-- advertisement --

สภานักเรียนยื่น 5 ข้อเสนอช่วยรบ.พัฒนาการศึกษา

สภานักเรียนยื่น 5 ข้อเสนอช่วย รบ.พัฒนาการศึกษา

วันที่ 13 ม.ค.2561 ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำคณะสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2561 กว่า 100 คน เข้าพบ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เพื่อยื่นข้อเสนอในการพัฒนาการศึกษาถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศธ.เป็นแนวทางในการพิจารณา โดยมี ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหาร สพฐ. เข้าร่วม

นายปริวัตร เทียบทอง นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานสภานักเรียน กล่าวว่า คณะสภานักเรียนได้จัดประชุมสัมมนาวิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหา สถานการณ์ต่างๆในสถานศึกษา ชุมชน สังคมและประเทศชาติ และได้ข้อสรุปใน 5 ประเด็น ดังนี้ 1. การนำหลักคิดประชาธิปไตยมาใช้ในชีวิตประจำวัน สภานักเรียนเสนอให้ส่งเสริมการนำหลักคิดประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน 2. การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้ตรงกับความถนัดเพื่อการมีงานทำ เสนอให้ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนในวิชาแนะแนวของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ให้สะท้อนถึงความสำคัญของการศึกษาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้และต่อยอดเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคตได้จริง รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาหรือหน่วยงานทางการศึกษากับภาคประชารัฐให้มากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ให้มีความเชื่อมโยงกัน

3. การเรียนรู้และใช้เทคโนโลยียุคไทยแลนด์ 4.0 สภานักเรียนเสนอให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทต่อการศึกษา มีส่วนช่วยเรื่องการเรียนรู้สนับสนุนการจัดการศึกษา การสื่อสารระหว่างบุคคล พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเกิดการศึกษาในรูปแบบใหม่ 4. การส่งเสริมให้เยาวชนรักและสนใจในอาชีพครู โดนเสนอให้โรงเรียนประชาสัมพันธ์และแนะแนวให้กับนักเรียน สำหรับประเด็นนี้สภานักเรียนเสนอโครงการ “TSC ครูที่หนูรัก” โดยเชิญชวนให้นักเรียนทุกโรงเรียนเสนอเรื่องราวความดีของครูผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และ 5. การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของนักเรียน เสนอให้ส่งเสริมสภานักเรียนทุกโรงเรียนจัดกิจกรรม “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งค่ายพัฒนาทักษะชีวิต ร่วมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น เอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชนในลักษณะประชารัฐ ไปจนถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสภานักเรียนของโรงเรียนต่างๆ เพื่อประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ด้าน นพ.อุดม กล่าวว่า ในโอกาสขอชื่นชมสภานักเรียนทุกคนที่ได้ร่วมกันให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะซึ่งหลายๆข้อนั้น ก็ตรงกับสิ่งที่ ศธ.กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย การสร้างค่านิยมโดยเฉพาะเรื่องการเรียนสายอาชีพ ที่ปัจจุบันพ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีค่านิยมให้ลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้ปริญญา ซึ่งไม่จริงที่ว่าเราต้องการทุกคนที่จบมหาวิทยาลัย เพราะคนที่จบมหาวิทยาลัยจะเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่เรากำลังต้องอย่างมาก คือ คนที่เรียนสายอาชีพ เรียนอาชีวศึกษา แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกเรียนอาชีวะ เพราะรู้สึกว่าต่ำต้อย ทั้งที่ถ้ามองย้อนไปดูต่างประเทศ จะเห็นว่าให้ความสำคัญกับคนเรียนอาชีวะมาก เพราะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา จึงเป็นที่มาที่พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้ ศธ.ปฏิรูปอาชีวศึกษาให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อผลติกำลังคนเข้ามาพัฒนาประเทศ จึงอยากฝากให้เราทุกคนช่วยกันค้นหาตัวตนของตนเองให้เจอ

“อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของสภานักเรียน คือการพัฒนาทักษะชีวิต เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเราเน้นแต่ทักษะเชิงลึก แต่ยังขาดในเรื่องความรู้ด้านกว้าง เช่น การคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การเป็นผู้นำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การทำงานของสภานักเรียนจนถึงเวลานี้มีทั้งสิ้น 12 รุ่นถือว่าเกิดผลดี แต่ผมมองว่าเท่านี้ไม่พอ ต้องขยายให้เยอะขึ้นเพราะเรามีเด็กเป็นแสนๆคนต้องช่วยกันส่งเสริมให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมคิด”นพ.อุดม กล่าว

-- advertisement --