-- advertisement --

เปิดรับฟังความเห็นพ.ร.บ.กองทุนฯผ่านสื่อโซเชียล

คาด เม.ย.61 ประกาศใช้ตามรัฐธรรมนูญกำหนด

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ โฆษกคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้ออกกฎหมายกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งเสริมพัฒนาครูอาจารย์ ภายใน 1 ปี นั้น ขณะนี้คณะกรรมการอิสระฯได้ยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ขึ้นมาโดยมีหลักคิดในการใช้เงินกองทุน 3 เรื่อง คือ

เรื่องแรกช่วยเหลือผู้ขาดแคลน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุ 0-3 ขวบ ที่ครอบครัวยากจนรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน มีประมาณ 8 แสนคน กลุ่มอายุ 3-6 ปี ที่มีประมาณ 1.1 ล้านคนไม่ได้เรียนอนุบาล กลุ่มอายุ 6-15 ปี ที่กฎหมายบังคับให้เรียนการศึกษาภาคบังคับ ป.1-ม.3 แต่พบว่า มีเด็กพิการประมาณ 3 แสนคน เด็กออกกลางคัน 3 แสนคน กลุ่มเด็กครอบครัวยากจนต้องเรียนหนังสือด้วยความทรมานประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งกองทุนฯต้องเข้าไปช่วย และกลุ่มผู้ที่จบ ม.3 อายุเกิน 15 ปี ไม่ได้เรียนต่อเพราะกฎหมายไม่บังคับ ดังนั้นกองทุนจึงตั้งใจออกแบบให้เด็กที่ครอบครัวยากจนอยู่ชั้นล่างสุดในสังคมได้มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย เรียนอาชีวศึกษา และอบรมระยะสั้นเพิ่มขึ้น

ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่สอง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ไม่เกี่ยวกับความยากจนแต่เกิดจากความห่างไกลของถิ่นที่อยู่หรือภูมิสังคม โดยจะใช้กองทุนฯเข้าไปจัดระบบสื่อการสอนทางไกล ติวเตอร์ เพื่อให้คนที่มีฐานะปานกลางหรือรวย ไม่ต้องทิ้งถิ่นมาเรียนในเมืองใหญ่ๆ และเรื่องที่สาม การพัฒนาครู มีหลักคิดว่าจะเพิ่มเงินอบรมพัฒนา หรือเงินท๊อปอัพ นอกเหนือจากที่รัฐบาลจัดให้ครูทุกคนใช้อบรมปีละ 10,000 บาท โดยเพิ่มให้แก่ครูที่อยู่โรงเรียนชายขอบ มีความยากลำบาก โรงเรียนที่มีเด็กพิการ หรือเด็กยากจนจำนวนมาก เป็นต้น

“คณะกรรมการอิสระฯจะนำหลักคิดของร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯขึ้นเฟสบุ๊ก และทวิสเตอร์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และนำมาปรับปรุง ทั้งนี้ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จะต้องถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนวันที่ 6 เมษายน 2561 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และถือเป็นกฎหมายชิ้นแรกของคณะกรรมการอิสระ” ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าว

-- advertisement --