-- advertisement --

27 เมษายน 2564 | โดย จุลนี เทียนไทย | คอลัมน์ อนาคตคนไทย 4.0

13

“คนรุ่นใหม่” มักถูกมองว่ามีความเป็นชาวดิจิทัล (Digital Natives) สูง ขณะที่บางส่วนเรียก iGen เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เกิด เติบโต และคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี แล้วชาวดิจิทัลไทยมีความเป็นคนรุ่นใหม่แค่ไหน?

ใครคือคนคนรุ่นใหม่? คนรุ่นใหม่เป็นยังไง?… นี่อาจเป็นคำถามสำคัญสำหรับประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงแห่งการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เป้าหมายสำคัญคือ การมุ่งสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งมีนโยบายสำคัญในปัจจุบันคือ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยมุ่งพัฒนา “คน” ทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพ เป็นคนไทย 4.0 ความคาดหวังของสังคมต่อการพัฒนาประเทศจึงมุ่งสู่กลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ว่าพวกเขาจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศให้ไปในทิศทางใด

ความเป็นคนรุ่นใหม่ของชาวดิจิทัลไทยจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยตรง ทั้งด้านการเรียนรู้ ทักษะการใช้งาน และผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยี ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของทักษะ การเรียนรู้ การใช้งานเทคโนโลยี รวมถึงความเกี่ยวโยงความเป็นคนรุ่นใหม่กับทักษะการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี (Media Literacy) ที่เป็นตัวชี้วัดลักษณะรุ่นได้ชัดเจน ดังประโยคที่ว่า “คนรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี” หรือ “คนรุ่นใหม่ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี”

สิ่งเหล่านี้ได้สร้างภาพประทับความเป็นคนรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการมีทักษะและการเรียนรู้เทคโนโลยีที่มากกว่าเดิม ทั้งในแง่ความเก่ง ความคล่องตัวในการใช้งาน และทันสมัยต่อเทคโนโลยีใหม่ ความเป็นคนรุ่นใหม่จึงถูกมองว่ามีความเป็น “ชาวดิจิทัล (Digital Natives)” สูง บางส่วนเรียกว่าเป็น iGen เพราะเกิด เติบโต และคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมากกว่าเจเนอเรชั่นที่เกิดมาก่อนนี้ นำมาสู่กระบวนการสร้างความคาดหวังต่อเรื่องวิถีเทคโนโลยี โดยคนแต่ละรุ่นจะคาดหวังว่าคนรุ่นอื่นจะต้องชำนาญในวิถีเทคโนโลยี และความคาดหวังจะเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นก่อนหรือถัดๆ ไป “คนรุ่นใหม่ๆ ต้องเก่งและรู้ทันเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า” 

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังเรื่องความรู้ ทักษะ ความเท่าทันในวิถีเทคโนโลยีนี้ ยังมีต่อคนรุ่นเดียวกัน และคนรุ่นก่อนหน้าด้วย เพราะอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีต่อวิถีชีวิตประจำวัน ทำให้ทุกคนเกิดความคาดหวังว่า ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใดก็ต้องปรับตัว เรียนรู้และเท่าทันการใช้เทคโนโลยีให้ได้

161943737597

อัตลักษณ์ของชาวดิจิทัลสากล จากการนิยาม “ความเป็นคนรุ่นใหม่” ตามมุมมองของชาวดิจิทัลไทยข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทุกคนล้วนมีความเป็นคนรุ่นใหม่ (และรุ่นเก่า) ได้ในหลากหลายมิติ ทั้งในแง่อายุและวัย รูปแบบความคิด วิถีการดำเนินชีวิต รวมถึงวิถีเทคโนโลยี ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลจะนิยามตนเองอย่างไรเพื่อสร้างความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะบุคคล (Individual Identity)

อย่างไรก็ตาม เพื่อค้นหาประเด็นสำคัญที่ว่า ชาวดิจิทัลไทยมีความเป็นคนรุ่นใหม่มากน้อยเพียงใด? จึงต้องอาศัยการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ร่วม (Collective Identity) ในความเป็นคนรุ่นใหม่ของชาวดิจิทัล จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 960 คน โดยใช้กรอบการวิเคราะห์อัตลักษณ์ชาวดิจิทัลไทยตามคุณลักษณะชาวดิจิทัลสากลที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมสามารถสรุปได้ 25 ลักษณะสำคัญ ซึ่งจัดเป็น 4 กลุ่ม

ทั้งนี้ ภาพรวมชาวดิจิทัลไทยมีลักษณะทั้ง 25 ประการข้างต้นเช่นเดียวกับชาวดิจิทัลสากล เพียงแต่ในการศึกษาครั้งนี้ พบว่ามีบางคุณลักษณะที่แสดงออกอย่างชัดเจน อาทิ การออนไลน์ตลอดเวลา การสร้างโลกส่วนตัวในพื้นที่ออนไลน์ และการมีความตื่นตัวต่อสังคม

ส่วนบางลักษณะรับรู้ได้ว่ามีอยู่แต่ยังไม่เด่นชัดอย่างเช่น การมีความมั่นใจในตนเองที่มากขึ้น แต่ก็ยังกังวลต่อการแสดงออกของตนเอง รวมทั้งการเกิดลักษณะเฉพาะที่เป็นจุดเด่นของชาวดิจิทัลไทย เช่น การเปิดใจรับและปรับตัวได้ดี มีอารมณ์ขัน มีความตลก ฯลฯ 

ทั้งหมดนี้ท่านสามารถร่วมค้นหาคำตอบเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” โดยทีมวิจัยจากคณาจารย์สถาบันต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์แผนงานคนไทย 4.0 (http://khonthai4-0.net/) และยังมีประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับชาวดิจิทัลไทยให้ได้รับรู้และเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น

-- advertisement --