-- advertisement --

เปิดงานวิจัย บางกอกคลินิกนิติมธ. จาก  หม่อง ทองดี สู่สิทธิทายาทไร้สัญชาติ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดเวทีเสวนา “การจัดการสิทธิอันจำเป็นของทายาทรุ่นสองจากเมียนมา ผ่านกรณีศึกษา หม่อง ทองดี” เพื่อทบทวนองค์ความรู้ ในการจัดการสิทธิอันจำเป็นของผู้ไร้สัญชาติ ซึ่งมีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

อันจะนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน ซึ่งเกิดจากบุพการีต่างด้าวที่อพยพจากรัฐต่างประเทศ ตลอดจน สร้างความตระหนักรู้ทางกฎหมายในการจัดการสิทธิอันจำเป็นของเหล่าเจ้าของปัญหาและภาคที่เกี่ยวข้อง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เราย่อมตระหนักได้ว่า ในประเทศไทย บุคคลที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็น “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ” หรือ“คนเสมือนไร้รัฐไร้สัญชาติ” จำนวนมากที่สุดมาจากสหภาพเมียนมา เพราะผู้อพยพจากเมียนมาในราว พ.ศ.2530 – 2540 มักเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากความไม่สงบในประเทศไทย

ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา ทำให้การจดทะเบียนคนเกิดในทะเบียนราษฎรเมียนมาไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อบุตรหลานมาเกิดในประเทศไทย ทายาทรุ่นสองก็มักตกเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิงหากเกิดนอกโรงพยาบาล ในขณะกลุ่มที่เกิดในโรงพยาบาล แม้จะเป็นผู้มีรัฐ แต่ยังคงมีปัญหาไร้สัญชาติ

“หม่อง ทองดี” เป็นตัวอย่างหนึ่งของบุตรหรือทายาทรุ่นที่สอง ที่เกิดในไทยจากผู้อพยพจากเมียนมา ในช่วงเวลาที่เกิดความไม่สงบในประเทศ แต่เป็นการเกิดนอกโรงพยาบาล จึงเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติโดยสิ้นเชิง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่ออ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ได้ทำหนังสือรับรองสถานที่เกิดให้ในวันที่ 15ตุลาคม 2551 ตามคำขอของบิดา จึงเป็นการจดทะเบียนคนเกิดย้อนหลัง หม่องจึงมีสถานะเป็นคนในทะเบียนราษฎรซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ยังเป็นคนไร้สัญชาติ เพราะไม่อาจสืบสิทธิในสัญชาติตามบิดาและมารดาที่เป็นคนไร้รัฐ

และเมื่อบุพการีไม่มีเอกสารรับรองสถานะ และเป็นคนเข้าเมืองไทยแบบผิดกฎหมาย การกำหนดสิทธิในสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตก็จะทำไม่ได้ ขณะที่การใช้สิทธิในสัญชาติไทยก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่บุตรที่เกิดในประเทศไทยของผู้อพยพจากเมียนมา “แบบมีเงื่อนไข” กล่าวคือ หากไม่มีมติครม.กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้สิทธิในสัญชาติไทย คนดังกล่าวก็จะไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยได้เลย จะตกเป็นคนไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อปลายปี 2552 “หม่อง” ถูกปฏิเสธสิทธิเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับ ตลอดจนมีปัญหาทางกฎหมายอีกหลายประการ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีโดยการช่วยเหลือของ “บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์” ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่น้องหม่องมาตลอดกว่า10ปี

จนนำไปสู่การทำงานวิจัยหัวข้อ “ต้นแบบการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย” แก่บุตรที่เกิดในประเทศไทยของคนต่างด้าวที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย หรือ “ทายาทรุ่นสองของผู้อพยพ (Second Generation of Migrant People)”

ด้วยองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย เป็นงานสำคัญหนึ่งในสิ่งที่นักวิชาการในประชาคมวิชาการธรรมศาสตร์ทำมานาน จึงมีความรู้และทักษะในการจัดการสิทธิอันจำเป็นของมนุษย์ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความไร้รัฐไร้สัญชาติ

“บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์” จึงพร้อมและมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้ที่ยังคงประสบปัญหา “ไร้สัญชาติหรือเสมือนไร้สัญชาติ” เพียงแต่ยังคงติดปัญหาใหญ่คือไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ใดบ้างที่ประสบปัญหาดังกล่าวอยู่ จึงไม่สามารถติดตามตัวและดำเนินการเพื่อคลี่คลายปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม “บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์” ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนทั้งองค์กรรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาด้านสัญชาติและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน สื่อมวลชนจากหลายสำนัก ในการจัดงานเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 4เรื่อง “การจัดการสิทธิอันจำเป็นของทายาทรุ่นสองจากเมียนมาผ่านกรณีศึกษา หม่อง ทองดี”

เปรียบเสมือนพื้นที่การเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในอีกหลากหลายมิติที่ยังคงเข้าใจผิด ตลอดจนเพื่อทบทวนองค์ความรู้ ในการจัดการสิทธิอันจำเป็นของผู้ไร้สัญชาติ ซึ่งมีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย อันจะนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน ซึ่งเกิดจากบุพการีต่างด้าวที่อพยพจากรัฐต่างประเทศ

งานเสวนาดังกล่าวยังคงเปรียบเสมือนกระบอกเสียง เพื่อส่งต่อไปให้ถึงทายาทรุ่นสองของผู้อพยพที่ประสบปัญหาไร้สัญชาติในไทย ให้เข้ามาร่วม “รักษา” ปัญหาและอุปสรรคด้านสิทธิและข้อกฎหมายที่ต้องพบเจอ ตลอดจนเป็นพื้นที่รับฟังปัญหาต่าง ๆ ของคนกลุ่มนี้ ที่อาจเป็นปัญหาใหม่ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน

-- advertisement --