-- advertisement --

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย:



อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เปิดแนวรุกมุ่งเน้นสร้างกำลังคน ยกระดับและพัฒนาทักษะ Reskill/Upskill/Newskill แห่งอนาคต ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และความเปลี่ยนแปลงทางสถานการณ์เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ

รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีภารกิจหลักที่สําคัญในการพัฒนา กําลังคนของประเทศเล็งเห็นถึงปัญหาและผลกระทบดังกล่าวและเห็นความจําเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเป็นกลไกในการพัฒนาทักษะกําลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อการมีงานทําและเตรียม ความพร้อมรองรับการทํางานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งในรูปแบบ ของการสร้างทักษะให้กับกลุ่มว่างงาน/แรงงานคืนถิ่น/ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เพื่อให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยตนเอง รวมทั้งเพิ่มทักษะชั้นสูงและการทํางานสมัยใหม่ให้กับกําลังคนในชุมชนท้องถิ่น SMEs และภาคอุตสาหกรรม

เครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานในรถฉุกเฉิน

ด้วยเหตุนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจึงได้มีการจัดทำโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ซึ่งได้รับงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค ให้ตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ให้มีทักษะและความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ จำเป็นสำหรับการเตรียมพร้อมและการปรับธุรกิจเมื่อประสบภาวะวิกฤติ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสถาบันการศึกษาและพื้นที่ในภูมิภาคและพัฒนางานวิจัยให้เป็นเทคโนโลยีเข้มข้น สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ ด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประกอบด้วย 4 แผนงาน ได้แก่

1. แผนงานการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneurial Ecosystem Development) 

สร้างแนวคิดของผู้ประกอบการ (Entrepreneur Mindset) ให้กับนักศึกษาหรือผู้สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 10 ปี ให้พร้อมต่อการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอนาคต ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ให้คำปรึกษาด้านการทำแผนธุรกิจและการตลาด

2. แผนงานการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up) 

เพิ่มทักษะศักยภาพ ความสามารถทางเทคโนโลยีแห่งอนาคตในภูมิภาคให้กับบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านดิจิตอล ทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร

3. แผนงานการสร้างผู้จัดการนวัตกรรม Certified Innovation Manager (CIM) 

สร้างระบบและนวัตกรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐและภาคเอกชน

4. แผนงานการยกระดับเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม (Technology to Industry Convergence) 

ยกระดับผลงานวิจัยเพื่อต่อยอดให้พร้อมออกสู่เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างมหาลัย เอกชน และภาคอุตสาหกรรม

งานวิจัยนวัตกรรมแผ่นดามกระดูกส่วนไหปลาร้าที่ยิงผิวด้วยอนุภาคละเอียด

สำหรับโครงการที่โดดเด่นในปีที่ผ่านมา คือ บริษัท CMUgency จำกัด ได้จัดทำ “เครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานในรถฉุกเฉิน” ภายใต้แผนงาน “การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่” โดยได้ผลักดันให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานในรถฉุกเฉินจนสามารถใช้งานจริงได้และหาช่องทางการเข้าสู่ตลาด เพื่อต่อยอดงานวิจัยไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักเพื่อช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อออกสู่เชิงพาณิชย์ให้ได้ไวที่สุด ระหว่างนี้ให้วางแผนการประชาสัมพันธ์และโฆษณา สร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ส่วนแผนงาน “การยกระดับเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม” ที่ได้รับการสนับสนุนงานวิจัย “นวัตกรรมแผ่นดามกระดูกส่วนไหปลาร้าที่ยิงผิวด้วยอนุภาคละเอียด” โดย รศ.ดร. อนรรฆ ขันธะชวนะ สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นนวัตกรรมการออกแบบอุปกรณ์ผ่าตัดที่ยังไม่เคยมีมาก่อนและมีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และนำไปสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ยั่งยืนของไทยและนำไปสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ยั่งยืนของไทย ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้นอย่างน้อย 20% โดยวัดจากระยะเวลาในการรักษา เพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัดของแพทย์ได้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างน้อย 15% วัดจากระยะเวลาในการผ่าตัด โดยได้มีการพัฒนาต้นแบบเพื่อเตรียมพร้อมในการทดลองตลาด รวมถึงอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมทั้งยังได้ประสานงานกับบริษัทคู่ค้า เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อยกระดับทักษะสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ Facebook Fan Page: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call center 1313

-- advertisement --