หน้าแรก แวดวงการศึกษา อัฟกานิสถาน : ครูพลัดถิ่นเปิดโรงเรียนออนไลน์ หลังตาลีบันห้ามผู้หญิงไปโรงเรียน

อัฟกานิสถาน : ครูพลัดถิ่นเปิดโรงเรียนออนไลน์ หลังตาลีบันห้ามผู้หญิงไปโรงเรียน

-- advertisement --
  • ฟิรูเซห์ อัคลาเรียน
  • บีบีซี แผนกภาษาเปอร์เซีย

Afghan teacher Angela Ghayur

คำบรรยายภาพ,

แอนเจลา ไกเยอร์ เป็นชาวอัฟกันที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในอังกฤษ

หลังจากกลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจในอัฟกานิสถานก็ได้มีคำสั่งให้เด็กนักเรียนและนักศึกษาหญิงอยู่กับบ้าน และไม่ต้องออกไปเรียนหนังสือ “เพื่อความปลอดภัยของตนเอง”

แม้ตาลีบันระบุว่าจะบังคับใช้คำสั่งนี้เพียงชั่วคราว แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการยกเลิกในเร็ววัน นี่จึงทำให้ครูชาวอัฟกันในต่างแดนคนหนึ่งตัดสินใจยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเด็กนักเรียนเหล่านี้

ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ของการเปิด “โรงเรียนออนไลน์” แอนเจลา ไกเยอร์ ก็รับเด็กเข้าเรียนเกือบ 1,000 คน และมีอาสาสมัครมาช่วยสอนเกือบ 400 คน

ถูกกีดกันในวัยเด็ก

แอนเจลามีอายุเพียง 8 ขวบ ตอนที่อัฟกานิสถานตกอยู่ในห้วงของสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1992 ครอบครัวของเธอต้องละทิ้งบ้านเกิดในเมืองเฮรัต ทางภาคตะวันตกของประเทศ แล้วลี้ภัยเข้าไปอยู่ในอิหร่าน ซึ่งในช่วง 5 ปีหลังจากนั้น แอนเจลาไม่มีสิทธิได้เข้าโรงเรียนเหมือนเด็กคนอื่น เนื่องจากครอบครัวอาศัยอยู่ในอิหร่านด้วยวีซ่าพักอาศัยชั่วคราว

“มันเป็นเรื่องปกติในตอนนั้นที่เด็กชาวอัฟกันที่ลี้ภัยไปอยู่ในอิหร่านจะไม่ได้เข้าโรงเรียน เพราะพวกเขาไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง” แอเจลา เล่าพร้อมกับเหม่อมองท้องทะเลจากหน้าต่างบ้านพักในปัจจุบันของเธอที่เมืองไบรตัน ในอังกฤษ

คำบรรยายภาพ,

ประสบการณ์ถูกกีดกันทางการศึกษาในวัยเด็ก ทำให้แอนเจลาตัดสินใจช่วยเด็กหญิงชาวอัฟกันที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน

หลังจากอยู่ในอิหร่านได้ 5 ปี ในที่สุดพ่อของแอนเจลาก็ได้เอกสารที่ช่วยให้เธอสามารถเข้าโรงเรียนในประเทศนี้ได้ และเมื่ออายุได้เพียง 13 ปี แอนเจลาก็รู้ตัวว่าเธออยากจะทำอะไรเมื่อโตขึ้น

ทุกวันหลังเลิกเรียน แอนเจลาจะรีบกลับบ้าน เพื่อสอนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้แก่เด็กชาวอัฟกันอีก 14 คนที่ไม่มีสิทธิได้เข้าโรงเรียน

ตอนนั้นพ่อของแอนเจลาทำงานเป็นคนทำสวน เธอจึงเปลี่ยนสวนที่พ่อดูแลอยู่ให้กลายเป็นห้องเรียนเล็ก ๆ เพื่อถ่ายทอดทุกอย่างที่เธอเพิ่งได้เรียนมาในวันนั้นให้กับเพื่อน ๆ ทั้งวิชาการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์

เมื่อตาลีบันถูกโค่นอำนาจในอีกหลายปีต่อมา แอนเจลาได้กลับคืนสู่แผ่นดินเกิด และได้ทำงานเป็นครูโรงเรียนมัธยม ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และในที่สุดก็มาลงหลักปักฐานในสหราชอาณาจักร

คำบรรยายวิดีโอ,

ชีวิตของผู้หญิงในอัฟกานิสถานเปลี่ยนไปอย่างไร หลังถูกตาลีบันยึดครอง

แอนเจลาไม่ต่างจากชาวอัฟกันพลัดถิ่นหลายคน ที่รู้สึกตกตะลึงเมื่อได้เห็นอัฟกานิสถานต้องพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว หลังจากสหรัฐฯ ถอนทหารชุดสุดท้ายออกมาในเดือน ส.ค. และตาลีบันได้กลับคืนสู่อำนาจ

ในชั่วพริบตา ความคืบหน้าด้านสิทธิทางการศึกษาของเด็กหญิงชาวอัฟกันตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาต้องตกอยู่ในอันตราย ตาลีบันอ้างว่าคำสั่งห้ามสตรีออกไปทำงานนอกบ้าน และห้ามเด็กผู้หญิงไปเรียนหนังสือนั้นจะมีขึ้นเพียงชั่วคราว เพื่อรับประกันว่าสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงาน และสถานศึกษาจะ “ปลอดภัย” สำหรับพวกเธอ

แต่ความคิดที่ว่าเด็กหญิงอัฟกันต้องถูกตัดโอกาสทางการศึกษาอีกครั้ง เหมือนตอนที่เธอเคยเผชิญในช่วง 5 ปีแรกที่อยู่ในอิหร่าน ก็ทำให้แอนเจลารู้สึกหดหู่ใจเป็นอย่างมาก และหลังจากผ่านมา 3 เดือนโดยที่ยังไม่มีสัญญาณว่าตาลีบันจะผ่อนคลายข้อห้ามดังกล่าว เธอจึงตัดสินใจว่าจะต้องทำอะไรบางอย่าง

แอเจลาได้ก่อตั้ง “โรงเรียนออนไลน์แห่งเฮรัต” (Online Herat School) เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาของผู้หญิงและเด็กหญิงชาวอัฟกัน โดยหลังจากเธอโพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือทางอินสตาแกรม ก็มีอาสาสมัครเกือบ 400 คน มารับหน้าที่สอนวิชาต่าง ๆ ผ่านทางแอปพลิเคชันเทเลแกรม และสไกป์

วิชาที่เปิดสอนมีกว่า 170 ชั้นเรียน ตั้งแต่คณิตศาสตร์ ไปจนถึงการทำอาหาร และวาดภาพ โดยครูส่วนใหญ่มาจากอิหร่าน และสอนวันละ 2-8 ชั่วโมง

“ฉันรู้สึกว่าโรงเรียนนี้เป็นผลลัพธ์จากความเจ็บปวด ความทุกข์ระทม และประสบการณ์ของฉัน” แอนเจลากล่าว

“คำขวัญของพวกเราคือ ปากกายังดีกว่าปืน”

โรงเรียนออนไลน์ของแอนเจลาและเหล่าอาสาสมัครได้ช่วยเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนเกือบ 1,000 คน หนึ่งในนั้นคือ เด็กหญิงนัสรีน (นามสมมุติ) วัย 13 ปีที่อาศัยอยู่กับพี่น้องหญิง 4 คนในกรุงคาบูล โดยนับแต่ตาลีบันประกาศไม่ให้เด็กหญิงอายุตั้งแต่ 7 ขวบไปโรงเรียน ลูกสาวทั้งหมดของครอบครัวนี้ต่างก็ไม่ได้ไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอีกเลย

แม้เด็กหญิงเหล่านี้จะพยายามอย่างดีที่สุดในการเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน แต่มันก็ยากเป็นพิเศษสำหรับพี่สาวคนโต 2 คนของนัสรีน ที่ศึกษาอยู่คณะแพทย์ศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัย

“ความฝันทั้งหมดของหนูต้องพังทลายลง…หนูอยากเป็นนักบิน แต่ตอนนี้มันคงจะไม่มีวันได้เกิดขึ้น เพราะตาลีบันคงไม่ยอมให้ผู้หญิงเป็นนักบิน” นัสรีนกล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

หญิงชาวอัฟกันในกรุงคาบูลออกมาประท้วงรัฐบาล “ชายล้วน” ของตาลีบัน บางคนร่ำไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจต่อการที่รัฐบาลบังคับใช้มาตรการควบคุมต่าง ๆ ต่อสตรี

อย่างไรก็ตาม บรรดาเด็กหญิงยังพอจะมีแสงแห่งความหวังจากโรงเรียนออนไลน์ของแอนเจลา

ตอนนี้นัสรีนกำลังเรียนภาษาตุรกีกับครูอาสาคนหนึ่ง เธอบอกว่าสักวันหนึ่งอยากจะย้ายไปอยู่นครอิสตันบูล และหลักสูตรออนไลน์เหล่านี้ก็ช่วยสานฝันของเธออีกครั้ง

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีข่าวดีสำหรับเด็กนักเรียนหญิงที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน ซึ่งได้เริ่มกลับเข้าเรียนตามโรงเรียนมัธยมต่าง ๆ ใน 5 จังหวัด จากทั้งหมด 34 จังหวัดทั่วประเทศ

ขณะที่นักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยเอกชนต่างก็ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าเรียนกันอีกครั้ง แต่ยังไม่มีการผ่อนคลายกฎให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ

ส่วนนัสรีนกับพี่น้องหญิง รวมทั้งนักเรียนและนักศึกษาหญิงในกรุงคาบูล ตลอดจนพื้นที่ส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถาน ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าเรียน

เช่นเดียวกับครูอาจารย์ผู้หญิง อย่างแม่ของนัสรีน ที่ได้รับคำสั่งให้อยู่บ้าน โดยที่ตาลีบันยังไม่มีแผนการว่าจะให้พวกเธอกลับไปทำงานได้อีกเมื่อใด

การประเมินขององค์การสหประชาชาติระบุว่า 70% ของครูในกรุงคาบูลเป็นผู้หญิง ดังนั้น แม้นักเรียนนักศึกษาชายจะได้รับอนุญาตให้เรียนหนังสือได้ตามปกติ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะมีครูไม่เพียงพอที่จะสอนพวกเขา

ปัญหาขาดแคลนบุคลาการทางการศึกษามีมาตั้งแต่ก่อนที่ตาลีบันจะกลับขึ้นสู่อำนาจแล้ว ส่งผลให้คนอัฟกันจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษา โดยข้อมูลในปี 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของชาวอัฟกันอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นคนไม่รู้หนังสือ

ดังนั้นการที่นักเรียนนักศึกษาหญิงจำนวนมากถูกกีดกันจากระบบการศึกษา สถิติดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้น

ภาพถ่ายโดย เดอร์ริค อีวานส์

คำบรรยายวิดีโอ,

งานเสี่ยงชีวิตใต้ท้องรถบรรทุกของเด็กอัฟกัน

-- advertisement --