-- advertisement --

HoonSmart.com>> บลจ.กสิกรไทย ประเมินรัฐบาลจีนจ่อเปลี่ยน “ติวเตอร์” เป็น “องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร” ฉุดหุ้นการศึกษาร่วงหนัก ระยะสั้นมองกระทบ Sentiment ตลาดโดยรวม แนะจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด ด้านกองทุนหุ้นจีนของบลจ.กสิกรไทย ไม่มีการลงทุนหุ้นกลุ่มการศึกษา ฟากกองทุนหุ้นเอเชีย “K-ASIACV และ K-ASIAX” ลงทุนเล็กน้อย คาดผลกระทบจำกัด

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย (KAsset) มองกรณีหุ้นกลุ่มการศึกษาจีนร่วงหนัก หลังรัฐจ่อเปลี่ยน “ติวเตอร์” เป็น “องค์กรไม่แสวงผลกำไร” ว่า ในเบื้องต้นมองในระยะสั้นจะกระทบ Sentiment ของตลาดโดยรวม นักลงทุนควรจับตาดูนโยบายและกฏระเบียบที่ทางการจีนจะออกมาเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด ซึ่งการดำเนินโยบายของภาครัฐจีนถือเป็นส่วนที่เป็นทั้งปัจจัยบวกและลบของการลงทุนในจีนมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม KAsset ยังคงเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนควรประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ต

ปัจจุบันกองทุนหุ้นจีนของ KAsset ไม่มีการลงทุนให้หุ้นกลุ่มการศึกษาของจีนดังกล่าว จึงไม่มีผลกระทบต่อกองทุนหุ้นจีนของ KAsset

ส่วนกองทุนหุ้นเอเชียของ KAsset ได้แก่ กองทุน K-ASIACV และกองทุน K-ASIAX มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นการศึกษาของจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และกองทุนมีการกระจายลงทุนในประเทศอื่น ๆ ทั่วเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย เป็นต้น จึงคาดว่าผลกระทบค่อนข้างมีจำกัด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกกฏระเบียบควบคุมบริษัทกลุ่มติวเตอร์ (After-school Tutoring : AST) โดยภายใต้กฏใหม่จะรวมถึงการให้บริษัทกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาเปลี่ยนเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และจำกัดการระดมทุนจากต่างประเทศ การควบรวมกิจการ หรือการซื้อแฟรนไชส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ การควบคุมค่าเทอมจะถูกนำมาใช้ในบางเมือง อีกทั้งทางการจีนจะเพิ่มความเข้มงวดในการสอนผ่านระบบออนไลน์ (Advertising and Homework Assistant Applications – APPs) ซึ่งจะลดโอกาสการเพิ่มฐานลูกค้าอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของรัฐบาลจีนในการเข้ามาควบคุมธุรกิจการศึกษา ก็เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากวงการการศึกษาของจีนมีการแข่งขันที่สูงขึ้น และเพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเรียนกวดวิชา รวมถึงลดความเครียดของเยาวชนที่ต้องใช้เวลาไปกับการเรียนทั้งในและนอกห้องเรียนที่มากเกินไป

ก่อนหน้านี้ นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ออกกฏลดการบ้าน ห้ามจัดการเรียนการสอนในช่วงสุดสัปดาห์ และห้ามจัดสอนแบบออนไลน์แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อลดความเครียดของเด็ก

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หุ้นธุรกิจกลุ่มการศึกษาจีนร่วงหนัก ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลว่า อาจส่งผลกระทบต่อวงการสถาบันกวดวิชาในจีนที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะต้องติดตามประเมินสถานการณ์ต่อไป

สำหรับผลกระทบต่อหุ้นที่เกี่ยวข้อง จากการที่รัฐบาลเข้ามาควบคุมธุรกิจการศึกษาในครั้งนี้ ทำให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มการศึกษาอย่างหนัก ตัวอย่างหุ้นที่ได้รับผลกระทบ เช่น

– หุ้น TAL Education -71% (23 ก.ค. 2564) และ -27% (26 ก.ค. 2564)

– หุ้น New Oriental Education -54% (23 ก.ค. 2564) และ -34% (26 ก.ค. 2564)