วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จับมือ บ.หะรินสุตขนส่ง จำกัด ผลิตกำลังคนสายพาณิชย์นาวี
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หลายแห่งที่เปิดสอนหลักสูตรกลุ่มอาชีพพาณิชย์นาวี ซึ่งการสอนจะต้องใช้ครูผู้สอน สื่อการสอน และครุภัณฑ์ต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล รวมถึง “เรือฝึกกลเดินทะเล” ที่จะใช้สำหรับฝึกภาคปฏิบัติทางทะเล แต่ สอศ.ไม่สามารถจัดหาครุภัณฑ์และสื่อการสอนที่ครบถ้วนได้ โดยในการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพพาณิชย์นาวี เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติให้ “วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์” จ.สงขลา ดำเนินการจัดการเรียนการสอนรูปแบบทวิภาคี ร่วมกับบริษัท หะรินสุตขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีท่าเทียบเรือทั้งที่ กรุงเทพมฯ และ จ.สงขลา
ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนสาขานี้ เพราะต้องมีการฝึกปฏิบัติจริง หรือที่เรียกว่าลงภาคสนามกับท้องทะเลจริง ๆ เรียนรู้ระบบเรือขนส่งสินค้าจริง ๆ จึงจำเป็นต้องมีครูฝึกมืออาชีพมถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะแก่นักศึกษา
“นักศึกษาที่เรียนสาขาพาณิชย์นาวีนี้ จะได้รับการสนับสนุนให้มีโอกาสสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรขั้นต้น STCW 2010 จากกรมเจ้าท่า และรับใบประกาศนียบัตรลูกเรือฝ่ายเดินเรือ ก่อนก้าวขึ้นสู่ประกาศนียบัตรนายประจำเรือ นั่นหมายถึงทุกคนจะรู้เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ และวางแผนการทำงานสำหรับอนาคตได้อย่างถูกต้อง มีทิศทาง” ดร.สุเทพ กล่าว
นายเสริมศักดิ์ นิลวิลัย ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา กล่าวว่า ก่อนที่วิทยาลัยจะส่งนักศึกษาออกไปฝึกปฏิบัติ กับสถานประกอบการ จะมีการสอนภาคทฤษฎีและปูพื้นความรู้ ที่จำเป็นเกี่ยวกับเรือเดินทะเล เรือประมง การดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางทะเลเบื้องต้น เพื่อนักศึกษาจะได้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทัศนคติทีดีต่อวิชาชีพ เมื่อไปฝึกปฏิบัติจริง ที่สำคัญผู้ที่เรียนสาขาพาณิชย์นาวี จะมีรายได้ในระหว่างเรียน และเมื่อจบแล้วก็สามารถทำงานได้ทันที โดยมีรายได้มากกว่าคนที่ทำงานบนบกประมาณ 3-4 เท่า และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศพร้อมรับเข้าทำงาน ทั้งนี้ ความร่วมมือแบบทวิภาคีนี้ จะทำให้นักศึกษาที่จบการศึกษาสาขาพาณิชย์นาวีของ สอศ.มีคุณสมบัติพิเศษ เพราะได้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยสอน ช่วยแนะนำ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะฝีมือตรงกับสิ่งที่ภาคการผลิตต้องการ
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ