคนทำให้มีรายได้ดูแลตัวเองได้ และทำให้การจัดเก็บภาษีของประเทศเพิ่มขึ้น และรัฐบาลจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปกู้เงินจากต่างประเทศมาอีก”นพ.เฉลิมชัยกล่าว

-- advertisement --