-- advertisement --

เปิดให้บริการแล้ว รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ เปิดให้บริการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ระยะแรก ก่อนให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2564 จุดเปลี่ยนการพัฒนาระบบสาธารณสุข ครั้งสำคัญของชาวนครศรีธรรมราช และภาคใต้ตอนบน

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ม.วลัยลักษณ์ จัดพิธีเปิดโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ระยะแรกอย่างเป็นทางการ โดย นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผวจ.นครศรีธรรมราช ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภา ม.วลัยลักษณ์ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ นักศึกษา แขกผู้เกียรติ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

นายจำเริญ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ระยะแรก ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จร่วมกันชาวนครศรีธรรมราช อันจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการพัฒนาที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของชาวนครศรีธรรมราช และภาคใต้ตอนบน และจะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับสุขภาวะของประชาชนชาวนครศรีธรรมราช และชาวภาคใต้ตอนบน และจะเป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการอย่างมากมาย

โดย จ.นครศรีธรรมราช พร้อมให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ล่าสุดได้เข้าพบกับ รมว.คมนาคม เพื่อขอรับงบประมาณในการสนับสนุนโครงการก่อสร้างทางยกระดับขยายถนนทางเข้าหลัก ของมหาวิทยาลัย ระบบจราจรความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลแห่งนี้ ซึ่ง รมว.คมนาคม ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอันต้นๆ ด้วย

ด้าน ศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ เปิดบริการอย่างเป็นทางการในระยะแรก โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากรทางด้านการแพทย์ และบุคลากรในด้านอื่นๆ รวมถึงระบบต่างๆ ให้ลงตัว โดยเฉพาะระบบทางด้านไอที ที่ต้องมีความทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ก่อนที่จะเปิดศูนย์การแพทย์เต็มรูปแบบในช่วงกลางปี 2564

สำหรับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ มีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาโรคที่ซับซ้อน โดยแพทย์จะทำหน้าที่ทั้งด้านการสอน การวิจัย และให้บริการรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย โดยปัจจุบันเปิดให้บริการผู้ป่วยนอก ตรวจรักษาโรคทั่วไป และคลินิกพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ คลินิกตา คลินิกคอนแทคเลนส์ คลินิกถันยเมตต์ และคลินิกโรคภูมิแพ้และหอบหืด ตรวจรักษาโดยอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของสำนักวิชาแพทยศาสตร์ จากนั้นในต้นปี 2561 จะทยอยเปิดคลินิกเฉพาะทางเพิ่มเติม เช่น คลินิกสูตินารี คลินิกโรคเด็ก คลีนิกหูคอจมูก เป็นต้น และในเดือน มี.ค.2561 จะเปิดให้บริการรับผู้ป่วยใน จำนวน 16 เตียง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ฯ พร้อมระบบสาธารณูปการ มูลค่า 2,128 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กำลังดำเนินการก่อสร้างบนพื้นที่ 405 ไร่ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 30% พร้อมได้เร่งรัดให้บริษัทผู้รับเหมาดำเนินการให้เป็นไปตามโรดแมพที่ได้วางไว้ ขณะเดียวกันได้มีการออกแบบตกแต่งภายในขนาด 550 เตียงไว้เสร็จแล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะมีอาจารย์แพทย์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 170 คน

ในส่วนการก่อสร้างอาคารอำนวยการ (อาคาร A) และกลุ่มอาคารโรงพยาบาล (อาคาร B,C,D) ในภาพรวม ประมาณต้นปี 2561 โครงสร้างหลักจะสามารถสร้างได้แล้วเสร็จทั้งหมด และจะดำเนินการในขั้นตอนงานสถาปัตยกรรมและงานระบบได้ต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ เปิดบริการเต็มรูปแบบแล้วจะเป็นโรงพยาบาลหลักของภาคใต้ตอนบน คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการกว่า 1 ล้านคนต่อปี

-- advertisement --