-- advertisement --

สพฐ.พบ12รร.อาหารกลางวันไม่ได้คุณภาพ

“เลขา กพฐ.”เผย ตั้งกรรมการตรวจสอบแล้วใน10เขตพื้นที่ ส่ง ผอ.สำนักตรวจสอบภายใน และ ผอ.สำนักคลัง ลงเอ็กซเรย์

วันที่ 19 มิ.ย.2561 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอาหารกลางวันนักเรียน ว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดระบบให้โรงเรียนดำเนินการต่อเนื่องหลายสิบปี ความไว้วางใจอยู่ที่โรงเรียนต้องบริหารให้เป็นระบบ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ จะต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลในโรงเรียน ซึ่งมีระบบที่ทำกันมานาน ภายใต้งบประมาณที่รัฐบาลจัดให้ แต่ขณะนี้พบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม มีการทุจริต และการจัดซื้อวัตถุดิบที่ไม่มีการถ่วงดุลเกิดขึ้น ซึ่งโรงเรียนที่ดำเนินการไม่เหมาะสม สพฐ.ได้ดำเนินการสอบสวน และลงโทษทางวินัยอย่างเข้มงวด ส่วนใหญ่ถูกสั่งให้ไปประจำส่วนราชการ หรือบางคนถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ถือว่าไม่มาก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมพัฒนาการของนักเรียน

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนที่ถูกร้องเรียนเรื่องอาหารกลางวันไม่มีคุณภาพ และบริหารจัดการไม่โปร่งใส ขณะนี้มีประมาณ 12 โรงเรียน ใน 10 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษา (สพป.)ปราจีนบุรี เขต 1 จำนวน 1 โรงเรียน, สพป.พิษณุโลก เขต 2 จำนวน 1 โรงเรียน จัดอาหารไม่ได้คุณภาพแต่ไม่ได้ทุจริต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา( สพม.) เขต 5 จ.สิงห์บุรี จำนวน 1 โรงเรียน อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า มีการทุจริตหรือไม่, สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 2 จำนวน 1โรงเรียน กรณีให้นักเรียนกินขนมจีนคลุกน้ำปลา ให้ผอ.โรงเรียนออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว, สพป.นราธิวาส เขต 2 จำนวน 1 โรงเรียน ย้าย ผอ.โรงเรียนออกจากพื้นที่ฯ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยแล้ว, สพป.สุรินทร์ เขต 3 จำนวน 3 โรงเรียน มีการทุจริต สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ ผอ.โรงเรียนไปประจำยังเขตพื้นที่ฯ, สพป.ลพบุรี เขต 2 จัดอาหารไม่ได้คุณภาพ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว, สพป.ขอนแก่น เขต 1 อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง และย้าย ผอ.โรงเรียนออกจากพื้นที่แล้ว และสพป.อ่างทอง ตรวจสอบแล้วไม่เป็นไปตามที่ร้องเรียน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวย้ำว่า สพฐ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงไปทั้งหมด และถ้ามีมูลว่ามีความผิด ก็สั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น หรือให้ไปประจำที่เขตพื้นที่ฯ เพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างเต็มที่ โดยล่าสุด ได้สั่งการด่วนให้ ผอ.สำนักตรวจสอบภายใน และ ผอ.สำนักคลัง สพฐ. ซึ่งเป็นผู้รู้เรื่องระเบียบพัสดุและการเงิน ลงไปตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาลขอนแก่น ที่ได้รับงบฯ จำนวนมาก และโรงเรียนจะใช้วิธีจ้างเหมาด้วยวิธีประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding (อี-บิดดิ้ง) ว่าการใช้วิธีจ้างเหมาลักษณะนี้ทำได้หรือไม่ กระบวนการทำอี-บิดดิ้ง ทำอย่างไร สัญญาที่จ้างมีรายละเอียดอย่างไร และกระบวนการตรวจรับเป็นอย่างไรคิดว่า ไม่นานจะได้ข้อมูลเบื้องต้น ตรงนี้ถือว่าสั่งการให้ลงไปตรวจสอบเป็นการภายใน และส่งชุดเฉพาะกิจลงไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง หากมีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป ขณะเดียวกันยังสั่งการให้ ผอ.โรงเรียน ไปปฏิบัติหน้าที่ยังเขตพื้นที่ฯ แล้ว เพื่อให้มีความสะดวกในการตรวจสอบ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการไปยัง ผอ.สพท.ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบกระบวนการจัดสรรงบฯ อาหารกลางวันของโรงเรียนทั่วประเทศ ถ้าพบว่าไม่ดำเนินการตามกระบวนการที่ให้มีการถ่วงดุล ตรวจสอบ หรือไม่มีหลักฐานในการดำเนินการให้ถือเป็นความบกพร่องของ ผอ.โรงเรียน ด้วยจากนี้ สพฐ.จะมีความเข้มงวดและจริงจัง โดยจะเข้าไปควบคุมกระบวนการไม่ใช่ว่า รอให้มีการทุจริต แล้วจึงเข้าไปแก้ย้อนหลัง รวมถึงย้ำไปยัง ผอ.สพท.ในพื้นที่เพื่อควบคุมกำกับดูแลโรงเรียนอย่างใกล้ชิดไม่เพียงแต่เรื่องอาหารกลางวันเท่านั้น แต่รวมถึงความผิดอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วย

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า เรื่องอาหารกลางวันนักเรียนนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญมากกับการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการอาหารกลางวัน แม้บางคนระบุว่าบางพื้นที่วัตถุดินแพง แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไก โปร่งใสถูกต้อง หากพื้นที่ใดเด็กได้ปริมาณอาหารน้อย เป็นเรื่องที่เราต้องคิดแก้ไข สพฐ.มีนโยบาย ส่งเสริมงานเกษตรในโรงเรียนมานานแล้วว่าโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถ้าวัตถุดิบในการประกอบอาหารราคาแพง โรงเรียนต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้นักเรียนใช้เวลา ชั่วโมงการงานและพื้นฐานอาชีพ มาปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา หมุนเวียนเข้าระบบสหกรณ์ ส่งต่อไปยังอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งเรามีตัวอย่างโรงเรียนลักษณะนี้จำนวนมาก หรืออีกตัวอย่างที่เริ่มดำเนินการในโรงเรียนที่มีพื้นที่จำกัด ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้ชุมชนปลูกผัก เลี้ยงไก่ ส่งขายโรงเรียนในราคาถูกเข้าระบบสหกรณ์ เข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจการโอนเงินภาพรวมแม้จะโอนเงินล่าช้าบ้างในบางพื้นที่ แต่ก็พบว่าโรงเรียนแก้ปัญหาได้โดยใช้เงินอุดหนุนมาดำเนินการจัดหาอาหารกลางวันให้นักเรียน ไม่ได้มีปัญหามากนักในทางปฏิบัติ แต่ต้องพัฒนาระบบงบฯ ร่วมกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนมีความสะดวกในการดำเนินการ

-- advertisement --