-- advertisement --

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานและมอบนโยบายในการประชุม “เคลียร์คัท กับประเด็นการขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และการประเมินสมรรถนะ“ โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. อาทิ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาการผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา และวิทยากรจาก สวก.และ สทศ. ร่วมบรรยายพิเศษในประเด็นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านสถานี OBEC Channel ไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่สนใจ ได้รับชมทั่วประเทศอีกด้วย

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดการประชุมในวันนี้เพื่อสร้างความเข้าใจ ความชัดเจนให้แก่หน่วยปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา โดยมีขอบข่ายเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบาย แนวทาง และแผนการขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ผ่าน Active Learning รวมถึงการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน แนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 แนวทางและเครื่องมือการวัดและประเมินผลสมรรถนะของผู้เรียน โดยคาดหวังว่า ในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางฯ ผ่านกระบวนการ Active Learning ในระดับสถานศึกษาจะมีหลักสูตรสถานศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ในระดับครูผู้สอนจะมีหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ จัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และส่งผลให้นักเรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

สพฐ. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้นำนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล นำมาขับเคลื่อนตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งกำหนดให้พัฒนาการศึกษาในเรื่องที่สำคัญ คือ การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะ ผ่านหลักสูตรสถานศึกษาไปสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริง รวมถึงการพัฒนาครูมากกว่า 400,000 คน ให้เข้าใจถึง Active Learning ว่าต้องจัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร จากนั้นเมื่อครูผ่านการอบรมแล้ว เราต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนจริงในภาคปฏิบัติจึงได้จัดการประชุมในวันนี้

ครูผู้สอนจัดการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผล โดยให้เด็กเป็นคนแสวงหาความรู้เอง แล้วให้ครูเป็นคนคอยอำนวยการชี้แนะแนวทาง (Coaching) ส่วนทางผู้อำนวยการเขตพื้นที่และผู้อำนวยการโรงเรียนเองก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ครูได้ทำการวัดและประเมินผลที่เปลี่ยนไปตามบริบท สุดท้ายแล้วเมื่อทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางเดียวกันก็จะเป็นการขับเคลื่อน Active Learning ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ที่ไม่ได้ต้องการคนเรียนเก่งสอบเก่งเท่านั้น แต่ต้องการคนที่ทำงานเป็น คิดเป็น ทำเป็น แตกต่างกันไปตามบริบทของท้องถิ่นและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวในการบรรยาย “แนวทางการขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ผ่าน Active Learning” ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาทางเขตพื้นที่ฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning (AL) ได้ดีอยู่แล้ว โดยเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณสมบัติเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) และยิ่งได้คณะทำงาน One Team ที่ประกอบด้วย ผอ.สวก., สทศ., สบว., สบน., ศนฐ. และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ. มาร่วมขับเคลื่อน ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของการบริหารจัดการศึกษาในระดับเขตพื้นที่ โดยเฉพาะผู้บริหารที่จะต้องเป็นผู้นำในการพาคิด พาทำ นำสู่การปฏิบัติ จึงจะทำให้โรงเรียนก้าวเดินไปแบบไม่หลงทาง บุคลากรก็มีความเชื่อมั่นและชัดเจนในการปฏิบัติได้

“ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือการจัดรูปแบบ Active Learning ในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างระบบการคิดในทุกๆ ชั่วโมงการสอน และนักเรียนจะเกิดการคิดอย่างเป็นระบบโดยอัตโนมัติ อีกทั้ง การบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ บูรณาการตัวชี้วัด ใส่ Attitude & Value ผ่านการเรียนรู้อย่างมีความหมาย จะทำให้นักเรียนมีเวลาเหลือจากการบูรณาการดังกล่าว นักเรียนจึงสามารถ create ชิ้นงานได้ และมีเวทีแสดงผลงานของนักเรียน ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างสถานการณ์ให้นักเรียนได้แสดงพฤติกรรม เพื่อนำไปสู่สมรรถนะของผู้เรียนได้ในที่สุด “รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

-- advertisement --