-- advertisement --

(1) โควิด-19 แนวโน้มปี 2565

ถึงปลายปี พ.ศ.2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คล้ายกับการฉายหนังซ้ำเรื่องเดียวกันของปลายปี พ.ศ.2563 นั่นคือ สถานการณ์ดูจะดีขึ้น โลกดูเหมือนจะจัดการโควิด-19 ได้ดี และโลกก็ผ่อนคลาย เรื่อง “นิวนอร์มอล” ในการอยู่กับโควิด-19 แต่ก็เตือนกันว่า อย่าเพิ่งวางใจมากเกินไป อย่าเพิ่งผ่อนคลายการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอลเร็วและมากเกินไป

สถานการณ์ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2564 มา ก็ดูจะเป็นตามความคาดหวัง หลายประเทศก็

ผ่อนคลายเรื่องนิวนอร์มอลลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรป และประเทศทางซีกโลกใต้ ที่ดูจะจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างดีคือ นิวซีแลนด์ แต่แล้วเมื่อถึงกลางปี พ.ศ.2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกที่ผ่อนคลายเรื่องนิวนอร์มอลลงไปมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ก็กลับรุนแรงขึ้นอีก ต้องกลับมาใช้มาตรการชีวิตแบบนิวนอร์มอลอย่างเข้มข้นกันอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงปลายปี พ.ศ.2564 คือเดือนพฤศจิกายน ก็เกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อเป็น OMICRON (โอมิครอน) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ตามตัวอักษรกรีกตัวที่ 15 และเตือนชาวโลกว่า เป็นสายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19 ที่จะต้องจับตามอง เพราะติดเชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์เก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ที่เป็นปัญหาหลักคือเดลตาหลายเท่า ถึงแม้อาการของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนดูจะไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา และเป็นต้นเหตุทำให้เสียชีวิตดูจะน้อยกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เมื่อถึงกลางเดือนธันวาคม เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน คือ นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งศึกษาโอมิครอน ความยากง่ายของการแพร่ระบาด ผลของไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ประสิทธิภาพของวัคซีน และยารักษาที่ใช้กันอยู่ และการพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ เพื่อจัดการโอมิครอนได้โดยตรง รวมถึงวัคซีนที่จะเป็นดั่งวัคซีนสำหรับการป้องกันโรคโดยทั่วไป ที่ใช้ฉีดเพียงเข็มเดียวก็ป้องกันการล้มป่วยไปได้นานเป็นปี

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ถึงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 คือ จากการเริ่มต้นพบการติดเชื้อที่แอฟริกาใต้ ก็พบการติดเชื้อในประเทศอื่นๆ อีกมากกว่า 80 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนรายแรกที่สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม

ถึงปลายปี พ.ศ.2564 ก็ชัดเจนแล้วว่า โควิด-19 จะยังไม่ยอมลงจากเวทีโลกง่ายๆ คล้ายกับเมื่อปลายปี พ.ศ.2563 แต่มนุษย์ก็จะไม่ยอมแพ้โควิด-19 อย่างง่ายๆ เช่นกัน

(2) การศึกษา : ผลกระทบจากโควิด-19

การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการศึกษาทั่วโลก และของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จากปี พ.ศ.2564 แต่ก็กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อชดเชยและเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับชั้นสูง

ตลอดปี พ.ศ.2564 และคาดว่าจะยังเป็นปัญหาต่อเนื่องไปอีกในปี พ.ศ.2565 คือ ระบบ

การศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย ที่จำเป็นจะต้องเป็นการศึกษาทั้งแบบ “ออนไซต์” (ONSITE) และแบบ “ออนไลน์” (ONLINE) โดยคาดหวังว่าสถาบันการศึกษาจะเปิดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ได้มากกว่าตลอดปี พ.ศ.2564

ปัจจัยเรื่องคุณภาพศึกษา เป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้การเรียนการสอนแบบออนไซต์ได้กลับคืนมาให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด เท่าที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลด้านบวกต่อการพัฒนาการของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลต่อภาคปฏิบัติของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาที่ต้องเจาะลึกเข้าสู่ระบบ หรือกลไกภายในของระบบที่ซับซ้อน ซึ่งโดยปกติต้องศึกษาภาคปฏิบัติเป็นกลุ่ม และกับตัวอย่างที่เป็นของจริง ดังเช่น ระบบภายในร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดภาคปฏิบัติเสมือนเป็นกลุ่ม แต่จริงๆ แล้วเป็นการศึกษาภาคปฏิบัติทางออนไลน์แบบเป็นกลุ่ม และมีตัวอย่างการศึกษาที่เป็นหุ่นเสมือนสามมิติ สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาได้

จริงๆ แล้วนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาภาคปฏิบัติเหล่านี้ได้มีพัฒนาการกันมาก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว แต่เกิดเป็นส่วนใหญ่กับการศึกษาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ระดับชั้นสูง (ปีที่ 3, ปีที่ 4 และสูงกว่าสำหรับบางสาขา เช่น แพทยศาสตร์) ในมหาวิทยาลัย และเพิ่มมากขึ้นทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และประโยชน์ของนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีต่อคุณภาพ อีกทั้งจะสามารถช่วยประหยัดงบประมาณในการลงทุนอีกด้วย

แต่สำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับพื้นฐานในมหาวิทยาลัย (การทดลองฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา) และระดับต่ำกว่ามหาวิทยาลัย คือ โรงเรียน (การทดลองฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา และวิทยาศาสตร์ทั่วไป) การศึกษาภาคปฏิบัติในมหาวิทยาลัยและในโรงเรียน ยังจำเป็น ประหยัด และเป็นประโยชน์กว่าการศึกษาภาคปฏิบัติทางออนไลน์ และการใช้นวัตกรรม หรือดิจิทัลเทคโนโลยี

(3) การทำงาน : ผลกระทบและโอกาสใหม่จากโควิด-19


ตลอดปี พ.ศ.2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลอย่างสำคัญต่อการประกอบอาชีพทั้งระดับโลก และในประเทศไทยอย่างรุนแรง ในประเด็นเรื่อง การจ้างงาน และรูปแบบการทำงาน แต่ก็เพิ่มโอกาส และวิถีของการประกอบอาชีพแบบใหม่ด้วย

การประกอบอาชีพมีความสำคัญมิใช่เฉพาะคนในวัยทำงาน แต่ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

ของประเทศ ทั้งเรื่องของงบประมาณรายได้ของประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ

ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ.2563 ถึงตลอดปี พ.ศ.2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศลดลงอย่างมาก โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งหลายประเภทต้องลดขนาดการผลิต อุตสาหกรรมการคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายการบิน ต้องลดเที่ยวบิน ยกเลิกเส้นทางการบิน หรือปิดกิจการ ส่งผลต่อการเก็บภาษีรายได้ของประเทศ ทำให้กระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีสำหรับปีงบประมาณ 2564 (ถึงสิ้นเดือนกันยายน พ.ศ.2564) ได้ต่ำกว่าเป้า เป็นเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท หรือ 11.5 เปอร์เซ็นต์ (ตามรายงานผลการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2564 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2564)

ผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรงต่อคนทำงาน และคนในวัยทำงาน คือ การขาดรายได้จากการถูกเลิกจ้างงาน (ตกงาน) หรือไม่มีงานให้ทำ (สำหรับบัณฑิตใหม่) เพิ่มปัญหาทางสังคมจากสุขภาพจิต (ความเครียด) และอาชญากรรม สำหรับคนที่ยังรองาน หรือกำลังทำงานประกอบอาชีพอยู่ ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิถีแห่งการทำงาน เป็นการทำงานแบบ “ออนไลน์” อยู่ที่บ้าน และแบบ “ออนไซต์” อยู่ที่ทำงาน คล้ายกับเรื่องการศึกษา ทั้งโดยสมัครใจ และถูกบังคับ ในการทำงานอยู่กับบ้าน คนส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่คุ้นเคย และต้องใช้เวลาในการปรับตัว เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้าง “วินัย” ในการทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่เผลอทำตัวว่าเป็นกำลัง “พักร้อน” จนกระทั่งกลายเป็นคนต้องพักร้อนอย่างถาวรไปจริงๆ (เพราะถูกไล่ออก)

ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการทำงานอยู่ที่บ้าน มิใช่เป็นเรื่องร้ายไปเสียทั้งหมด หลายคนก็ยินดี เพราะได้อยู่ใกล้ชิดและได้ดูแลคนในครอบครัว แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วผลที่เกิดจากโควิด-19 ต่อการทำงานอยู่ที่บ้าน ที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องดี คือ พัฒนาการของเทคโนโลยีช่วยในการทำงานอยู่ที่บ้าน และการสร้างโอกาสใหม่ของการประกอบอาชีพอยู่กับบ้าน

ก็เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้การทำงานอยู่กับบ้านอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และก็เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการประกอบอาชีพแบบใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย โดยอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นการประกอบอาชีพแบบ “ออนไลน์” อยู่ที่บ้าน เป็นการเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพของคนที่อยากมีอาชีพอิสระของตนเอง โดยอาจไม่ต้องลงทุนสร้างสำนักงานที่ต้องมีการลงทุนสูง และสามารถจะทำธุรกิจที่มีโลกทั้งโลกเป็นตลาด

สำหรับสถานการณ์ในปี พ.ศ.2565 ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น การทำงานของคนทำงานโดยทั่วไปก็จะกลับไปเป็นแบบ “ออนไลน์” อยู่ที่บ้านน้อยลง แต่ที่จะไม่น้อยลงตามไปด้วย คือ เทคโนโลยีที่ช่วยในการทำงานทางออนไลน์ และการประกอบอาชีพอิสระแบบออนไลน์

(4) ปฏิบัติการยานดาร์ตชนดาวเคราะห์น้อยดิมอร์ฟอส

ติดตามปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 ปฏิบัติการยานดาร์ต (DART) เดินทางถึงเป้าหมาย คือ ดาวเคราะห์น้อยดิมอร์ฟอส (DIMORPHOS) เพื่อทดสอบระบบป้องกันโลกจากการถูกชน

วันที่ 24 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 นาซา (NASA) และ เอพีแอล (APL : JOHN HOPKINS APPLIED PHYSICS LABORATORY) โดยความร่วมมือขององค์การอวกาศยุโรปอีซา (ESA) องค์การอวกาศอิตาลี เอเอสไอ (ASI) และองค์การอวกาศญี่ปุ่น แจ็กซา (JAXA) ส่งยานอวกาศดาร์ต (DART : DOUBLE ASTEROID REDIRECTION TEST) ออกเดินทางจากโลกมุ่งไปหาดาวเคราะห์น้อยดิมอร์ฟอส คาดว่าจะถึงดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายช่วงระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2565 แล้วยานดาร์ตจะชนกับดาวเคราะห์น้อยดิมอร์ฟอส เพื่อเปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ของดิมอร์ฟอส

ดาวเคราะห์น้อยดิมอร์ฟอส เป็นดาวเคราะห์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 160 เมตร มีมวลประมาณ 5 พันล้านกิโลกรัม เป็นส่วนที่เล็กกว่าของระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ โดยดิมอร์ฟอสโคจร (คล้ายดวงจันทร์) รอบดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่กว่า คือ ดิดีมอส (DIDYMOS) เป็นระยะห่างประมาณ 1 กิโลเมตร เมื่อเดินทางถึงเป้าหมาย ยานดาร์ตจะถูกควบคุมให้เข้าชนดิมอร์ฟอสด้วยความเร็วประมาณ 6.6 กิโลเมตรต่อวินาที โดยคาดว่าผลการชนกัน จะทำให้ดิมอร์ฟอสเปลี่ยนความเร็วในการโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยดวงแม่ประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์ และเปลี่ยนเวลาการโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยดวงแม่หลายนาที (จากคาบเวลาปกติ 12 ชั่วโมง) มากพอสำหรับการตรวจสอบโดยกล้องโทรทรรศน์บนโลก

ที่มารูป : www.asi.it
ที่มารูป : www.asi.it

การติดตามผลปฏิบัติการของยานดาร์ต นอกเหนือไปจากการติดตามด้วยกล้องโทรทรรศน์บนโลกแล้ว ก็มีการส่งดาวเทียมขนาดเล็ก CUBESAT (ดาวเทียมลูกบาศก์) ขององค์การอวกาศอิตาลี มีชื่อจริงอย่างย่อว่า ลิชาคิวบ์ (LICIACube จากชื่อเต็ม LIGHT ITALIAN CUBESAT FOR IMAGING OF ASTEROIDS) มีขนาด 10x20x30 เซนติเมตร หนัก 14 กิโลกรัม

ดาวเทียมลิชาคิวบ์ ออกเดินทางไปจากโลกกับยานดาร์ต เมื่อถึงเป้าหมายจะถูกปล่อยจาก (การเกาะไปกับ) ยานดาร์ตก่อนถึงเป้าหมายจริงสิบวัน แล้วเดินทางต่อไปยังเป้าหมาย ถึงเป้าหมายหลังจากยานดาร์ตชนเป้าหมายแล้ว 3 นาที เพื่อติดตามเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และภาพผลการปฏิบัติการของยานดาร์ตอย่างใกล้ชิด แล้วส่งข้อมูลกลับมายังโลก

ดาวเคราะห์น้อยคู่ดิดีมอส และดิมอร์ฟอส เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก คือเฉียดโลก แต่ไม่คุกคามโลกโดยตรง

(5) ดูไบกับการเปิดบริการแท็กซี่อากาศไร้คนขับ

จับตาการเปิดบริการแท็กซี่อากาศไร้คนขับ เป็นแห่งแรกของโลก ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี พ.ศ.2565

การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของการเปิดบริการแท็กซี่อากาศในดูไบ คือ การลงนามระหว่างสำนักงานการทางและขนส่งดูไบ กับบริษัท โวโลคอปเตอร์ (VOLOCOPTER) ของประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2560 สำหรับการพัฒนาแท็กซี่อากาศไร้คนขับ รับผู้โดยสารได้ 2 คน กำหนดแผนการพัฒนาเทคโนโลยี และการเตรียมการเรื่องกฎระเบียบ สำหรับการเปิดบริการแท็กซี่อากาศอย่างเป็นทางการภายใน 5 ปี

ปลายปี พ.ศ.2560 บริษัท โวโลคอปเตอร์ ก็ได้ทำการทดลองบินแท็กซี่อากาศเป็นครั้งแรก และประสบความสำเร็จด้วยดี จนกระทั่งถึงล่าสุดคาดกันว่า แท็กซี่อากาศ จะสามารถเปิดบริการในดูไบได้เป็นครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ.2565

ที่มารูป : https://www.volocopter.com
ที่มารูป : https://www.volocopter.com

แท็กซี่บินโวโลคอปเตอร์ เป็นรถยนต์ หรือแท็กซี่บินไฟฟ้าที่ไร้คนขับ รับผู้โดยสารได้ 2 คน มีน้ำหนัก (ก่อนรับผู้โดยสาร) 290 กิโลกรัม รับผู้โดยสารได้ 160 กิโลกรัม บินได้ไกลเป็นระยะทางแต่ละครั้ง 27 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ตามรายงานของ FROST & SULLIVAN ANALYSIS พยากรณ์แนวโน้มของตลาดแท็กซี่อากาศ เมื่อปี พ.ศ.2562 มองว่า เป็นตลาดใหญ่ระดับโลก จะเปิดบริการเป็นครั้งแรกได้จริงที่ดูไบ พ.ศ.2565 ตามด้วยตลาดในประเทศ เช่น นิวซีแลนด์, สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ โดยที่ตลาดแท็กซี่อากาศทั่วโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มในลำดับเป็นทวีคูณ 45.9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และถึงปี พ.ศ.2583 จะมีแท็กซี่อากาศเปิดบริการเป็นจำนวน 430,000 คัน

แต่แท็กซี่อากาศจะมิใช่ตลาดใหญ่ทั่วโลก เพราะราคาค่าโดยสารที่สูง (กว่าแท็กซี่ปกติ) จึงขึ้นอยู่กับสถานภาพเศรษฐกิจของประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบการจราจรในเมืองทางอากาศ

สำหรับประเทศไทยที่ทันสมัยเสมอ และปัญหาจราจรที่คับคั่ง คาดกันได้ว่า จะเห็นแท็กซี่อากาศบินให้บริการดังในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ในอนาคตไม่ไกลนัก.

-- advertisement --