-- advertisement --

 องคมนตรี  ชี้การอาชีวศึกษา...ยังคลำไม่ถูกทาง</p>

“องคมนตรี” ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย
ชี้การอาชีวศึกษา…ยังคลำไม่ถูกทาง

หมายเหตุ : ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง เรียนรู้พระบรมราโชบายด้านการศึกษาและการพัฒนาคน ตาม (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ความรู้กับคุณธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ข่าวการศึกษา สยามรัฐ” ได้สรุปความนำเสนอสาระสำคัญ ดังนี้

“…วงจรการศึกษา จะมีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ 4 ขั้นตอน คือ 1.การกำหนดเป้าหมายโดยรวมของระบบการศึกษาการ 2.การนำเป้าหมายสู่การสร้างหลักสูตรและกำหนดมาตรฐานการจัดการศึกษา 3.เมื่อได้หลักสูตร ได้มาตรฐานแล้ว ก็ส่งไปให้ผู้จัดการศึกษาออกแบบการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนที่เป็นเป้าหมายได้เรียนรู้ตามหลักสูตรและตามมาตรฐานการศึกษา ส่วนโรงเรียนจะจัดดีไม่ดีแค่ไหน ก็จะมีขั้นตอนที่ 4. คือการประเมินผลการเรียนของผู้เรียนตามหลักสูตร ตามมาตรฐานกำหนด แต่ต้องให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มาเป็นผู้ทดสอบ และพยายามอย่าให้ผู้สอนมายุ่งกับระบบการทดสอบ หรือการประเมิน เพื่อให้รู้ว่าการจัดการศึกษาได้จัดตามมาตรฐานการศึกษาหรือไม่ เพื่อนำผลที่ได้ในการประเมินแต่ละปี ไปวางแผนจัดการศึกษาในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งจะเป็นวงจรหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการปรับเป้าหมายใหม่

วันนี้เราจะสร้างเส้นทางใหม่ให้เด็กไทย เก่ง อยู่ดี กินดี มีสุข เหมือนสมัยก่อนหรือไม่ ที่ว่า เก่ง ดี มีสุข นั้นพ่อแม่ต้องมีอย่างอื่นอีกหรือไม่ เช่น การมีจิตใจในการเสียสละช่วยเหลือส่วนรวม ต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ต้องรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีที่จะเข้ามาอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

สิ่งที่จะมาเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ คือ กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งในอนาคตอีก 10 ปี ซึ่งเรื่องของดิจิทัลจะต้องให้เข้าถึงการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ ธุรกรรม การซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ และเราจะตามทันเรื่องนี้หรือไม่ จะให้เด็กรู้เรื่องเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในเมืองเท่านั้นหรือ แล้วเด็กบ้านนอกที่อยู่ตามป่าตามเขา เราจะให้โอกาสเด็กเหล่านั้นได้เรียนรู้หรือไม่

และที่สำคัญคือ ครู มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้แค่ไหน แล้วจะสอนให้เด็กเตรียมตัวรับโลกดิจิทัลในอนาคตได้อย่างไร นี่คือคำถามที่ใหญ่มาก และคำถามนี้ประเทศเกาหลีใต้ ถามมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วและวันนี้เขาก็ทำสำเร็จแล้ว สังคมประเทศเกาหลีขณะนี้แม้แต่ชาวนายังขายข้าวสารผ่านออนไลน์ พ่อค้าคนกลางเจ๊งหมด เพราะการเชื่อมต่อของโลกดิจิทัลไร้พรมแดน ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายการศึกษาต้องเข้าใจในยุคนี้ด้วย

ผมคิดว่าขณะนี้ การจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ยังคลำทางไม่ถูก เพราะการจัดการศึกษามุ่งแต่จะเอาเด็กที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาเรียน แต่ลืมคิดไปว่า คนที่จะเรียนอาชีวศึกษา ก็คือคนที่อยู่ในวัยทำงาน อยู่ที่โรงงาน ที่พวกเขาเหล่านั้นยังไม่มีวุฒิการศึกษาอะไร หรือคนสูงวัยที่อยากฝึกฝีมือ ก็เปิดหลักสูตรระยะสั้นให้เขามาเรียนได้ อย่างนี้วิทยาลัยสารพัดช่าง ก็จะไม่บ่นอีกต่อไปว่าไม่มีคนเรียน เพราะที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายไม่ถูกทาง”

ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวและว่า ดังนั้น จึงอยากให้สภาการศึกษา ชี้เป้าหมายให้ชัดเจนว่าคุณต้องตื่นแล้ว เพราะการบริหารโรงเรียน หรือเรียนระดับอุดมศึกษา ไม่เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปมาก …ประเทศไทยก็เปลี่ยนการบริหารจัดการไปด้วย และวันนี้ตนก็ดีใจมาก ที่ได้มาร่วมในการกำหนดมาตรฐานหลักสูตรแต่ว่าการออกแบบระบบการศึกษามีเรื่องต้องทำอีกมากมาย

การกำหนดนโยบายชาติ โดยเฉพาะการศึกษา จะต้องไม่เอาประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ส่วนพวกของตน มาเป็นหลัก ต้องเอาประโยชน์ของชาติ และต้องมองอนาคต ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในอดีตจนถึงวันนี้ จึงจะสามารถปรับระบบเก่าได้ จะมาทำลูบหน้าปะจมูกอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

———————-

-- advertisement --