-- advertisement --

สัญญาณความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น  จากผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

นับตั้งแต่รัฐมนตรีระดับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ  และพรรคประชาธิปัตย์ คัดค้านแนวทางของพรรคภูมิใจไทยที่ไม่คิดดอกเบี้ย กยศ. และไม่ต้องการให้มีการพิจารณาในสภา แต่ในที่สุดหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ ปิดห้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นพรรคภูมิใจไทย ก็ส่งผลให้การลงมติร่าง กม.กยศ.ในที่ประชุมสภาผ่านฉลุย แต่ก็มาโป๊ะแตกในการประชุมร่าง กม.กัญชา

เมื่อย้อนดูร่างกฎหมาย กยศ. มาตรา 17 คณะกรรมาธิการชุดใหญ่ตั้งเรื่องให้คิดดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 0.25 ต่อมาหลายพรรคการเมืองลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คณะ กมธ.กำหนด แต่เห็นด้วยว่าจากนี้ไป “ผู้กู้ กยศ.ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย ไม่ต้องมีค่าปรับล่าช้า และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน” ซึ่งฝั่งพรรคภูมิใจไทยเป็นเจ้าของไอเดีย โดยหาเสียงไว้เป็นนโยบายพรรคตั้งแต่ปี 62

ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง  เพราะกองทุนดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย  เห็นว่าไม่ควรยกเลิกดอกเบี้ย เพราะอาจจะทำให้กองทุนล้มเหลว เมื่อไม่มีดอกเบี้ยก็จะไม่มีเงินหมุนเวียนในกองทุน   ซึ่งในอนาคตรัฐบาลก็อาจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย

การเปิดร่าง กม.ดังกล่าวเข้ามา ก็เหมือนเป็นการขายสินค้าตัดราคา ปาดหน้าเค้กนโยบายเก่า ต่อยอดคะแนนนิยมให้ผู้ที่เสนอ แต่ในที่สุดสภาก็ลงคะแนนให้ฝ่ายที่เห็นว่าให้ กยศ.ปลอดดอกเบี้ย ปลอดค่าปรับ เป็นฝ่ายชนะ ส่วนท่าทีของ “ประชาธิปัตย์” ที่คัดค้านประเด็นนี้ แสดงออกว่าต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ในสภาตามเกมไปก่อน

เกมของจริงจึงอยู่ที่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่ง “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ประชาธิปัตย์ หารือที่ประชุมให้พรรคภูมิใจไทยถอนร่างออกไปก่อน เพราะเห็นว่าเนื้อหาในร่างเขียนไว้อย่างหละหลวม

ขณะที่ฝ่ายค้านหลายพรรคก็เห็นด้วยกับผู้ที่เสนอให้ถอนร่างไปก่อน โดยอภิปรายสนับสนุนว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน เขาไม่เอากัญชา เพราะทุกวันนี้ยาเสพติดก็ระบาดไปทั่วแล้ว และในที่สุดเสียงข้างมากของสภาก็ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากระเบียบวาระการประชุม  เพื่อนำกลับไปปรับปรุงใหม่เสียก่อน  

ปฏิกิริยาของพรรคภูมิใจไทยจึงดุเดือด เลือดพล่าน เพราะรู้ดีว่าเป็นเรื่องเกมการเมือง ไล่ตั้งแต่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ กมธ.ที่พูดในสภาว่า “ถ้านำร่างกฎหมายฉบับนี้ไปทบทวน เพื่อนำกลับมาพิจารณาใหม่ในการประชุมสภาสมัยหน้า เชื่อว่าแม้กฎหมายฉบับนี้จะได้รับความเห็นชอบ แต่จะถูกยุบสภาไปก่อนแน่ กฎหมายก็ตกไปอยู่ดี จะนำกลับเข้ามาใหม่อย่างไรก็ล่ม ทุกคนก็ทราบกันอยู่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ต้องกลัวว่าพรรคใดจะได้คะแนนเสียง  เพราะทุกคนทำงานร่วมกัน

ตามมาด้วยคำสัมภาษณ์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุว่า ภูมิใจไทยเป็นพรรคทำงาน พูดแล้วทำ และทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนให้ดีขึ้น ไม่ต้องเร่งหาเสียง ทุกคนดูได้ว่าตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน ถึงวันนี้ก็ยังทำงานอยู่ ผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าเรื่องการฟอกไต การรักษาทุกที่

ดีเสียอีกที่เป็นแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนกันเอง ใกล้เลือกตั้ง ไอ้ที่จะต้องเกรงใจอะไรกันก็ไม่ต้องเกรงใจ” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงการเมืองที่ยังอึมครึม  เพราะผลการวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี  ยังต้องรอไปถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ แม้กระแสเสียงจากฝ่าย  “ลุงตู่” จะเชื่อมั่นว่าผ่านฉลุย และได้อยู่ต่อไปถึงการนั่งเป็นประธานการประชุมเอเปก แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่น่าจะง่ายตามที่คาดการณ์กัน เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ปัจจัยในการวินิจฉัยของศาล รธน. นอกจากข้อกฎหมายแล้วมีปัจจัยอื่นที่นอกการควบคุมเข้ามาเป็นตัวแปรหรือไม่

เมื่อจับความเคลื่อนไหวของทุกทิศทุกทางจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังถูกสกัดกั้นจากทุกทาง โดยเฉพาะตัวละครทางการเมืองที่หวังจะได้เป็น นายกรัฐมนตรีส้มหล่น ทั้งจากในบัญชีและนอกบัญชี ต่างออกอาการพร้อมเป็นผู้นำไปตามๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็น พลังของ ใจบันดาลแรง ที่หนุนส่งให้  ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ  ผิดฟอร์มลุงวัยเกิน 70 ปี ที่ตอนแรกเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง อยู่ดีๆ ก็กลับกระชุ่มกระชวย ลงพื้นที่ต่างจังหวัดแบบเดินตัวปลิว แถมมีเหล่าบรรดานักการเมือง ลิ่วล้อ ลูกหาบห้อมล้อม ไม่ต่างจากช่วงที่ “ลุงป้อม” มีอำนาจขึ้นหม้อ ตอนที่นั่งคุม ตร.-กองทัพ

ส่งผลให้ “ลุงป้อม” กลายเป็นว่าที่นายกฯ รักษาการ  เลยไปถึงนายกฯ นอกบัญชี ที่เปล่งประกาย และได้รับแรงหนุนจากกลุ่มการเมือง ด้วยแต้มต่อที่คุมพรรคที่ใหญ่ที่สุดคือ พรรควุฒิฯ กลบความเป็นหนึ่งเดียวของ 3 ป. และประโยคที่เคยประกาศไว้เต็มปากว่า “นายกฯ ไป ผมก็ไป” เสียมิดชิด

ขณะที่เพื่อไทย ซึ่งไม่ค่อยโจมตี “ลุงป้อม” มาแต่ไหนแต่ไร ก็ได้ ลด ละ เลิก การเปิดเกมปะทะกับรัฐบาล หันไปเดินหน้าสร้างกระแสนิยมให้ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งรับมรดกพรรคจากผู้เป็นพ่อไปพลางๆ โดยมีการอนุมัติลายเซ็นจาก “พจมาน จันทร์ส่องหล้า” ออกโรงไปนั่งริงไซด์ เป็นกำลังใจเชียร์บุตรสาวช่วงลงพื้นที่พบประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่ คลายข้อสงสัยว่า ตัวหลอก-ตัวจริง เพื่อรอจังหวะชิงเก้าอี้นายกฯ ในสมัยต่อไป

เพราะกระแสข่าวเรื่อง ดีล ระหว่างบิ๊กป้อม กับเพื่อไทย ไม่ได้เลื่อนลอยเสียทีเดียว หากในที่สุด “บิ๊กป้อม” ซึ่งสั่งสมบารมีมาตลอด 8 ปี อีกทั้งมีอำนาจในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีเกือบเต็มมือ สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองที่เข้มแข็ง โดยไม่เป็นศัตรูกับใคร ท้ายสุดได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย สูตรทางการเมืองจึงอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ล้างไพ่สมการพรรคการเมืองแบบพลิกขั้ว

แม้กระทั่งพรรคก้าวไกล ที่ประกาศกร้าวไม่เอาด้วยกับระบบ 3 ป.เองก็ยัง “นิ่ง” ไม่แสดงปฏิกิริยาเปรี้ยวซ่าเหมือนเดิม ทำได้ก็แค่งัดเรื่องนาฬิกายืมเพื่อนออกมาเป็นประเด็นอีกครั้ง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะรู้ดีว่าการเมืองต่อจากนี้สามารถออกได้หลายหน้า หากในที่สุดหวยไปออกที่ “ลุงป้อม” ได้จัดขั้วใหม่ แล้วเกิดมีการยื่นมิตรไมตรีมา ก็ยังไม่รู้ว่าในที่สุดผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะเลือกมายืนอยู่ฝั่งนี้หรือไม่

ขณะที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ตัวเลือกนายกฯ ในบัญชีที่เคย หายใจรดต้นคอ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงรัฐบาลซวนเซมาก่อน ก็มีความชอบธรรมที่จะถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ สกัดสูตรการเมืองในการจับขั้วใหม่ ป้องกันไม่ให้พรรคถูกดีดออก หรือเฉือนกระทรวงเกรดเอไปให้พรรคเพื่อไทย ตามที่มีข่าวลือออกมาช่วงนี้

จนกลายเป็นภาพการพบปะหารือ กระชับความสัมพันธ์ให้กำลังใจ “ลุงตู่” ของ “เสี่ยหนู” และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เพื่อดำรงสมการการเมืองของพรรคร่วมในขณะนี้ไว้ก่อน เพราะสนามการแข่งขันขณะนี้ ภูมิใจไทยเองกำลังรุกคืบเข้าพื้นที่อีสาน เพื่อชิงกับผู้สมัครพรรคเพื่อไทยหลายเขต

ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของภูมิใจไทยเอง ที่มุ่งหวังการต่อสู้ในระดับเขตเลือกตั้งเป็นหลัก ด้วยการใช้วิธีประเมิน  วัดผลในเชิงคณิตศาสตร์ เพื่อให้ได้คะแนนมาครองมากที่สุด ไม่ได้เน้นภาพลักษณ์หรือสร้างกระแส หวังซื้อใจเหล่าปัญญาชน คนกรุงเทพฯ เหมือนบางพรรค แต่เน้นไปที่เรื่องความต้องการชาวบ้าน แม้ว่านโยบายนั้นจะเล่นกับเรื่องที่สุ่มเสี่ยง หมิ่นเหม่กับการ ถูกตีตราว่าไม่ถูกต้อง ไม่ดีงามต่อสังคม

แต่ไม่มีใครรู้ว่าวันข้างหน้า การเจรจา-ต่อรอง เพื่อให้ทุกอย่างลงตัวสำหรับการเมืองทุกกลุ่มขั้ว จนนำมาซึ่งภาพของรัฐบาลที่แบ่งเค้ก หารอำนาจ จะเป็นความจริงหรือไม่  แล้วค่อยไปวัดกันในสนามเลือกตั้งยกต่อไป

ย้อนกลับไปสู่วังวนของนักการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างก็พร้อมเล่นแร่แปรธาตุ สิงสู่กับอำนาจเก่า เพื่อหวังอานิสงส์จากการเข้าไปแชร์ผลประโยชน์เฉพาะหน้า โดยไม่ได้สนใจปัญหาของประเทศที่ถาโถมเข้ามาจากวิกฤตเศรษฐกิจ  หรือหลักการประชาธิปไตยที่ประกาศยึดเสียงประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่างที่กล่าวกันติดปาก

จึงน่าสนใจว่า ประชาชนจะทนกับพฤติกรรมการเกี๊ยะเซียะทางการเมืองแบบนี้ไปได้นานแค่ไหน!!

-- advertisement --