-- advertisement --

อพท. ผนึกกำลัง 19 มหาวิทยาลัยในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนศก.ไทย

อพท. ผนึกกำลัง 19 มหาวิทยาลัยในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้ มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หน่วยงานหลักในการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย นำโดย พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายในประเทศ และต่างประเทศ ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มุ่งยกระดับพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการ และถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆ ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดลงนาม 19 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ร่วม “สร้างเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” พร้อมเปิดหลักสูตรของศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ DASTA Academy เดินหน้าเติมเต็มทักษะการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนทั่วประเทศ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธี กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงนามความร่วมมือของ อพท. และภาคการศึกษาในวันนี้ ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการมุ่งยกระดับพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวประเทศไทยภายใต้กิจกรรม “สร้างเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ที่จะนำหลักสูตรที่ครอบคลุมหลายมิติในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในด้านบริหารจัดการขั้นพื้นฐานชุมชน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในหลักสูตรเพื่อสนับสนุนด้านตลาดในพื้นที่ชุมชน และสิ่งสำคัญคือการที่ประชาชนหรือชุมชนเจ้าของพื้นที่ ร่วมกันดูแลรักษาวิถีชีวิต ประเพณี และสิ่งแวดล้อม ในสถานที่ท่องเที่ยวที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของประเทศไทย ให้ชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงความเสน่ห์งดงามของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวนั้นเป็นกลไกสำคัญ ที่สามารถร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยได้อีกมาก”

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวด้วยว่า “เพื่อสนับสนุนภารกิจยกระดับความสามารถการจัดการความรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) วันนี้ อพท. ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ เล็งเห็นความสำคัญ ในการผนึกกำลังหน่วยงานภาคีพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยสำคัญในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวกว่า 19 มหาวิทยาลัยเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเป็น “เครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ร่วมกันด้วย

มหาวิทยาลัยบูรพา (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก)
มหาวิทยาลัยศิลปากร (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก)
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา)
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา)
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา)
มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย (เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง)
มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง)
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้)
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้)
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้)
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้)
มหาวิทยาลัยนเรศวร (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มมรดกโลกด้านวัฒนธรรม)
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มมรดกโลกด้านวัฒนธรรม)
มหาวิทยาลัยมหิดล (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง)
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง)

“การลงนามวันนี้ มุ่งหวังการพัฒนา พร้อมเพิ่มศักยภาพงานองค์ความรู้และขีดความสามารถของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แก่กลุ่มเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนหลักสูตรคือ หน่วยงานที่มีเกี่ยวในการบริหารจัดการพื้นที่การท่องเที่ยว ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว หน่วยงานภาคีเครือข่าย นักพัฒนาการท่องเที่ยว บุคลากรภาครัฐ และ อปท.ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ สร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชน โดยเน้นประสานความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพราะการจะยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในวันนี้สิ่งสำคัญคือความร่วมมือ ร่วมใจของคนไทยในการร่วมผลักดันสู่การพัฒนา และพร้อมในการเป็นที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

“และในปีนี้ อพท. เริ่มต้น อบรมหลักสูตร “การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชน เชิงบูรณาการ วุฒิบัตรจากการสำเร็จการอบรมหลักสูตร “การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชน เชิงบูรณาการ (Certificate in CBT Integrated)” ซึ่งจากการร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ เรียนรู้การบริหารจัดการองค์ความรู้ในพื้นที่ การนำเสนออัตลักษณ์ชุมชน เพื่อนำประโยชน์ไปเผยแพร่ ปรับใช้ถ่ายทอดพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน” พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวย้ำ
ซึ่งจากนี้ อพท. โดยศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ DASTA Academy จะมีการดำเนินงานขยายผลการเผยแพร่องค์ความรู้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคีเครือข่ายแห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยว ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างเข้มแข็ง และอาจครอบคลุมในพื้นที่ทั่วประเทศไทยในอนาคต

-- advertisement --