-- advertisement --

ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

Blue-theatre@hotmail.com

“ฉันไม่ได้ต่อต้านใครผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ได้มาที่นี่เพื่อพูดเพื่อการแก้แค้นส่วนตัว ต่อตาลีบัน หรือกระทั่งกลุ่มก่อการร้ายใด ๆ แต่ฉันมาที่นี่เพื่อพูดถึงสิทธิในการศึกษาหาความรู้ของเด็ก ๆ ทุกคน รวมทั้งลูกชายและลูกสาวทั้งหลายของตาลีบันและเหล่าผู้ก่อการร้าย ทั้งหลายนั้น ฉันไม่เกลียดกระทั่งตาลีบันคนที่ยิงฉัน ถ้าถือปืนอยู่ในมือแล้วเขาอยู่เบื้องหน้า ฉันก็จะไม่ยิงเขาเด็ดขาด” เธอกล่าว และย้ำว่า ที่รณรงค์เพื่อการศึกษาของเด็กหญิง มาก่อนหน้านี้เพราะเห็นว่าเด็กหญิงเหล่านั้นคือผู้ที่ทุกข์ทรมานจากการได้รับการศึกษามากที่สุดนั่นเอง

นี่คือคำประกาศของเด็กหญิงชาวปากีสถานที่ตกเป็นเหยื่อในการถูกตาลีบัน จ่อยิงศีรษะหวิดดับ ซึ่งประกาศกลางยูเอ็นเรียกร้องผู้นำทั่วโลกเพื่อมอบการศึกษาให้เปล่า แก่เด็ก ๆ ทุกคน โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม2013 ที่สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถาน จากสวัต แวลลีย์ พื้นที่อิทธิพลของกลุ่มตาลีบัน กลุ่มมุสลิมสุดโต่ง ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์สำคัญเนื่องในวาระการสถาปนาวัน “มาลาลาเดย์” ขึ้นเป็นครั้งแรกของยูเอ็น โดยถือเอาวันครบรอบวันเกิดปีที่ 16 ของเด็กหญิงรายนี้เป็นวันเพื่อการเฉลิมฉลองและต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีและเด็ก ๆ ทั่วโลก ซึ่งทั้งเป็นการให้เกียรติและสอดคล้องกับแนวคิดของ “มาลาลา” ที่ตกเป็นเหยื่อถูกมือปืน ตาลีบันจ่อยิงศีรษะ จากการรณรงค์เพื่อให้เด็กหญิงในพื้นที่บ้านเกิดของเธอได้เรียนหนังสือ

ในสุนทรพจน์ ซึ่งถือเป็นหลักของพิธีการสถาปนาวันดังกล่าวที่มีขึ้นต่อหน้า นายบัน คี มุน เลขาธิการยูเอ็นและตัวแทนผู้นำเยาวชนเกือบ 1,000 คน จาก 100 ประเทศ ทั่วโลก เพื่อร่วมการประชุมสมัชชาเยาวชนโลก ครั้งที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนของยูเอ็น “มาลาลา” เรียกร้องให้ทุกคนลุกขึ้นมาจับหนังสือและปากกาที่ถือเป็นอาวุธทรงอานุภาพที่สุดของเด็ก ๆ และเยาวชน เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ เพราะเชื่อว่ามีแต่การศึกษาเท่านั้น ที่เป็นหนทางในการแก้ปัญหาทุกอย่าง เป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ และเรียกร้องให้ผู้นำทุกประเทศให้การศึกษาแก่เด็กทุกคนในแต่ละประเทศ โดยไม่คิดมูลค่า

เด็กหญิงชาวปากีสถาน ซึ่งปรากฏตัวในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกยิงเมื่อเดือนตุลาคมปี 2012 ยืนยันว่า มาลาลาเดย์ไม่ได้เป็นวันของเธอ หากแต่เป็นวันสำหรับสตรี เด็กหญิงและเด็กชายทุก ๆ คนบนโลกใบนี้ที่พร้อมจะเปล่งเสียงเพื่อเรียกร้องสิทธิ ของตนออกมา “มาลาลา” ยังกล่าวด้วยว่า ผ้าคลุมศีรษะสีขาวนวลที่เธอสวมอยู่ขณะนี้นั้น เคยเป็นของ เบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีสตรีของปากีสถานที่ถูกลอบสังหารเสียชีวิต ไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1997 พร้อมกับเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ถูกจ่อยิงทางด้านซ้าย ของศีรษะพร้อมกับเพื่อน ๆ โดยย้ำว่า ตนเป็นเพียงหนึ่งในเหยื่อนับพันของตาลีบัน

“พวกนั้นคิดว่ากระสุนจะหยุดเรา ทำให้เราเงียบ แต่พวกนั้นล้มเหลวแล้ว เพราะต่อมาในท่ามกลางความเงียบ มีเสียงอีกนับพันนับหมื่น ๆ เสียง ผู้ก่อการร้ายคิดว่า พวกเขาสามารถเปลี่ยนจุดมุ่งหมาย หยุดเราจากความทะเยอทะยานได้ แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในชีวิตของฉัน ยกเว้น ความอ่อนแอ ความกลัว และการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ที่ตายจากไปพร้อมกับการเกิดใหม่ของความเข้มแข็ง พลังและความกล้าหาญ” มาลาลากล่าว

เด็กหญิงวัย 16 ปี เริ่มสุนทรพจน์ด้วยการสวดตามแบบอิสลาม แต่งกาย ตามแบบฉบับของอิสลาม ทั้งยังกล่าวหาผู้ก่อการร้ายทั้งหลายว่ากำลังใช้ความเป็นอิสลาม และสังคมชาวพัชตุนไปในทางที่ผิดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับความเชื่อของตัวเอง และกล่าวด้วยว่า ตนได้เรียนรู้ถึงความสงบสันติและการให้ความรักต่อทุกผู้คนด้วยการศึกษาคนอย่าง มหาตมะ คานธี ผู้นำการกู้อิสรภาพของอินเดียและผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลกคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระศาสดาโมฮัมหมัด พระเยซูคริสต์ พระพุทธเจ้า รวมถึงมรดกที่ มาร์ติน ลูเธอ คิง และเนลสัน แมนเดลา ได้ทิ้งเอาไว้ให้มนุษยชาติ

ประเด็นแห่งความสำเร็จในอุดมคติของ “มาลาลา” ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือ “หนูน้อยมาลาลา”…เด็กหญิงผู้เปลี่ยนโลก…พลิกแผ่นดินสันติภาพ โดยการเรียบเรียงรายละเอียดของเรื่องราวด้วยฝีมือของ “เจนจิรา รอดกันภัย”…ซึ่งก็ได้สืบค้นปมประวัติ ของเด็กหญิงผู้นี้อย่างตั้งใจ…เห็นถึงการทำงานในเชิงเปรียบเทียบด้วยมุมมองที่แปลกต่าง ของทุกฝ่าย…ทั้งที่เป็นมิตรและศัตรู กระทั่งการลงลึกไปถึงเงื่อนไขของเหตุการณ์ ในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านนัยของศรัทธา ศาสนา และจริตที่ยึดถือต่อการกระทำ ที่เหนือคาดคิด…หนังสือเล่มนี้ถูกระบุว่าเป็นหนังสือที่ “คุณครูควรแนะนำให้นักเรียนอ่าน” ด้วยเหตุผลแห่งความดีงามของเธอที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และด้วยการที่นิตยสารไทม์ ได้ยกย่องให้เธอเป็นบุคคลแห่งปี 2012 อันดับที่ 2 รองจาก “บารัก โอบามา” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา…

ฉากสำคัญในชีวิตของ “มาลาลา ยูซาฟไซ” ก็คือการตกเป็นเป้าสังหารของนักรบตะวันออกกลาง “ตาลีบัน” ทั้ง ๆ ที่เธอมีอายุแค่เพียง 15 ปี…ด้วยวัยเพียงนี้ เธอได้ อุทิศตนให้กับการรณรงค์เรียกร้องสิทธิสตรีในปากีสถานโดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่าสวนทางกับแนวคิดของกลุ่มตาลีบัน ที่ไม่ต้องการให้ผู้หญิงได้เล่าเรียนหนังสือ

“ฉันเพียงต้องการการศึกษา และฉันไม่กลัวใครทั้งนั้น”… นั่นคือคำตอบ ที่เธอชอบพูดอย่างติดปาก เป็นความมุ่งหวังตั้งใจอันสูงส่ง…ที่ยืนยันผ่านเงาร่างของเด็กสาวธรรมดา ๆ คนหนึ่ง…ที่ความเป็นพิเศษในตัวเธอได้กลับกลายเป็นหัวใจของความเป็นนักสู้ ที่ยืนหยัดอยู่ในความถูกต้อง ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมของเธอในสถานะของ ความเป็น “มนุษย์”…

“กระสุนในระยะเผาขนเจาะเข้าที่ศีรษะ ลำคอของมาลาลา เลือดสีแดงฉานหลั่งไหลออกมาอาบร่างของเด็กสาว…”

“เจนจิรา รอดกันภัย” ใช้วิธีการนำเสนองานเรียบเรียงของเธอส่วนหนึ่ง ด้วยนัยทางวรรณกรรมที่ทำให้ชวนติดตาม…ผสานเข้ากับการค้นคว้ามิติมุมมองของทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง…ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอิสลาม หรือแม้แต่ความศรัทธาของพวกตาลีบันต่อการกระทำของพวกเขาเป็นรายละเอียดที่สามารถทำให้ผู้อ่านสามารถรับรู้ในสิ่งที่เป็นปมปัญหา สะท้านโลกนี้ได้…

นบีมุฮัมมัด เคยกล่าวไว้ว่า

“มุสลิมทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงมีสิทธิในการแสวงหาความรู้ ดังนั้นผู้หญิง ในสังคมมุสลิมจึงมีสิทธิในการเล่าเรียนเท่าเทียมกับชาย”

และด้วยบริบททั้งหมดทั้งสิ้นนั้น… “มาลาลา ยูซาฟไซ” จึ่งได้แสดงท่าทีแห่งแสงฉายทางปัญญาของเธอออกมาผ่านความกระตือรือร้นทางการศึกษา…ผ่านการทุบทำลายคอกขัง ทางจารีตประเพณี…ให้ออกมาสู่โลกกว้างแห่งมโนสำนึก…ความเจ็บปวดใดก็ตามที่เกิดขึ้นจากรอยบาดเจ็บของสิ่งที่เลวร้าย ล้วนเป็นคุณค่าที่รองรับแรงปรารถนาอันถูกอำพราง อยู่ในโลกซ่อนเร้นของมนุษยชาติอย่างเปิดเปลือย เสมือนดั่งตำราของโศกนาฏกรรมบนพื้นฐานแห่งการหยั่งรู้ของชีวิตที่แท้…

“กลัวไปก็ทำอะไรไม่ได้หรอก เราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้อง”

-- advertisement --