-- advertisement --

สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่   ม.ธรรมศาสตร์ MOU บ.เอกชน เสริมกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

ม.ธรรมศาสตร์ ลงนาม MOU ร่วมกับ 3 บริษัทเอกชน สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เสริมกำลังคนที่มีสมรรถนะตอบโจทย์ภาคการผลิต ป้อนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร สนองนโยบายรัฐบาบล เดินหน้าปฏิรูปอุดมศึกษาไทย

วันนี้ (18 ก.ค.61) รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมด้วยนางลลานา ธีระนุสรณ์กิจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด นายสุทธิพงศ์ วรวิสุทธิ์สารกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ธีรภัทรฟู้ดส์ จำกัด และนายพรชัย ปานศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการบริษัท พีซี ทูน่า จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (M0U)โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ประภาศรี เทพรักษา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี

รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงนาม M0U ครั้งนี้ สืบเนื่องจากบริษัท เคซีจี จำกัด บริษัท พีซี ทูน่า จำกัด และบริษัท ธีรภัทรฟู้ดส์ จำกัด ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย โดยพัฒนาบุคลากร องค์ความรู้ ของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สนองวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม Thailand 4.0 โดยเน้นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างฐานการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งอนาคต

“ทั้งนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิต สร้างต้นแบบของหลักสูตรและการเรียนการสอน เน้นการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระ โครงสร้างหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนการสอน สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในสถานที่จริงเป็นสำคัญ พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและศักยภาพสูง รวมทั้งการร่วมมือกับสถานประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบัณฑิตและกำลังคน”คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาศรี เทพรักษา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อผลิตบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีความพร้อมทำงานในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพพัฒนาบุคลากร รวมถึงยกระดับวุฒิการศึกษา ศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์อาหาร ให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดนวัตกรรมใหม่ ช่วยเหลือสังคมและพัฒนาชาติได้ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมด้านอื่นๆ ตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงร่วมกัน โดยได้รับการฝึกปฏิบัติงาน ฝึกอบรม สัมมนา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ

รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาศรี กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะนักศึกษาและคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถเข้าศึกษาดูงาน ฝึกปฏิบัติงาน หรือฝึกอบรม ณ สถานที่อื่นใดตามที่บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท พีซี ทูน่า จำกัด และบริษัท ธีรภัทรฟู้ดส์ จำกัด พิจารณาเห็นสมควร ขณะที่ บุคลากรของบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท พีซี ทูน่า จำกัด, บริษัท ธีรภัทรฟู้ดส์ จำกัด สามารถเข้าศึกษาดูงาน หรือฝึกอบรม ณ สถานที่อื่นใดตามที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นสมควรเช่นกัน รวมทั้งสามารถเพิ่มโอกาสในการพัฒนาบุคลากร เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ การฝึกอบรมร่วมกัน และการพัฒนาองค์ความรู้ของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนด้านการศึกษา การพัฒนาด้านการวิจัย ผลิตผลงานทางวิชาการและอื่นๆ ในอนาคต ส่งผลให้ได้บัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่เป็นผู้ที่มีทักษะ สมรรถนะและศักยภาพสูงในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง สามารถทำงานที่หลากหลายได้ เป็นการตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

ขณะที่ นางลลานา ธระนุสรณ์กิจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ภาคเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาจะทำให้กระทบกับยอดการจำหน่าย และการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปสู่ตลาดก็ต้องมีบุคคลากรที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้ต้องเตรียมนักศึกษาตั้งแต่เริ่มเรียนในมหาวิทยาลัย ตลอดจนมุมมองทางด้านการตลาด ซึ่งทำให้นักศึกษามีความรู้ด้านวิชาการ อันจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งและแข่งขันกับตลาดโลกได้ ประเทศเจริญรุ่งเรือง

-- advertisement --